สัปดาห์นี้ต้องติดตามการประชุม FOMC ในวันที่ 19-20 มีนาคมนี้ เสียงส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% อย่างต่อเนื่อง แต่สัญญาณการลดดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในปีนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง ยังมีความเห็นที่แตกต่าง หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับสูง ทิศทางตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกเตรียมแผนรับมือ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ หรือ FOMC วันที่ 19-20 มีนาคมนี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25 - 5.50% อย่างต่อเนื่อง และยังคงส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้
เห็นได้จากการคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Dot Plot) ที่มีแนวโน้มไม่แตกต่างจาก Dot Plot ในการประชุมรอบเดือนธันวาคม 2566 ท่ามกลางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่แม้จะชะลอลงอย่างต่อเนื่องแต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 3.0% เกินเป้าหมาย 2.0% ของเฟด
ขณะที่ ตลาดแรงงานแม้จะชะลอตัวลงและกลับเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น แต่ยังคงสะท้อนภาพที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดน่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน 2567 และจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้ สอดคล้องกับที่ตลาดส่วนใหญ่คาด (จากข้อมูลของ CME FedWatch Tool ณ วันที่ 15 มี.ค. 2567)
โดยเฟดคงต้องการเห็นเงินเฟ้อชะลอลงมาใกล้เป้าหมาย 2.0% มากขึ้นกว่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายของเฟดอย่างยั่งยืนและไม่กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง
เฟดส่งสัญญาณเสียงแตก
ขณะเดียวกันเฟดคงไม่ต้องการดำเนินนโยบายช้าเกินไปท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากนโยบายการเงินมีความล่าช้า (policy lag) กว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของสมาชิกเฟดล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณแตกต่างกันออกไป โดยจากถ้อยแถลงของ Jerome Powell ประธานเฟด วันที่ 7 มี.ค. 2567 ได้ส่งสัญญาณว่าการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยของเฟดนั้นใกล้เข้ามาแล้ว
ขณะที่ John Williams ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะปรับเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อเป้าหมาย แต่ยังคงไม่ถึงจุดในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จังหวะและจำนวนครั้งในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายยังขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ โดยหากเงินเฟ้อปรับลดเร็วกว่าคาดและตลาดแรงงานชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า มีโอกาสที่เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้
ในทางตรงกันข้าม หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงไม่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เฟดอาจเลื่อนการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยออกไปจากการประชุมเดือนมิถุนายน 2567 นี้
ตลาดหุ้นปิดลบกังวลเฟด
หลังสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ตลาดหุ้นปิดลบ โดยดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (15 มีนาคม) นำโดยหุ้นขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดในปีนี้
ขณะที่นักลงทุนรอดูแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้ โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,714.77 จุด ลดลง 190.89 จุด หรือ -0.49%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,117.09 จุด ลดลง 33.39 จุด หรือ -0.65% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,973.17 จุด ลดลง 155.36 จุด หรือ -0.96%
เช่นเดียวกับ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดลบในวันที่ 15 มีนาคม โดยถูกกดดันจากการเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีตามการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเดียวกันที่ตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ตาม หุ้นบริษัทน้ำมันช่วยพยุงตลาดไว้ โดยได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน
ด้านดัชนีคอมโพสิต ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดลบเกือบ 2% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อซึ่งสูงเกินคาด ส่วนเงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลงช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคจากความกังวลว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน ในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567 ดัชนีหุ้นไทย ปิดที่ระดับ 1,386.04 จุด ลดลงเล็กน้อย 0.03% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 42,227.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.16% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.10% มาปิดที่ระดับ 418.76 จุด
สำหรับสัปดาห์นี้ (18-22 มีนาคม) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,365 จุดขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุดตามลำดับ
ตลาดเงินผันผวน
ขณะที่ความกังวลนโยบายเฟด ทำให้ตลาดเงินมีความผันผวนเช่นเดียวกัน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคประกอบกับมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯแข็งค่าขึ้นตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 3.2% YoY สูงกว่าตลาดคาดที่ 3.1% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 1.6% YoY สูงกว่าตลาดคาดที่ 1.1% YoY
ด้านจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ลดลง 1,000 ราย มาที่ 209,000 ราย ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 218,000 ราย โดย ตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ลดทอนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุม FOMC 19 – 20 มีนาคมนี้ เงินบาทปิดตลาดวันศุกร์ที่ระดับ 35.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ สัปดาห์นี้ ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบค่าเงินบาทที่ระดับ 35.30 – 36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงของเฟดส่งผลต่อตลาดการเงินทั่วโลก ล่าสุดเงินริงกิตมาเลเซียแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปีที่ 4.7965 เหรียญต่อดอลลาร์ฯ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางของมาเลเซียเริ่มตื่นตัว และเตรียมพร้อมเข้าแทรกแซงหลังค่าเงินริงกิตแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในเอเชีย ในปี 2540
นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ จะยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีความไม่แน่นอน ทำให้แนวโน้มค่าเงินในประเทศเกิดใหม่อ่อนลง และไม่สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่ราคาทองมีสัญญาณกลับตัวเกิดขึ้น หลังตัวเลขเงินเฟ้อโดยภาพรวมไม่ได้ปรับตัวลดลงอย่างที่ตลาดและเฟดคาดหวังไว้ InterGold คาดว่าหากราคาทองต่ำกว่า 2,150 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ ราคาทองจะมีโอกาสปรับตัวเป็นขาลงระยะสั้นลงสู่ 2,140 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์
อย่างไรก็ตามเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าพยุงราคาทองคำแท่ง ทำให้ราคาทองคำแท่งลงค่อนข้างยาก ช่วงเดือนมีนาคมและพฤษภาคมถือเป็นช่วงเก็บของรอบสุดท้าย หากราคาทองเริ่มย่อถือเป็นโอกาสเก็บสะสมได้ โดยเป้าหมายราคาทองช่วงครึ่งปีหลังอยู่ที่ 38,000 บาท
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Xendit สตาร์ทอัพยูนิคอร์นอินโดฯ บุกไทย พร้อมจับมือพันธมิตรชิงไลเซ่นส์ Virtual Bank
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine