ธอส. เผยช่วง 4 เดือนแรกปี 67 ปล่อยสินเชื่อใหม่ช่วยคนไทยให้มีบ้านในวงเงิน 47,784 ล้านบาท แต่หนี้เสียเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.63% ของยอดสินเชื่อรวม จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ราว 3.87% แต่ยังตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย ไตรมาส 1/67 การขยับจาก ’หนี้เสี่ยงจะเสีย’ ไปสู่การเป็น ‘หนี้เสีย’ พบในสถาบันการเงินของรัฐมากกว่า
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่มีพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน ส่งผลให้ผลการดำเดินงานใน 4 เดือนแรก ปี 2567 มีการปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 37,282 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 47,784 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางถึง 24,476 ราย สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ ช่วง 4 เดือนแรกมีการปล่อยสินเชื่อใหม่คิดเป็น 20% ของเป้าหมายในปี 2567 ที่ตั้งไว้ 242,544 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเชื่อว่าได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ และเชื่อว่าปีนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังมีสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม (เช่น อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกเท่ากับ 2.98%)
อย่างไรก็ตาม พบว่า 4 เดือนแรก ปี 2567 ธอส. มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 5.63% ของยอดสินเชื่อรวม (เพิ่มขึ้นจาก สิ้นปี 2566 ที่อยู่ระดับ 3.87%) โดยมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 153,182 ล้านบาท (สัดส่วน 158.55%)
ขณะเดียวกัน ธอส. ยังมีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ปี 2567 เพื่อช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ให้ยังคงรักษาบ้านของตนเองไว้ได้ต่อไป เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ปรับลดค่างวดในแต่ละช่วงเวลา ฯลฯ โดยปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้ว จำนวน 25,798 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 29,966 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธอส. มีสินเชื่อคงค้างรวม 1,716,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบ ณ สิ้นปี 2566 สินทรัพย์รวม 1,808,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.26% เงินฝากรวม 1,557,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.08%
อย่างไรก็ตาม การที่ ธอส. มี NPL เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลที่ สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 นี้ ภาพรวมลูกหนี้สินเชื่อบ้านที่ขยับจาก Stage 2 (กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง) ไปเป็น NPL ส่วนใหญ่จะพบในสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) ที่พยายามเข้าช่วยเหลือลูกหนี้ให้มากที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะมีการติดตามให้ลูกหนี้เข้าสู่มาตรการได้มากแค่ไหน
ทั้งนี้ มองว่าสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันจะสามารถติดตามกับลูกหนี้ได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกัน SFIs อย่างธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ที่มีสาขาจำนวนมาก คาดว่าจะช่วยให้ลูกหนี้เข้าถึงและช่วยให้ลูกหนี้แก้ปัญหาได้เร็วที่สุด
Image by Wiroj Sidhisoradej on Freepik
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธปท. รับกังวลหนี้เสียรายย่อยเพิ่ม - SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จับตาหนี้ครัวเรือน Q1/67 ต่ำ 91% เหตุ GDP สูงกว่าคาด
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine