อ่านมุมมอง ‘สภาพัฒน์-แบงก์ชาติ’ จากข้อเสนอหั่นเงินส่ง FIDF มาช่วยหนี้รายย่อย - Forbes Thailand

อ่านมุมมอง ‘สภาพัฒน์-แบงก์ชาติ’ จากข้อเสนอหั่นเงินส่ง FIDF มาช่วยหนี้รายย่อย

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ยังคงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายติดตามและหาทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี เล่าถึงแนวคิดการปรับลดการเก็บเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่อยู่ราว 0.46-0.47% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินส่วนนี้ไปแก้ปัญหาหนี้ และกลายเป็นหนึ่งในคำถามที่ส่งถึงแบงก์ชาติและสภาพัฒน์ในช่วงที่ผ่านมา


สภาพัฒน์ เผย ‘หั่น FIDF ตัดหนี้’ เคยคุยกันแล้ว ย้ำโจทย์รัฐต้องสร้างรายได้

    นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า กรณีคำถามว่าหากจะลดเงินนำส่ง FIDF จากธนาคารเหลือครึ่งหนึ่ง (0.23%) เพื่อให้นำไป Hair cut (ขอลดหนี้ให้ลูกหนี้) นั้นต้องพูดคุยกับกระทรวงการคลังและ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่ามาตรการนี้จะมีผลอย่างไร ซึ่งหากลดเงินนำส่งลงครึ่งหนึ่งจะทำให้การชดใช้หนี้ FIDF ยืดออกไปอีก แต่การลดลงครึ่งหนึ่งจะนำไปทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เคยพูดคุยกันแล้วในฐานะทางเลือกหนึ่ง แต่ยังต้องดูในรายละเอียดเพิ่มเติม

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องหนี้ในปัจจุบันเกิดจากรายได้ไม่ฟื้นตัว รัฐจึงควรทำเรื่องมาตรการสร้างรายได้ เช่น การลงทุนของรัฐที่เข้าไปช่วยสร้างการจ้างงานรายบุคคล ขณะที่อีกด้านต้องอาศัยความร่วมมือของธนาคารต่างๆ และธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) ที่ต้องนำหนี้เหล่านี้มาปรับโครงสร้างหนี้โดยหนี้เสียในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.99%

    พวกหนี้สหกรณ์ Non Bank ต่างๆ ต้องพยายามดึงเข้ามาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ผู้กู้จ่ายได้ โดยที่ยังมีเงินสำหรับใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังพูดคุยกันอยู่ว่าจะทำลักษณะไหนอย่างไร ส่วนเรื่องจะ Hair cut หากจะทำต้องมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่ม ไม่สามารถทำ across the board (ในทุกเคส) ได้ ซึ่งการ Hair cut หนี้จะมีผลให้เกิด Moral Hazard ระดับหนึ่งจึงต้องเปรียบเทียบผลดูให้ดีเรื่องของการแก้หนี้

แบงก์ชาติแจง เงินนำส่ง FIDF เข้าตรง สบน. และเป็นหนี้สาธารณะภายใต้งบฯ คลัง

    ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าว่า ธปท. จะเก็บเงินนำส่งฯ FIDF 0.47% ของเงินฝาก โดย 0.46% จะส่งต่อเข้าไปใน FIDF และอีก 0.1% เป็นส่วนที่นำส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) โดยปัจจุบันจะนำส่งปีละ 2 ครั้ง และส่งต่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง

    นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เล่าต่อว่า ณ ส.ค. 67 ยอดเงินต้นคงเหลือของ FIDF อยู่ที่ 580,000 ล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะที่อยู่ภายใต้งบดุลของกระทรวงการคลัง (พันธบัตรที่กระทรวงการคลังออกขายให้ประชาชนแล้ว) แต่ละปีจะจ่ายดอกเบี้ยรวมที่ 16,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อ ธปท. เก็บเงินนำส่งฯ จากธนาคารจะนำมาจ่ายดอกเบี้ย และในส่วนเงินต้น สบน. จะแจ้งกับแจ้งธปท. ว่า ต้นแบบไหนที่จะให้จ่ายก่อน ซึ่งโดยปกติจะจ่ายเงินต้นที่อัตราดอกเบี้ยสูงก่อน

    ทั้งนี้ ในแต่ละปีเงินนำส่งฯ FIDF ส่วน 0.46% จะเก็บได้ปีละ 70,000 ล้านบาท แบ่งนำส่งเป็น 2 งวด 35,000 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วงเดือน ก.ย.2567 หลังการนำส่งฯ เงินช่วงครึ่งปีแรกจะมียอดเงินต้นคงเหลือที่ 550,000 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม หากปรับลดเงินนำส่งเหลือ 0.23% ของเงินฝาก จะเกิดต้นทุน 2 ส่วน 1) เงินต้นจะลดลงช้าไปครึ่งปี 2) ส่วนดอกเบี้ย จะเกิดต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นราว 5,000 ล้านบาท เป็นผลจากการจ่ายเงินต้นที่ช้าลง (ตามยอดเงินนำส่งปัจจุบันในแต่ละปี)

    สุดท้ายนี้ แม้อำนาจในการกำหนดอัตราเงินนำส่ง จะอยู่ที่ ธปท. ตามอำนาจพระราชกำหนดในปี 2555 ในการประกาศเก็บเงินสมทบฯ แต่ตามขั้นตอนยังต้องส่งไปรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกด้วย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เผยสาเหตุแบงก์ชาติปรับเกณฑ์รอบใหม่ช่วยลูกหนี้ ‘บัตรเครดิต-หนี้เรื้อรัง’ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine