กรุงศรีมองปัจจัยการเมืองในประเทศมีผลกระทบต่อค่าเงินบาท แต่ไม่ได้สูงมากนัก ส่วนช่วงครึ่งหลังปี 68 ค่าเงินบาทจะผันผวนสูงขึ้น คาดว่าไตรมาส 4 อยู่ที่ 31.75-34.00 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในไตรมาส 4/68 เพราะ Fed อาจลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดและดอลลาร์สหรัฐอาจอ่อนค่าลงจากปัจจัยกดดันอื่นๆ
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY กล่าวว่า ค่าเงินบาทครึ่งปีหลัง 2568 จะผันผวนสูงขึ้นมาก แม้ปัจจัยหลักจะมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง แต่ปัจจัยการเมืองอาจมีผลต่อค่าเงินบาทเช่นกัน โดยวันนี้หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรีของไทย (สั่งนายกฯ ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่) ยังส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวลดลง 10-15 สตางค์ สะท้อนว่าตลาดไม่ได้แพนิคมากนักแต่การเมืองยังคงมีผลต่อค่าเงินบาท
ทั้งนี้ ครึ่งปีหลัง 2568 ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าถึง 31.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากความเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาด อาจปรับลด 2-3 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งหาก Fed พยายามคงไว้ อาจถูกบีบจากภาวะเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวมากขึ้นส่งผลให้ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในภายหลัง รวมถึงมีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และผลต่อต้นทุนพลังงาน
ดังนั้น ในไตรมาส 4 ปี 2568 มองว่าค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจจะอ่อนลง และคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบกว้างที่ 31.75-34.00 บาท/เหรียญสหรัฐ บนสมมติฐานสำคัญที่ว่าสหรัฐฯ อาจลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และปัจจัยลบของเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดโลกยังคงดำเนินต่อไป
“สกุลเงินของเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกสูง รวมถึงเงินบาท อาจอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เช่น เงินเยน และเงินยูโร ขณะที่การค้าโลกเข้าสู่ภาวะซบเซา คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากระดับ 1.75% ในปัจจุบัน เพื่อประคองเศรษฐกิจซึ่งเผชิญหลากหลายความเสี่ยงด้านขาลง” นางสาวรุ่ง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงคาดว่า GDP ปี 2568 จะอยู่ที่ 1.5% มีแนวโน้มชะลอลง แม้จะยังมีแรงส่งจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีแรงฉุดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างของประเทศ ทั้งหนี้ครัวเรือนและสังคมสูงวัย รวมถึงไทยยังกระทบจากความสามารถทางการแข่งขันที่แย่ลง เพราะเจอสินค้าทะลักจากจีน นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ซึ่งอาจจะทำให้การส่งออกไทยหดตัวในปีนี้
ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยทางการเมืองในประเทศแม้จะทำให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น แต่เชื่อว่าไม่ได้ส่งผลกระทบให้ GDP ไทยปี 2568 ต่ำกว่า 1.5% แต่หากมีสัญญาณว่างบประมาณปี 2569 สะดุด และการเจรจาตกลงด้านการค้ากับสหรัฐฯ ไม่ราบรื่น เรื่องเหล่านี้ถึงเป็นปัจจัยลบในสมมติฐานกรณีที่เลวร้าย (ที่ GDP จะต่ำกว่า 1.5%)
ในส่วนของภาพรวมส่วนงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ‘ฮิโรทากะ คุโรกิ’ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาหรือ BAY กล่าวว่า ไทยเจอความท้าทายอย่างต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยใน-นอกประเทศ ดังนั้นจะส่งเสริมลูกค้าผ่านการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก คือ
- การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับมิติ ESG: เช่น ธุรกรรมอนุพันธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิงกับ ESG
- การส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินเกิดใหม่: เพิ่มความสามารถของสกุลเงินเกิดใหม่ (Emerging Currency) โดยในปี 2567 ธนาคารมีปริมาณธุรกรรมในการใช้ธุรกรรมสกุลเงินเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- การขยายฐานธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล: โดยในปี 2567 มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 138% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและในไตรมาส 1/2568 มีจำนวนธุรกรรม FX ที่ทำผ่านแพลตฟอร์ม FX@Krungsri สูงถึง 26% ของธุรกรรม FX ที่สามารถซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
- การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่แก่ลูกค้า: เช่น การขยายบริการที่ตอบโจทย์แก่ลูกค้าในปี 2567
กรุงศรีได้ออกผลิตภัณฑ์สัญญาซื้อขายตราสารหนี้ล่วงหน้า (Bond Forward) ที่ลูกค้าและนักลงทุนสามารถใช้ในการลดความเสี่ยงด้านตลาดและด้านสภาพคล่องในการกำหนดราคาซื้อขายพันธบัตร
ภาพ: BAY
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สำรวจ 'จักรวาลสินทรัพย์ดิจิทัล' ฉบับอัปเดตและถูกต้องตามกฎหมายไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine