ธปท. รับกังวลหนี้เสียรายย่อยเพิ่ม - SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จับตาหนี้ครัวเรือน Q1/67 ต่ำ 91% เหตุ GDP สูงกว่าคาด - Forbes Thailand

ธปท. รับกังวลหนี้เสียรายย่อยเพิ่ม - SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จับตาหนี้ครัวเรือน Q1/67 ต่ำ 91% เหตุ GDP สูงกว่าคาด

แบงก์ชาติกังวลหนี้เสียรายย่อยไตรมาส 1 ปี 67 ยังเพิ่มขึ้น ย้ำการปรับ ‘จ่ายขั้นต่ำ’ บัตรเครดิตกลับสู่ 8% ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่เพราะรายได้ยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง - ผู้มีรายได้น้อย ส่วนภาคธุรกิจห่วง SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ขณะที่ด้านสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาสแรกปีนี้อาจต่ำกว่า 91% ผลจาก GDP ไทยล่าสุดออกมาที่สูงกว่าคาด


    สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า หนี้เสีย (NPL หรือ Stage 3) อยู่ที่ 5.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,800 ล้านบาท จากสิ้นปี 2566 โดยมีอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.74% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 2.66%

    ทั้งนี้ สาเหตุที่หนี้เสียในไตรมาส 1/67 เพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.13% ส่วนหนึ่งเพราะฐานสินเชื่อที่ลดลง 22,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อบ้าน พบในกลุ่มที่เคยได้รับมาตรการช่วยเหลือ แต่เมื่อมีการปรับค่างวดสู่ระดับปกติแต่ยังจ่ายไม่ไหว มักอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 30,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มเปราะบาง


    สุวรรณี ยังกล่าวต่อว่า ธปท. เป็นห่วงคุณภาพหนี้รายย่อย โดยเฉพาะในสินเชื่ออุปโภคบริโภค เพราะมองว่ารายได้ของคนยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ ทั้งกลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระที่รายได้ไม่แน่นอน ขณะเดียวกัน ลูกหนี้ที่การขยับจาก Stage 2* กลายเป็น NPL พบว่ายังเพิ่มขึ้นเช่นกัน
*สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต

    ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า สินเชื่อ Stage 2 อยู่ที่ 1.122 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 34,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2566 โดยหลักมาจากสินเชื่อธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และ SME โดยเพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจพาณิชย์ อุตสาหกรรม ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้ตามสัญญาแต่ถูกจัดชั้นเชิงคุณภาพ ขณะที่ฝั่งสินเชื่อรายย่อย Stage 2 เพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) สินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากฐานสินเชื่อที่ลดลง

    อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจากเครดิตบูโร พบว่า อัตราการเปลี่ยนจาก Stage 2 ไปสู่ Stage 3 ยังลดลงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้วสินเชื่อที่ขยับเป็นหนี้เสียเร็วกว่า มักเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ในส่วนของสินเชื่อบ้าน หากดูส่วนของธนาคารพาณิชย์ยังไม่พบการขยับเป็นหนี้เสียมากนัก แต่ส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) พบว่ามีการไหลไปเป็นหนี้เสียมากกว่า อาจเพราะมีการให้สินเชื่อตามมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางและผู้ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ

    อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ฯ สง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากคำถามที่ว่าการปรับขึ้นอัตราการจ่ายชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำมาที่ระดับ 8% (จากปีก่อนที่อยู่ 5%) เป็นการทยอยปรับกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า คนส่วนใหญ่ยังสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ และไม่ใด้มีส่วนมากนักในการก่อให้เกิดหนี้เสียในบัตรเครดิต แต่สาเหตุหลักที่กลายเป็นหนี้เสียมาจาก ปัจจัยด้านรายได้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว

    นอกจากนี้ ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 67 พบว่า สินเชื่อรวมกลับมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.7% แต่ยังมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อ SME ยังติดลบที่ 5.1% จึงสร้างความกังวลว่า SME มีสภาพคล่องหรือเข้าถึงสินเชื่อหรือไม่ จึงจะมีการพูดคุยกับกระทรวงการคลังเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป

    อย่างไรก็ตาม ทางธปท. คาดว่า อัตราหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในไตรมาส 1 ปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวลดต่ำกว่า 91% (จากล่าสุด ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 ที่อยู่ 91.3%) สาเหตุหลักเพราะตัวเลข GDP ไตรมาส 1/67 ที่ทางสภาพัฒน์เปิดเผยออกมาล่าสุดเมื่อวานนี้อยู่ที่ 1.5% ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ในทางตัวเลขจึงปรับลดลง (แต่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังต้องติดตามต่อเนื่อง)





เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คนไทยมีหนี้มากแค่ไหน? ไตรมาส 1/67 หนี้เสียกลุ่มไหนเพิ่มขึ้นสูงสุด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine