เบื้องหลัง Doom Spending การช้อปเพื่อเยียวยาจิตใจของ 'Gen Z-millennials' และจะหยุดพฤติกรรมนี้อย่างไร - Forbes Thailand

เบื้องหลัง Doom Spending การช้อปเพื่อเยียวยาจิตใจของ 'Gen Z-millennials' และจะหยุดพฤติกรรมนี้อย่างไร

​เมื่อโลก Social Media ที่ทำให้เราเห็น lifestyle และวิถีชีวิตของคนจากทั่วทุกมุมโลก หลายคนเริ่มสังเกตคนรุ่นใหม่บางกลุ่มเลือกจะใช้จ่ายอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิต ทั้งเสื้อผ้าดีไซน์เฉพาะตัว ทริปท่องเที่ยวหรูหรา แทนที่จะเก็บออมเงิน จนเกิดคำว่า Doom Spending ขึ้นแต่เบื้องหลังของพฤติกรรมนี้กลับมีอะไรที่มากกว่าแค่การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย


    Psychology Today ให้คำนิยาม Doom Spending ว่าเป็นพฤติกรรมการใช้เงินโดยไม่ยั้งคิดเพื่อชดเชยหรือบรรเทาความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทั้งแรงกดดันทางเศรษฐกิจ หรือสิ้นหวังกับอนาคตที่ดูจะไม่สดใสนัก

    Ylva Baeckstrom ผู้บรรยายการเงินอาวุโส ที่ King’s Business School เล่าผ่าน CNBC Make It ว่า Doom Spending เกิดขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์สูง ซึ่งมักต้องรับรู้ข่าวร้ายอยู่เสมอ จนอาจสร้างความรู้สึกแบบ Armageddon (อาจเปรียบถึงความรู้สึกท่ามกลางสนามรบ) ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะสะท้อนความรู้สึกแย่ๆ ออกมาเป็นการใช้จ่ายที่อาจสร้างปัญหาใหม่ในอนาคต

    จากข้อมูลพบว่า 96% ของชาวสหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน และมากกว่า 1 ใน 4 เลือกจะใช้จ่ายอย่างเต็มที่เพื่อจัดการกับความเครียด (ผลสำรวจจาก Credit Karma ณ พ.ย. 2023)

    และปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น

    Stefania Troncoso Fernandez วัย 28 ปี ที่อาศัยอยู่ใน Colombia ร่วมกับพ่อแม่ เล่าว่า เธอฟื้นตัวจากการเป็น Doom Spending ที่เคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทั้งเสื้อผ้า และทริปเที่ยว แม้ว่าตอนนั้นจะมีรายได้น้อยกว่าปัจจุบัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาค่าครองชีพยังเพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองต่างๆ ยังทำให้การออมเงินเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญสาเหตุหลักอาจเพราะรู้สึกว่า เธอไม่สามารถเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านสักหลังได้ และเธอคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเธอคนเดียว แต่คนรอบตัวต่างเผชิญสถานการณ์นี้เช่นกัน


Generation แรกที่กำลังจะยากจนลง

    ผลสำรวจของ CNBC จากผู้ทำแบบสอบถามกลุ่มผู้ใหญ่กว่า 4,342 รายทั่วโลก (โดย Survey Monkey) พบว่า มีเพียง 36.5% ที่รู้สึกว่าพวกเขามีฐานะทางการเงินดีกว่ารุ่นพ่อแม่ ขณะที่อีก 42.8% ตอบว่าพวกเขามีฐานะการเงินแย่กว่าพ่อแม่

    Baeckstrom ยังกล่าวอีกว่า คนใน Generation ปัจจุบันล้วนรู้สึกว่าต้องใช้เวลานานกว่ารุ่นพ่อแม่เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว และไม่อาจประสบความสำเร็จได้เท่ากับพ่อแม่ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้เกิดพฤติกรรม Doom Spending ที่สร้างภาพลวงตาว่า การใช้จ่ายทำให้รู้สึกว่าเราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ควบคุมไม่ได้ทั่วโลก

    “แต่ในความเป็นจริงแล้ว (การ Doom Spending) กลับส่งผลเสียต่อการควบคุม อนาคตของพวกเขามากขึ้น เพราะหากคุณเลือกที่จะออมเงินและลงทุนแทน คุณอาจจะซื้อบ้านได้เลย” Baeckstrom กล่าว


‘ต้องหนีออกไป’ ความรู้สึก Generation นี้ต้องเผชิญ

    Daivik Goel หนึ่งในคนรุ่นใหม่วัย 25 ปี ที่อาศัยอยู่ใน Silicon Valley เล่าว่า ตอนที่เขาทำงานเป็น Product Engineer ที่ Startup ด้าน Biotech แห่งหนึ่ง เขาเคยทำพฤติกรรม Doom Spending ทั้งการซื้อเสื้อผ้าหรูหรา การไล่ซื้อ Gadget เทคโนโลยีรุ่นใหม่ล่าสุด รวมถึงการออกไปดื่มยามค่ำคืน ซึ่งพฤติกรรมการใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติใน Silicon Valley นอกจากนี้อาจเห็นเพื่อบางคนซื้อรถคันใหม่ 2-3 คัน เพียงเพราะพวกเขาตระหนักว่า การเก็บเงินซื้อบ้านอาจจะใช้เวลาอีกนาน ดังนั้นจึงเลือกจะซื้ออย่างอื่นแทน

    หนึ่งในตัวอย่างของราคาบ้านที่สูงลิวลิ่วคือ San Francisco หนึ่งในอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในสหรัฐ โดยผลการวิเคราะห์จากเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ในปี 2023 พบว่า 62% ของทรัพย์สินที่ประกาศขายใน San Francisco มีราคาสูงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

    กลับมาที่ Goel เขาอธิบายความรู้สึกตอนนี้เลือกจะ Doom Spending ไว้ว่า “เป็นความพยายามที่จะหนีออกไป” น่าจะเกิดจากทั้งรู้สึกไม่พอใจในงานที่ทำ รวมถึงต้องเผชิญแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง ซึ่งหลังจากเขาเริ่มก่อตั้งบริษัท Intrepid ในปี 2023 พฤติกรรม Doom Spending กลับเลือนหายไป เพราะเขามีความสุขกับงานที่ทำ พร้อมกับเล่าว่า ‘มุมมองของผมเปลี่ยนไปแทบทั้งหมด’


ทำความเข้าใจ 'เงินกับคุณ' ให้มากขึ้น

    Baeckstrom นักบรรยายด้านการเงิน ย้ำว่าหากคุณต้องการเอาชนะพฤติกรรม Doom Spending ต้องเข้าใจสัมพันธ์กับเงิน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เหมือนกับความสัมพันธ์กับผู้คน ที่เริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็ก ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน แต่วิธีการบริหารและควบคุมเงินของแต่ละบ้านย่อมแตกต่างกัน

    “หากคุณรู้สึกถึงความผูกพันที่มั่นคงกับเงิน คุณจะสามารถประเมินเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม แต่หากคุณรู้สึกไม่มั่นคง หรือเลี่ยงที่จะทำความเข้าใจเรื่องเงิน คุณย่อมมีแนวโน้มจะถูกดึงเข้าสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ดีนัก”

    เรื่องนี้อาจสอดคล้องกับ Fernandez ที่อาศัยอยู่ใน Colombia ร่วมกับพ่อแม่ เล่าว่า พฤติกรรม Doom Spending ของเธอนั้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการขาดความรู้เรื่องการเงิน และในครอบครัวไม่มีใครเคยสนับสนุนให้เธอเก็บออม

ทางแก้: เพิ่มความเจ็บปวดก่อน ‘ใช้จ่าย’

    ทุกวันนี้การใช้จ่ายเหมือนจะง่ายดายขึ้นทุกวัน เพียงแตะบัตร สแกนจ่าย หรือไม่กี่คลิกก็ทำให้เงินไหลออกจากกระเป๋าเราโดยไม่รู้ตัว Samantha Rosenberg co-founder และ COO ของแพลตฟอร์ม Belong เล่าว่า การช้อปปิ้งออนไลน์อาจกระตุ้นให้ประเด็น Doom Spending มากขึ้น ดังนั้นหากขั้นตอนการจ่ายเงินซับซ้อน หรือยากขึ้น มักทำให้คนกลับมาคิดทบทวนก่อนใช้จ่าย และอาจลด Doom Spending ได้อีกด้วย

    ยกตัวอย่างเช่น การได้เห็นสินค้าด้วยตนเองอาจป้องกันการซื้อตามอารมณ์ได้ ส่วนหนึ่งเพราะการมี ‘จุดที่ต้องตัดสินใจ’ มากขึ้น เช่น หากต้องเลือกสินค้าที่ร้าน ต้องคิดตั้งแต่การเดินทาง เปรียบเทียบสินค้าด้วยมือของตนเอง ไปจนถึงการต่อคิวเพื่อจ่ายเงินอาจชะลอให้คุณมีเวลาคิด และวิเคราะห์มากขึ้นก่อนการซื้อของนั้นๆ

    นอกจากนี้ การตั้งค่าการแจ้งเตือนบนแอปพลิเคชันธนาคาร อาจช่วย ‘กระตุกต่อมความเจ็บปวด’ เมื่อคุณต้องกดยอมรับ เพื่อจ่ายเงินที่กำลังไหลออกไป Samantha ยังแนะนำอีกว่า คุณอาจกลับไปใช้เงินสดก็ได้ เพราะวิธีการใช้จ่ายที่ไร้รอยต่อต่างๆ เช่น Apple Pay และ Google Pay อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เราใช้จ่ายแบบไม่ทันคิด เพราะมันง่ายและรวดเร็ว เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วและราบรื่น ‘ความเจ็บปวด’ จากการจ่ายเงินออกจากกระเป๋าอาจน้อยลงไปด้วย นี่จึงเป็นวิธีที่ระบบจะหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการตัดสินใจซื้อ (ซึ่งหากเราคิดทบทวนมากขึ้น อาจยังไม่ต้องซื้อทันทีในขณะนั้นก็ได้)



แหล่งที่มา: Gen Z and millennials are increasingly ‘doom spending.’ Here’s what it is and how to stop it

Photo by Heidi FinMarissa GrootesIrene Kredenets on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ผลสำรวจ SCB EIC เผยปัจจัยเศรษฐกิจกดดัน หนี้ครัวเรือน-ค่าใช้จ่ายสูง เกือบครึ่งยังไม่มีแผนซื้อบ้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine