อีสท์สปริง คาดตลาดหุ้นไทยปี 68 เข้ากรอบ 1,270-1,350 จุด หากกระทบสงครามการค้าหนักอาจเห็น 1,219 จุด - Forbes Thailand

อีสท์สปริง คาดตลาดหุ้นไทยปี 68 เข้ากรอบ 1,270-1,350 จุด หากกระทบสงครามการค้าหนักอาจเห็น 1,219 จุด

บลจ.อีสท์สปริง คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยปี 2568 อยู่ที่ 1,270-1,350 จุด แต่หากเจอผลกระทบหนักจากสงครามการค้า กรณีเลวร้ายมีแนวรับอยู่ที่ 1,219 จุด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากแรงเทขาย LTF อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกจาก การท่องเที่ยว การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก และการเบิกจ่ายของภาครัฐที่อาจใช้เวลา 3-6 เดือนกว่าจะเห็นผลทางเศรษฐกิจ ดังนั้นปี 68 แนะนำลงทุนใน 4 ธีม ส่วนผลการดำเนินงานปี 67 บลจ.อีสท์สปริง มี AUM รวมโต 14% สูงกว่าอุตสาหกรรม


    นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยว่า กรอบดัชนีหุ้นไทย หรือ SET Index ปี 2568 นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 1,270-1,350 จุด โดยกรณีเลวร้ายมีแนวรับค่อนข้างลึกอยู่ที่ 1,219 จุด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากไทยเจอผลกระทบหนักจากสงครามการค้า และนโยบายทางภาษีของ Donald Trump ที่ทวีความเข้มข้นและรุนแรง ซึ่งปีนี้คาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้นหรือ EPS จะอยู่ที่ 96 บาทต่อหุ้น

    ทั้งนี้ ปี 2568 ตลาดหุ้นไทยยังมี upside ไม่มากนักเพราะมองว่าแรงกกดดันหลักของตลาดหุ้นไทยคือ Fund Flow ต่างชาติที่ไหลออก โดยปีที่ผ่านมาสูงถึง 150,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ยังไม่ฟื้น แรงเทขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) รวมถึงผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐ ที่อาจส่งผลต่อไทย 2 ทาง ทั้งไทยอาจโดนเพ่งเล็งหากสินค้าจีนย้ายฐานการผลิตมาไทย และไทยที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ (ปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 10)

    ขณะที่ปัจจัยบวกของไทยยังมองว่า การท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และการส่งออกไทยที่ครึ่งปีแรก 2568 จะดีขึ้น ส่วนครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงสูงจากประเด็นกำแพงภาษี แต่ไทยยังมีแรงบวกสำคัญมาจากการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ แม้ตอนนี้จะมีหลายโครงการเริ่มต้นแล้วเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภค เช่น E-receipt, เงินหมื่นดิจัทัล ฯลฯ เชื่อว่าโครงการเหล่านี้ต้องใช้เวลาราว 3-6 เดือนกว่าจะเห็นผลดีทางเศรษฐกิจ ขณะที่หากมีกองทุน LTF รอบใหม่อาจไม่ได้ดันตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะเงินลงทุนบางส่วนมีการไหลไปสู่กองทุนลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว


    ขณะที่ภาพรวมการลงทุนทั่วโลก นายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ในระดับปานกลางในช่วงครึ่งปีแรก 2568 โดยภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีนจะเป็นตัวแปรของการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมองว่าจากนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่จะสนับสนุนการเติบโตระยะสั้นและสนับสนุนแนวโน้มดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าในระยะกลาง รวมทั้งจะทำให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้นและอาจทำให้รอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ช้าลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมของเฟดอาจจะสูงขึ้น พันธบัตรอาจถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น และควรเน้นไปยังตราสารหนี้คุณภาพ

    ท่ามกลางความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น มองว่าในเอเชียและตลาดเกิดใหม่ยังน่าสนใจเพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว เช่น

    จีน : ที่ยังมีมุมมองที่ดีแต่ยังคงระมัดระวังผลกระทบจากนโยบาย Trump แต่การประเมินมูลค่าหุ้นค่อนข้างถูกและมาตรการการกระตุ้นทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากความท้าทายจากภายนอกได้ รวมถึงมาตรการที่กระตุ้นภาคการบริโภค

    อินเดีย : การบริหารจัดการเชิงรุกถือเป็นปัจจัยสำคัญท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโมเมนตัมของเศรษฐกิจของอินเดียที่ชะลอตัวลง และการประเมินมูลค่าตลาดที่ตึงตัว บริษัทในอินเดียยังคงค่อนข้างแข็งแรง โดย ROE กำลังดีขึ้นและอัตราส่วนหนี้สินกำลังลดลง การปรับฐานของตลาดในอินเดียในไตรมาส 4 ปี 2024 ทำให้ผู้ลงทุนมีจุดเข้าลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น หุ้นขนาดใหญ่มีราคาที่น่าสนใจมากกว่าหุ้นขนาดเล็ก

    ญี่ปุ่น : การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจขยายวงกว้างไปยังหุ้นขนาดกลางถึงเล็ก ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์จากค่าจ้างที่สูงขึ้นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น คาดว่าการปฏิรูปองค์กรต่างๆ จะดำเนินต่อไป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลกำไรและราคาหุ้น และเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อบริษัทในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้า

    อินโดนีเซีย : นโยบายสนับสนุนการเติบโตของรัฐบาลปราโบโวและมาตรการทางการคลัง คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างภาคสินค้าอุปโภคบริโภคและการเงิน การให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการประชาชนของรัฐบาล จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและสร้างโอกาสให้กับบริษัทที่จำหน่ายอาหารที่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา

    เวียดนาม : บริษัทในกลุ่มการเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึง โลจิสติกส์ อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย

    “ด้วยภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องมีวินัยในการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk-Adjusted Returns) โดยกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ การลงทุนแบบผสมหลายสินทรัพย์ (Multi – Asset) และการลงทุนที่เน้นรายได้จากเงินปันผล จะช่วยลดความเสี่ยงด้านลบและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว นอกจากนี้ การคว้าโอกาสจากเทรนด์ที่มาแรงจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่เทคโนโลยีสีเขียวเป็นโอกาสการลงทุน ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีในเอเชียเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าสำหรับการลงทุนใน AI” นายยิ่งยงกล่าว



    อย่างไรก็ตาม การลงทุนในปี 2568 นักลงทุนต้องรับมือทั้งปัจจัยท้าทายในและนอกประเทศ จึงมี 4 ธีมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ในปีนี้ ได้แก่

    1. โอกาสในเอเชีย โดยคาดว่ากองทุนเอเชียที่มีความผันผวนต่ำจะเป็นโอกาสในการลงทุน เช่น อินเดียที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประชากรขยายตัวสูง และค่าเฉลี่ยแรงงานที่อายุไม่มากซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อ รวมถึงญี่ปุ่นคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น โดยกองทุนที่แนะนำได้แก่ ES-JPNAE ES-INDAE และ ES-ALOVE (ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายในวันที่ 14-21 กุมภาพันธ์ 2025)

    2. การเติบโตที่มีศักยภาพ เช่น เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่คาดว่าปีนี้ยังขยายตัวได้ท่ามกลางความผันผวน และคาดว่ากำไรจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงแนะนำกองทุน ES-USBLUECHIP

    3. การเข้าสู่โหมดลดอัตราดอกเบี้ย คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะยังคงลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลัง และการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก็ตาม แต่เมื่อรวมกับผลตอบแทนที่น่าสนใจ เราเชื่อว่าตราสารหนี้คุณภาพสูงและกลยุทธ์การปรับอายุตราสาร (Duration) ที่ยืดหยุ่นจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ กองทุนที่แนะนำคือ ES-GINCOME

    4. การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างสมดุลให้กับการลงทุน และรับมือความผันผวนต่างๆ โดยกองทุนที่แนะนำคือ ES-HEALTHCARE


บดินทร์ พุทธอินทร์ ผอ. ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน (ซ้าย) ดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ (กลาง) ยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน (ขวา) 


    นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดำเนินงานในปี 2025 ว่า จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการนักลงทุนทุกกลุ่มในสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังเผชิญความผันผวน

    ปี 2567 ที่ผ่าานมา บลจ.อีสท์สปริงพบว่าผลการดำเนินงานของกองทุนทุกประเภท มีอัตราเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวม 14% จากปี 2567 โดยแบ่งเป็น ธุรกิจกองทุนรวม เติบโต 14.93% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เติบโต 10.16% และ ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 7.31% สูงกว่าอุตสาหกรรมธุรกิจการจัดการกองทุน AUM รวมเติบโตเกือบ 10% แบ่งเป็น ธุรกิจกองทุนรวม เติบโต 14.10% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เติบโต 6.41 % และ ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลเติบโต 2.21% (ข้อมูล AIMC ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2024)



ภาพ: บลจ.อีสท์สปริง



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ตลท. เผยตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจ แม้ SET Index สิ้นเดือน ม.ค. 68 ลดลง 6.1% วอลุ่มเทรดร่วง 17.2%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine