เครดิตบูโร เผย ลดเวลา 8 ปีเก็บประวัติหนี้เสียในระบบฯ “ทำได้” โดย กคค. ต้องชั่งน้ำหนักหลายด้าน - Forbes Thailand

เครดิตบูโร เผย ลดเวลา 8 ปีเก็บประวัติหนี้เสียในระบบฯ “ทำได้” โดย กคค. ต้องชั่งน้ำหนักหลายด้าน

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค. 67) หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่อย่าง พิชัย ชุณหวชิร เล่าถึงการพิจารณา ‘ลดเวลา’ เก็บประวัติหนี้เสียค้างในเครดิตบูโรนาน 8 ปี หวังช่วยคนที่มีหนี้เสียจาก COVID-19 ให้กลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยอาจจะมีการแก้กฏหมายเพิ่มเติม ทำให้ล่าสุดทางเครดิตบูโรได้ออกมาเล่าถึงแนวทางในแก้ไและมุมมองต่อการปรับแก้เรื่องนี้เช่นกัน


    นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยผ่าน Facebook ส่วนตัว เมื่อ 29 พ.ค. 2567 โดยระบุว่า การแก้ไขลดระยะเวลาจาก 8 ปีทำได้โดยการออกประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต หรือประกาศ กคค. ฉบับใหม่แทนที่ฉบับเดิม โดยต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงหลายด้าน

    “ต้องชั่งน้ำหนักว่า ความเสี่ยงและการแลกเปลี่ยน หรือเป้าหมายที่จะให้ลูกหนี้เจ้าของบัญชีหนี้เสียที่ไม่จ่าย ไม่ทำ TDR (ปรับโครงสร้างหนี้) นั้นสามารถยื่นขอกู้ได้โดยว่าที่เจ้าหนี้ใหม่ไม่เห็นข้อมูลเมื่อใด ความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ผากเงินรับได้ตรงไหน มาตรฐานสากลเป็นอย่างไร หากมีข้อมูลครบ ตัดสินใจได้ครับ เครดิตบูโรไม่มีอำนาจตัดสินใจ เรามีหน้าที่ดำเนินการตามประกาศคำสั่งอย่างเดียว” สุรพล กล่าว

    ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่มีประวัติและมีหนี้เสีย NPLs หรือค้างชำระเกิน 90 วัน (3 งวดขึ้นไป) จะขอสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินได้ยาก เพราะหนี้เดิมยังคงค้างอยู่

    แต่ช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วนอาจขาดรายได้ ทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นภาครัฐจึงอยากเข้ามาดูแลช่วยเหลือหนี้เสียกลุ่มนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ TDR เพื่อให้กลายเป็นบัญชีหนี้ปกติตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้

    “ปัจจุบันถ้าบัญชีใดเป็นหนี้เสีย เป็น NPLs แล้ว หากลูกหนี้รายนั้นที่เป็นเจ้าของบัญชีไม่ยอมจ่าย ไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา ไม่ยอมทำ TDR ถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดี เราจะยอมให้มีข้อมูลที่แสดงสถานะการเป็นหนี้เสียในระบบของเครดิตบูโรนานเท่าใด นับแต่วันที่บัญชีนั้นค้างเกิน 90 วัน ถ้าเอาตามกฎหมายในอดีต ก็ต้องส่งข้อมูลการเป็นหนี้เสียเข้ามาในระบบต่อเนื่องไปตลอด จนกว่าจะมีการชำระเป็นปกติ หรือมีการทำ TDR” สุรพล กล่าว

    อีกทั้งยังมีสถิติในต่างประเทศที่เคยนำมาหารือกัน พบว่า สหรัฐจะเก็บข้อมูลไว้นาน 7 ปี ในอังกฤษ 6 ปี และทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตหรือ กคค. เคยประกาศไว้ว่า บัญชีใดค้างเกิน 90 วันและยังไม่มีการชำระกลับมาเป็นปกติ หรือยังไม่ทำ TDR (ปรับโครงสร้างหนี้) ให้เจ้าหนี้ส่งข้อมูลต่อเนื่องทุกเดือนเข้ามาในระบบจนครบ 5 ปี กล่าวคือข้อมูลที่ปรากฎในรายงานเครดิตบูโรจะแสดงข้อมูลของปีที่ 5, ปีที่ 4, ปีที่ 3 หรือที่เรียกว่า 3 ปีย้อนหลัง รายงานก็จะบอกว่าบัญชีดังกล่าวนั้นค้างเกิน 90 วันแสดงอยู่จำนวน 36 เดือน ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาข้อมูลแต่ละเดือนจะทยอยออกจากระบบเครดิตบูโร

    “ทีนี้ถ้าเราเป็นเจ้าหนี้ในปีที่ 8 เราจะเห็นข้อมูลว่าบัญชีหนี้สินกรณีนี้เป็นบัญชีหนี้เสีย เพราะยังไม่มีการชำระหนี้ตั้งแต่อดีตนับจากวันที่ค้างชำระเกิน 90 วัน คือเห็นประวัติย้อนไปได้ 8 ปีย้อนหลัง โดยบรรทัดสุดท้ายที่จะเห็นคือเดือนที่ 12 ของปีที่ 5 ครับ หลังจากครบ 8 ปีแล้ว ข้อมูลทั้งบัญชีนี้จะหายไปจากระบบ แต่มูลหนี้ไม่ได้หายไปนะครับ เจ้าหนี้เจ้าของบัญชีดังกล่าวยังมีสิทธิในการติดตามหนี้ตามกฎหมาย หากแต่สถาบันการเงินอื่นจะไม่เห็นข้อมูลนี้หากลูกหนี้เจ้าของบัญชี NPLs นี้ไปยื่นขอกู้ใหม่กับสถาบันการเงินใหม่” สุรพล กล่าว

    ทั้งนี้ ระยะเวลา 8 ปีจึงเป็นเหมือนกติกาที่แลกเปลี่ยน (Trade off) ระหว่าง การไม่ยอมชำระหนี้ การไม่ทำ TDR แลกกับการกู้เงินไม่ได้ในช่วง 8 ปี เพื่อปกป้องคุ้มครองเงินฝากที่สถาบันการเงินจะเอามาให้กับลูกหนี้รายนี้



Image by Drazen Zigic on Freepik




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คลังพิจารณา ‘ลดเวลา’ เก็บประวัติหนี้เสียค้างในเครดิตบูโรนาน 8 ปี หวังคนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine