เผยสาเหตุแบงก์ชาติปรับเกณฑ์รอบใหม่ช่วยลูกหนี้ ‘บัตรเครดิต-หนี้เรื้อรัง’ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี - Forbes Thailand

เผยสาเหตุแบงก์ชาติปรับเกณฑ์รอบใหม่ช่วยลูกหนี้ ‘บัตรเครดิต-หนี้เรื้อรัง’ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี

ธปท. เผยต้องปรับเกณฑ์ช่วยลูกหนี้เรื้อรัง บัตรเครดิต เร่งสถาบันการเงินเอื้อปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ย้ำไม่ปรับลดผ่อนขั้นต่ำเหลือ 5% แต่เพิ่มมาตรการจูงใจให้เครดิตเงินคืนให้ลูกหนี้ที่จ่ายเกินขั้นต่ำ 8% ซึ่งใน 1 ปีจะคิดเป็นมูลค่าที่สถาบันการเงินจะให้กับลูกหนี้กว่าพันล้านบาท


    สมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ไทยเริ่มใช้อัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minpay) ที่ 10% มาตั้งแต่ปี 2547 แต่มีการปรับลดเหลือ 5% ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ซึ่งทาง ธปท. ได้ผ่อนปรนมาตลอด โดยล่าสุดจะคง Minpay ไว้ที่ 8% ถึงสิ้นปี 2568

    ทั้งนี้ สาเหตุที่ ธปท. เลือกจะคง Minpay ไว้ที่ 8% แต่ไม่ปรับลดเหลือ 5% เพราะมองว่า หากลดขั้นต่ำลง แม้ลูกหนี้จะมีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้เกินขั้นต่ำ แต่อาจกลายเป็นการฉุดรั้งให้มีหนี้ไว้นานกว่าเดิมซึ่งจะเป็นภาระด้านดอกเบี้ยด้วย ขณะเดียวกันจากข้อมูลที่ ธปท. มีอยู่ ยังพบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่มีการปรับตัว และสามารถจ่ายชำระหนี้ในขั้นต่ำระดับ 8% ได้แล้ว

    อย่างไรก็ตาม ธปท. มองว่าการจูงใจด้วยการให้เครดิตเงินคืนให้ลูกหนี้ที่จ่ายเกินขั้นต่ำ 8% ในปี 2568 เชื่อว่าจะช่วยลูกหนี้ปิดยอดหนี้ได้มากขึ้น โดยในช่วง 1 ปีนี้คาดว่าเครดิตเงินคืนที่สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้จะคิดเป็นมูลค่าราวพันล้านบาท

    อรมนต์ จันทพันธ์ (กระปุก) ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ยังมีเป้าหมายการลดหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับสูง (ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 90.8%) โดยมีการออกมาตรการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ล่าสุดต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งผ่อนปรนให้สถาบันการเงินพิจารณาให้สภาพคล่องส่วนที่เหลือในวงเงินบัตรเครดิตแก่ลูกหนี้ได้ (กลุ่มที่มีการจ่ายขั้นต่ำมากกว่า 5% แต่ไม่เกิน 8%) จากเดิมที่หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ แล้วจะต้องปิดวงเงินเครดิตส่วนที่เหลืออยู่ไปด้วย

    นอกจากนี้ในส่วนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ปัจจุบันมีอยู่ 5 แสนบัญชี หรือมูลค่าหนี้ราว 14,400 ล้านบาท ปัจจุบันมีลูกหนี้เข้าสู่มาตรการราว 1-2% ถือว่าน้อยมาก ธปท. จึงมีการผ่อนปรนมาตรการเพิ่มเติม เช่น การขยายระยะเวลาปิดจบหนี้เป็น 7 ปี จากเดิมที่ 5 ปี นอกจากนี้จากอินไซด์ของลูกหนี้ที่ต้องการสภาพคล่อง จึงผ่อนปรนด้านสภาพคล่องเช่นกัน โดยเชื่อว่าหลังการปรับมาตรการฯ และการสื่อสารกับสถาบันการเงินรวมถึงลูกหนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมาตรการราว 20% ของยอดบัญชีหนี้เรื้อรังทั้งหมด

    “ถ้าเศรษฐกิจดี เราตั้งใจให้ปิดวงเงินส่วนที่เหลือ  แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเลยมีการขยับให้คงวงเงินส่วนที่เหลือไว้ ให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีวินัยเพื่อให้มีสภาพคล่องเพิ่ม” อรมนต์กล่าว

    อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงโครงการแก้หนี้อย่าง การรวมหนี้ ที่เปิดให้นำหนี้ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล มารวมกับสินเชื่อบ้าน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยลง โดยธปท. ดำเนินการมาระยะหนึ่ง แต่กลับมีการตอบรับไม่ดีนัก เขมวันต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เล่าว่า ทางแบงก์ชาติมีการปรับเงื่อนไขเรื่อง มาตรการรวมหนี้ โดยจะผ่อนปรน ให้แม้รวมหนี้แล้วจะ LTV เกิน 100% ได้ แต่อยู่ที่สถาบันการเงินเป็นผู้พิจารณาว่า หากรวมกับหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกันแล้วจะให้ LTV ที่เท่าใด



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แบงก์ชาติปรับเกณฑ์ช่วยลูกหนี้ ขยายผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% ถึงสิ้นปี 68 ผ่อนเกินขั้นต่ำได้เงินคืนฯ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine