Xendit สตาร์ทอัพยูนิคอร์นอินโดฯ บุกไทย พร้อมจับมือพันธมิตรชิงไลเซ่นส์ Virtual Bank - Forbes Thailand

Xendit สตาร์ทอัพยูนิคอร์นอินโดฯ บุกไทย พร้อมจับมือพันธมิตรชิงไลเซ่นส์ Virtual Bank

Xendit สตาร์ทอัพยูนิคอร์น สัญชาติอินโดฯ รุกธุรกิจบริการชำระเงินในไทย ดึง “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรมว.คลัง นั่งแท่นประธาน พร้อมจับมือพันธมิตรขยายธุรกิจครบวงจร ลั่นร่วมวงชิงไลเซ่นส์ Virtual Bank รับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตระดับ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2030 ตั้งเป้ายอดธุรกรรม 2,000 ล้านเหรียญ ขึ้นเบอร์ 1 ระบบเพย์เมนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)


    Xendit สตาร์ทอัพยูนิคอร์น ผู้ให้บริการระบบชำระเงินครบวงจร แบบ B2B สัญชาติอินโดนีเซีย ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท บริษัท โกลบอลไพร์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ GB Prime Pay และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เซ็นดิท เทค จำกัด (Xendit Tech Co., Ltd.) หรือ Xendit Thailand มี กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ (Chairman) และ วิศิษฎ์ ยินดีสิริวงศ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) พร้อมรุกบริการระบบชำระเงินแบบครบวงจร รองรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย


วิศิษฎ์ ยินดีสิริวงศ์


เศรษฐกิจดิจิทัลพุ่งแสนล้านเหรียญ

    เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) กำลังเป็นที่จับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก หลังมีเเนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในปี 2025 จะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 51% และในปี 2030 จะเติบโตได้ถึงระดับ 100,000 - 165,000 ล้านเหรียญ ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ Xendit สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ด้านการชำระเงินระหว่างธุรกิจแบบ B2B เจ้าเเรกในอินโดนีเซีย เดินหน้ากลยุทธ์ขยายการเติบโตสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) อย่างต่อเนื่อง

    กรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการชำระเงินในประเทศไทยมีความก้าวหน้าพอสมควร จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายด้าน อาทิ ระบบพร้อมเพย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย และเอกชน แต่วันนี้ภายใต้โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตช้ามากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่าง Xendit เข้ามาช่วยพัฒนาระบบการชำระเงินให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

    “ที่ผ่านมา ความร่วมมือ (Collaboration) เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้เราเติบโต แต่เรายังขาดเครื่องมืออย่างฟินเทค ซึ่งวันนี้เป็นผู้เล่นใหม่ในตลาด เป็นวิวัฒนาการแห่งความร่วมมือครั้งใหญ่ของระบบการชำระเงินในประเทศไทย Xendit มีเจตนารมณ์มุ่งยกระดับการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี สร้างมาตรฐานระบบการชำระเงินให้ผู้ประกอบการ และเราต้องการเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ”


กรณ์ จาติกวณิช


    นอกจากนี้ Chairman ของ Xendit ยังประกาศความพร้อมที่จะเข้าร่วมกับพันธมิตรเพื่อยื่นขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะเปิดรับสมัครภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งขณะนี้มีหลายองค์กรติดต่อเข้ามาพูดคุย และตัดสินใจ

    “Virtual Bank ควรมีมากกว่า 3 สาขา ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นผู้ให้บริการ จะเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน เป็นการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์ของผู้ใช้บริการ แต่ต้องไม่ให้กระทบเสถียรภาพทางการเงินของไทย” กรณ์กล่าว


ก้าวสู่ผู้ให้บริการเพย์เมนต์อันดับ 1 อาเซียน

    โมเสส โล (Moses Lo) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Xendit กล่าวว่า Xendit เป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินที่มีรากฐานแข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ให้บริการโซลูชันทางการเงินแก่ธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ SMEs ขนาดเล็กไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ช่วยให้ขั้นตอนในการชำระเงินสะดวกสบายยิ่งขึ้น

    โดยเป็นผู้จัดหาระบบพื้นฐานทางการชำระเงินที่ปลอดภัยและง่ายต่อการทำงานร่วมกันกับลูกค้า พร้อมทั้งมีทีมงานมืออาชีพที่คอยดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้รับบริการที่ดีที่สุด ภายหลังจากการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 Xendit ได้รับความเชื่อมั่นจากธุรกิจต่าง ๆ ในอินโดนีเซียและรัฐบาล โดยได้เป็นผู้ดูแลโซลูชันทางการเงินให้แก่บริษัทชั้นนำอย่าง Traveloka, Garuda Indonesia และ Tech In Asia เป็นต้น

    “ปี 2024 Xendit มีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินในระดับภูมิภาค ภายใต้พันธกิจ Making Payments Simple ใน 5 ตลาดสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เพียงเชื่อมต่อกับระบบที่ทันสมัยของ Xendit จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจในประเทศไทย ขยายความสามารถในการทำธุรกรรมดิจิทัลได้ในระบบภูมิภาค” โมเสส โลกล่าว


โมเสส โล


    เทสซ่า วิจายะ (Tessa Wijaya) ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า ในปี 2023 Xendit ให้บริการแก่ลูกค้ามากกว่า 6,000 รายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการทำธุรกรรมมากกว่า 500 ล้านครั้งต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 45,000 ล้านเหรียญ ผ่านการให้บริการรับชำระเงิน การโอนเงินข้ามประเทศ การดำเนินธุรกิจและการจัดการร้านค้า พร้อมด้วยบริการด้านการเงินดิจิทัลอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีลูกค้าครอบคลุมทั้ง SME รายย่อย สตาร์ทอัพด้านอีคอมเมิร์ซ และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดย Xendit มีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย พร้อมการบริการที่เต็มไปด้วยความคุ้มค่าและสามารถเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม

    “Xendit ก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของอินโดนีเซียในปี 2021 ด้วยความมีเอกลักษณ์ในการให้บริการแบบ Hyper Local นำเทคโนโลยีจากซิลิคอนวัลเล่ย์ สร้างสรรค์บริการระดับโลกสู่ประเทศไทย และเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการไทยสู่โลก ด้วยการผสมผสานบริการระบบการชำระเงินแบบครบวงจรทั้งบัตรเครดิต เดบิต กระเป๋าเงินดิจิทัล (Wallet) และธนาคาร รวมถึงการปล่อยสินเชื่อ การโอนเงินต่างๆ เรามาเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโต” เทสซ่ากล่าว

    ทั้งนี้ เทสซ่ายังได้เล่าถึงการร่วมมือกับแกร็บ ฟิลิปปินส์ พัฒนาเดบิต การ์ดเพื่อให้บริการลูกค้า ทำให้ยอดธุรกรรมของแกร็บเพิ่มขึ้นกว่า 1,300% สำหรับแกร็บ ประเทศไทยอยู่ระหว่างพูดคุยเช่นเดียวกัน หรืออย่างร้านเค้กเล็กๆ ในอินโดนีเซีย ที่ Xendit ได้เข้าไปพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศให้ ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 90% ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ Xendit ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน


เทสซ่า วิจายะ


ตั้งเป้ายอดธุรกรรม 2 หมื่นล้าน

    วิศิษฎ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายยอดธุรกรรมผ่านบริการต่าง ๆ ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่ารวม 2,000 ล้านเหรียญ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย การขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการเชื่อมต่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการขยายธุรกิจในตลาดโลก และภูมิภาค โดย Xendit จะมีบริการ 3 ด้าน ได้แก่

    1. Xenpayment ระบบชำระเงิน

    2. Xenpayouts ระบบการโอนเงินผ่าน API, Email และ Dashboard

    3. Xenissuing บริการ e-Wallet บัตรเดบิตการ์ดสำหรับองค์กรต่างๆ

    โดยลูกค้าเป้าหมาย มีทั้งกลุ่มธนาคาร ประกัน SMEs และองค์กรขนาดใหญ่

    จุดเด่นของบริการของ Xendit มี 3 ด้าน คือ

    • Simple ให้บริการระบบชำระเงินที่ปลอดภัยและง่ายต่อการทำงานร่วมกัน

    • Speed การตรวจสอบและการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว ทันใจ

    • Service พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยมาตรฐานการดูแลระดับโลก

    ทั้งนี้ จากรายงาน e-Conomy SEA Report 2023 จัดทำโดย Google, Temasek และบริษัทที่ปรึกษา Bain & Company สำรวจกลุ่มเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ระบุว่า รายได้จากเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ในปี 2023 อยู่ที่ราว 100,000 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นสัดส่วน 70,000 ล้านเหรียญ มาจากธุรกิจคอมเมิร์ซ (E-commerce) การท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel) การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ (Transport & Food Delivery) และสื่อออนไลน์ (Online Media)



    ขณะที่อีกกว่า 30,000 ล้านเหรียญ มาจากบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services) ซึ่งมีการเติบโตอย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านการลงทุน การบริหารความมั่งคั่ง สินเชื่อ การชำระเงิน ประกันภัยและอื่นๆ

    “การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการชำระเงินดิจิทัลในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแรงผลักดันให้ Xendit ไปสู่เป้าหมาย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยส่งเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ผ่านการนำเสนอบริการโซลูชันที่เหมาะสมกับตลาดและความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน” วิศิษฎ์กล่าว


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : CMG เตรียมลงทุนเพิ่ม 7 พันล้าน หวังเขย่าวงการแฟชั่นรีเทลดันยอดขายปี 67 พุ่ง 20%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine