กรณีศึกษา ‘บาทอ่อนค่า’ เหมือนเงินเยนแค่ไหน? ผลกระทบและทิศทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร - Forbes Thailand

กรณีศึกษา ‘บาทอ่อนค่า’ เหมือนเงินเยนแค่ไหน? ผลกระทบและทิศทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

ช่วงที่ผ่านมา เมื่อเงินเยนอ่อนค่าลงทำให้การไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเหมือนได้ส่วนลดราว 10-20% แม้จะเป็นข่าวดีของนักท่องเที่ยว แต่การอ่อนค่าของเงินเยนที่รุนแรงนี้ เป็นผลจากนโยบายการเงิน รวมถึงอาจสะท้อนถึงปัญหาความเชื่อมั่นของประเทศญี่ปุ่น


ดังนั้น การที่เงินบาทของไทยบางช่วงอ่อนค่าแรงไปถึง 37.17 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กำลังสะท้อนปัญหาด้านใด และไทยกำลังเดินตามรอยเท้าญี่ปุ่นหรือไม่


ความแตกต่างระหว่าง ‘เงินเยน-เงินบาท’ ที่อ่อนค่าแรง

    ถ้าถามว่าตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาแรงแค่ไหน หากเทียบจากต้นปีนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 6.5% ขึ้นมาอยู่ที่ 36.68 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (ต้นปีที่ 34.42 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) และบางช่วงยังอ่อนค่าไปถึง 37.17 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนเงินเยนอ่อนค่าเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเช่นกัน

    เริ่มกันที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เล่าให้ Forbes Thailand ฟังว่า ในอดีตช่วงก่อน Covid-19 ค่าเงินบาทเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับค่าเงินเยน ซึ่งมีสถานะเป็น Safe Haven ของภูมิภาค ขณะนั้นเป็นช่วงที่นโยบายการเงินสหรัฐผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำ โดยไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดสูง มีรายได้การท่องเที่ยวมาก อีกทั้งยังมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งสถานะนี้คล้ายกับเงินเยนทำให้ตอนนั้นเงินเยนแข็งค่า เงินบาทก็แข็งค่าเช่นกัน

    แต่หลังจาก Covid-19 เป็นต้นมา ไทยไม่เป็น Regional Safe Haven อีกต่อไป เพราะรายได้การท่องเที่ยวหดหาย และยิ่งเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแรง ราคาน้ำมันขยับขึ้น โดย (1) ไทยอยู่ในสถานะผู้นำเข้าสุทธิน้ำมัน ทำให้ความน่าสนใจของเงินบาทลดลง รวมถึง (2) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐยังพุ่งแรง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐกับไทยกว้างยิ่งขึ้น ทำให้สินทรัพย์ในประเทศไม่น่าสนใจ ส่งผลให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปสหรัฐ จนทำให้เห็นภาวะค่าเงินเยน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแรงครองอันดับต้นๆ ของภูมิภาค
*ค่าเงินดอลลาร์เยนบางช่วงอ่อนค่าทะลุ 160 เยนต่อเหรียญสหรัฐ

    ขณะเดียวกันจะเห็นว่าประเทศไทยมีลักษณะที่คล้ายประเทศญี่ปุ่น ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ แรง 2) ความน่าสนใจต่ำ จากภาวะเศรษฐกิจเติบโตช้า 3) อัตราเงินเฟ้อต่ำ

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

ค่าเงินเยนเผชิญแรงกดดัน ‘มากกว่า’ เงินบาท แต่โดนกดดันจาก Fed เหมือนกัน

    ด้าน รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) หรือ กรุงศรี เปิดเผยกับ Forbes Thailand ว่า ค่าเงินเยนเผชิญแรงกดดันมากกว่าเงินบาท ส่วนหนึ่งเพราะหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับสูงมาก จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาเยอะแล้ว แต่ว่าทางการญี่ปุ่นยังคงระมัดระวังในการปรับดอกเบี้ยขึ้น อย่างการประชุมครั้งล่าสุดก็ไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ

    ช่วงที่ผ่านมา บางจังหวะจะเห็นธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) เข้าพยุงค่าเงินเยนทำให้ชะลอการอ่อนค่าลงบางส่วน เช่น ปลายเดือนเม.ย. เมื่อเงินเยนอ่อนค่าไปสู่ระดับ 160 เยนต่อเหรียญสหรัฐ และย่อลงมาที่สู่ 154 เยนต่อเหรียญสหรัฐ เป็นต้น แต่การประสิทธิผลจากการเข้าพยุงค่าเงินเยนยังมีจำกัด อาจจะลดนักเก็งกำไรที่ขายเยนออกไปได้แค่ช่วงสั้นๆ

    นอกจากนี้ ความแตกต่างระหว่างเงินเยนกับเงินบาท คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ยฯ เพราะแม้เงินเยนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับทั้งโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ล่าสุดยังไม่ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 67 เพราะเงินเฟ้อยังเร่งตัว

    ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยฯ ของ Fed เป็นเรื่องที่ตลาดให้ความสำคัญ และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินเยน และเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากกระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคนี้เพราะนักลงทุนยังมองว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะเห็นความชัดเจนว่า Fed จะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย

    แต่หากถามว่าปัจจัยใดจะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นนั้น ‘รุ่ง’ ประเมินว่า BOJ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่คิดว่าจะระมัดระวังพอสมควร เพราะญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะค่อนข้างเยอะซึ่งอาจจะทำให้ตลาดพันธบัตรพังได้ และปัจจัยที่ร่วมกันทั่วโลกอย่าง Fed หากส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยฯ พันธบัตรสหรัฐยุติวงจรขาขึ้น ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเทียบกับทุกสกุลเงิน ทั้งเยนและบาท อาจแข็งค่าขึ้นได้

    “แม้ความเชื่อมั่นต่อประเทศ (ญี่ปุ่น) จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินแต่ Fed มีผลมากกว่า” รุ่ง กล่าว

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เงินบาทจะอ่อนค่าไปถึงไหน กลางปีนี้จะไปถึง 38.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ไหม?

    ด้าน อมรเทพ ระบุว่ายังน่าเป็นห่วงที่ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าแรงในช่วงเดือน พ.ค. และอาจต่อเนื่องถึงเดือน มิ.ย. มีโอกาสไปถึง 37.50 - 38.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จาก 2 ปัจจัยได้แก่
    1. ไตรมาส 2 เป็นฤดูจ่ายเงินปันผล
    2. ปัจจัยต่างประเทศ
        - หาก Fed คงอัตราดอกเบี้ยฯ ลากยาว อย่างช่วงที่ผ่านมาจะเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) อายุ 10 ปีสหรัฐทะลุ 4.7% ช่วงก่อนหน้านี้ Bond Yield สหรัฐอายุ 2 ปี ที่ทะลุ 5% ย่อมทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ไปยังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
        - การลดอัตราดอกเบี้ยฯ ซึ่งไทยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เจอแรงกดดันมากขึ้นใน มิ.ย. แม้จะลดเพียง 1 หรือ 2 ครั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือการปรับสมดุลตามเศรษฐกิจที่โตช้าลง ต้องระวังพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุนมองว่าเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาลงซึ่งมีนโยบายการเงินที่สวนทางกับสหรัฐอาจทำให้ความน่าสนใจของค่าเงินลดลงได้ แล้วบาทก็อาจจะอ่อนแรงจากการเก็งกำไรตรงนั้น

    นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม Geopolitical Risk ที่อาจกดดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น หากพุ่งไปถึง 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอาจทำให้บาทอ่อนได้ (เพราะไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน)

    ขณะที่ทางกรุงศรียังประเมินว่า ในช่วงสั้นค่าเงินบาทอาจจะอยู่ที่ 37.05 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งใกล้เคียงกับการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 6 เดือนครึ่ง แต่ทิศทางยังสอดคล้องกับในภูมิภาคเพราะเดือน เม.ย. เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าสุดในกลุ่มอยู่ในระดับกลางๆ มีเงินวอนเกาหลีใต้ที่อ่อนค่ามากกว่าไทย

    แต่ค่าเงินบาทหากเทียบกับช่วงต้นปีนี้ (YTD) ก็ยังอ่อนค่าสูงสุดในกลุ่มเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ซึ่งถ้าให้น้ำหนักแล้ว 80% ยังเป็นผลจากการคาดการณ์ของนักลงทุนที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยฯ ของ Fed ซึ่งปัจจัยในประเทศจะมีผลบางส่วน

ทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามานับจากต้นปี 2567
ที่มา Yahoo! Finance

ทำไมค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าในช่วงปลายปี ?

    รุ่ง เล่าว่า ช่วงครึ่งปีหลังเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้ จาก (1) สมมติฐานที่ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ 2 ครั้งในปีนี้ (น้อยกว่า 4 ครั้งที่เคยมองไว้ตอนต้นปี) ส่วนโอกาสที่จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยฯ เลยมีค่อนข้างน้อย โดยต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อเริ่มจะชะลอหรือเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มอ่อนแรงซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี และ (2) ส่วนภาคท่องเที่ยวยังช่วยหนุนเศรษฐกิจในภาพรวม และเป็นตัวพยุงค่าเงินบาท

    ทั้งนี้ กรุงศรี คาดว่า ปลายปี 2567 ค่าเงินบาทมีกรอบที่ 34.25 - 36.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วน ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 35.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

    สอดคล้องกับมุมมองของ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่าช่วงปลายปี 2567 ค่าเงินบาทจะแข็งค่าจาก (1) รายได้การท่องเที่ยวกลับมาช่วงปลายปีและ (2) การลดอัตราดอกเบี้ยฯ Fed แม้ลดน้อย แต่คนน่าจะ Price in (ตลาดรับรู้) ไปบ้างแล้ว ดังนั้นความน่าสนใจของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะน้อยลงและหันความสนใจมาที่ตลาดเกิดใหม่มากขึ้น โดยคาดว่า ช่วงปลายปี 67 ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 36.5-37.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

    สุดท้ายนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงยังเป็นผลจากปัจจัยในระดับโลก คือ ท่าทีของ Fed ต่อการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยฯ และค่าเงินอื่นๆ มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นหากมีความชัดเจนในระยะข้างหน้า




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ttb analytics เผยรัฐออกมาตรการอสังหาฯ ยังจูงใจไม่พอ คาดตลาดที่อยู่อาศัย ปี 67 ด้านมูลค่าหดตัว 7.8%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine