ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจยิ่งต้องปรับตัวตามให้ทัน ล่าสุด Forbes Thailand จัดงานสัมมนา The Next Tycoons 2024 ในหัวข้อ The FUTURPRENEUR: Reimagine, Reinvent, Refine เมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีแขกรับเชิญเป็นนักธุรกิจแถวหน้ารุ่นใหม่จากหลากหลายอุตสาหกรรมร่วมแบ่งปันมุมมองและวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืน
สำหรับ Panel 3 หัวข้อ Refine: Philosophy of Success of the New Era ปรัชญาสู่ความสำเร็จฉบับใหม่ ได้รับเกียรติจาก 2 ผู้บริหารหนุ่ม ได้แก่ ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด และ ดร. จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารการตลาด บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด มาสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจในการบริหารธุรกิจฉบับผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยมี พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ รับบทพิธีกร
เริ่มต้นที่จิตตะ เวลธ์ ซึ่งผู้ก่อตั้งอย่างตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์เล่าย้อนความไปเมื่อ 10 ปีก่อน การก่อตั้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ด้วยเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้อำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน และช่วยวางแผนการบริหารพอร์ต โดยวิสัยทัศน์คือการช่วยให้ทุกคนสามารถลงทุนได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
ปัจจุบันจิตตะ เวลธ์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จอันเป็นที่ยอมรับในระดับโลก อัลกอริทึมที่ประมวลผลข้อมูลมหาศาลมีความฉลาด สามารถวิเคราะห์มุมมองต่างๆ อย่างครอบคลุม ตราวุทธิ์ชี้ว่าข้อมูลข่าวสารในโลกของการลงทุนนั้นมีมากมาย และมนุษย์คนหนึ่งย่อมไม่อาจศึกษาจนเชี่ยวชาญทุกเรื่องในระยะเวลาจำกัด ทว่า AI สามารถเป็นผู้ช่วยรวบรวมและสรุปเนื้อหาที่สำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจด้านการลงทุนได้
ในประเด็นเกี่ยวกับ AI ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในทุกมิติ ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะในโลกของการทำงานซึ่งผู้คนมากมายต่างวิตกกังวลกัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหนุ่มแห่งจิตตะ เวลธ์ชี้ว่าต้องทำให้ทุกคนเข้าใจ ว่า AI ไม่ได้จะเข้ามาแทนที่ แต่จะเข้ามาช่วยให้การทำงานต่างๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจะต้องมีการพิจารณาปัจจัยแต่ละด้านอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น ตรงไหนที่สามารถนำ AI เข้ามาใช้ได้บ้าง และใช้อย่างไร
สำหรับก้าวต่อไป ตราวุทธิ์ ขอเดินหน้าภารกิจสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงการออมเงินตลอดจนการลงทุนกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่กลุ่มผู้มั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังนับรวมกลุ่มคนทั่วไปที่อาจมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว พร้อมชี้ข้อสำคัญคือความมีวินัยทางการเงินและไม่เป็นเหยื่อบริโภคนิยม จิตตะเวลธ์ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อย่าง Jitta Card ที่ช่วยเปลี่ยนการใช้จ่ายในทุกวันเป็นเงินออมเพื่อการลงทุน สอดคล้องกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่ชี้ว่าควรออมเงินอย่างน้อย 10% ของรายได้
ตราวุทธิ์ยังย้ำเตือนถึง ‘คุณค่า’ ของธุรกิจที่ผู้ประกอบการแต่ละคนยึดถือ เพราะมีธุรกิจทั้งสินค้าและบริการมากมายในท้องตลาด แต่ด้วยคุณค่าอันเป็นเสมือนหัวใจจะนำองค์กรไปสู่การสร้างความแตกต่างรวมถึงการคงอยู่ของแบรนด์ท่ามกลางมรสุมต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ดร. จักรพล จันทวิมล ที่มีประสบการณ์ใน 2 ธุรกิจ ได้แก่ รองเท้านันยาง และ ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ได้เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าเส้นทางการเป็นทายาทรุ่น 3 ของกิจการครอบครัว ดังเช่นที่ทุกคนทราบกันดีว่าการจะดูแลธุรกิจให้อยู่รอดเมื่อต้องเปลี่ยนรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการเข้าสู่รุ่น 3 ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะโลกในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อครั้งอดีต
ดร. จักรพลเกริ่นว่า นันยาง เป็นแบรนด์รองเท้าเก่าแก่ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน สินค้าหลักคือรองเท้านักเรียน และจะยังคงเป็นรองเท้านักเรียนต่อไป ทว่าเขาต้องการสร้างการเติบโต 2% ต่อปี กลายเป็นโจทย์อันท้าทายให้ได้ขบคิดว่าจะขายสินค้าเดิมอย่างไรให้ยังคงครองใจผู้บริโภคได้ไม่เปลี่ยนท่ามกลางยุคสมัยที่แปรผันไป หนึ่งในกลยุทธ์คือการพลิกโฉม (Refine) ปรับตัวตามค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลง
ยกตัวอย่างแคมเปญของนันยางเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อแบรนด์รับรู้ว่าผู้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งหรือ bully ในโรงเรียน จึงได้ออกแถลงการณ์ขอโทษที่เคยสร้างภาพลักษณ์ ‘ความเก๋า’ โดยผูกโยงกับนิสัยเกเรในอดีต พร้อมแสดงจุดยืนใหม่ที่ไม่สนับสนุนการกลั่นแกล้งในโรงเรียน
ดร. จักรพลยังกล่าวถึงการปรับวิธีการทำงานและบริหารองค์กรให้ธุรกิจครอบครัวดำรงอยู่ต่อไปได้ไม่ล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา แนวคิดหลักที่เขาร่วมแบ่งปันกับทุกคนในงานนี้คือเรื่องของ ‘คน’ พร้อมยกตัวอย่างกรณีของศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ที่มีบุคลากรหลายต่อหลายรุ่นทำงานร่วมกัน การอัปเดตข้อมูลของคนรุ่นเก่าซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นระดับผู้บริหารผ่านการเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่นับเป็นกุญแจในการละลายพฤติกรรม แลกเปลี่ยนความคิด และสร้างความสามัคคีในหมู่พนักงาน เขายังกล่าวถึงการใช้ความล้มเหลวมาเป็นแรงผลักดัน โดยให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะ ‘เฟล’ โดยไม่ต้องอาย
นอกจากนี้ ‘คน’ ที่หมายถึงลูกค้าและผู้อยู่อาศัยรายล้อมซีคอนก็เป็นตัวแปรที่ต้องใส่ใจเช่นกัน รวมทั้งมีการสำรวจพื้นที่ตลอดจนความต้องการของผู้คน ทำให้ ดร. จักรพลเล็งเห็นประโยชน์ของการลิ้มรสประสบการณ์อันจะเห็นได้จากการสร้างความแตกต่างให้ซีคอนในทุกๆ สองสัปดาห์ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอ
สรุปได้ว่าประเด็นหลักที่วิทยากรทั้ง 2 ท่านพูดถึงใน Panel 3 คือการปรับ ที่หมายถึงทั้งปรับตัว ปรับโฉม และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย พร้อมเปิดใจศึกษาเพื่อคว้าโอกาสจากสิ่งใหม่โดยไม่หลงลืมรากเหง้าและคุณค่าของธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพาบริษัทฝ่ากาลเวลาไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : The Next Tycoons 2024: 'โลกธุรกิจกับการบูรณาการเทคโนโลยี' กับ 2 ผู้บริหาร MTS Gold แม่ทองสุก - ดิจิลิ้งก์
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine