กรุงศรี เผยเงินบาทอาจไม่กลับไปแข็งค่าเหมือนในอดีต ที่ช่วงก่อน COVID-19 แข็งค่าหลัก 18% ผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง สินค้าไทยไม่เกาะกระแสโลก แต่ละภาคส่วนฟื้นไม่เท่ากันจนเกิด ‘ดีกระจุก แย่กระจาย’ ขณะที่หากเงินเยนยังอ่อนค่าแรงอาจทำให้จีนทำหยวนอ่อนค่า และส่งผลต่อบาทให้อ่อนค่าลง
รุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เงินบาทอ่อนค่าลง ปัจจัยหลักเพราะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น แต่ทางกรุงศรีมองว่าค่าเงินบาทจะสามารถฟื้นตัวได้ก่อนสิ้นปีนี้จากการกลับทิศของนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวของไทย
ดังนั้น ในไตรมาส 4 ปี 2567 นี้ ทางกรุงศรี คาดว่าเงินบาทจะผันผวนในกรอบ 34.50-36.75 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยมองว่าการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งจากศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ขาดความโดดเด่น และความท้าทายจากทิศทางการค้าโลกในระยะถัดไป (จากการเปลี่ยนขั้วอำนาจเช่น การเลือกตั้งในสหรัฐปี 2567 นี้) ที่สำคัญคือ ไทยเจอปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้กระแสเงินทุนไหลออกต่อเนื่องและมากกว่าภูมิภาค
ทั้งนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย เช่น การฟื้นตัวของภาคธุรกิจเป็นลักษณะ ‘ดีกระจุก แย่กระจาย’ บางภาคส่วนฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่บางส่วนยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ ปัจจุบันสินค้าไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่สินค้าที่โลกต้องการ ฯลฯ หากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขจะฉุดรั้งขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย และจะทำให้การเกินดุลอาจโน้มต่ำในระยะยาว และกระทบต่อภูมิคุ้มกันค่าเงินบาท
ในระยะข้างหน้านี้ เงินบาทไม่น่ากลับมาแข็งค่าเหมือนในอดีต อย่างช่วงก่อน COVID-19 ที่สิ้นปี 2562 เงินบาทแข็งค่าถึง 18% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2558 ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่ามาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง (หลักหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) โดยในปี 2567 นี้คาดว่าจะเกินดุลฯ ที่กว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ค่าเงินเยนที่อ่อนค่ารุนแรงโดยปีนี้เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่ากว่า 13% แม้ว่าปัจจัยหลักจะได้รับผลกระทบจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น แต่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บาทอ่อนค่าลงได้
“กรณีที่เยนยังอ่อนค่ารุนแรงต่อไป จีนอาจพิจารณาในหยวนอ่อนค่าตามเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันสินค้าจีนในเวทีโลก พอหยวนอ่อนอาจมีแรงกระเพื่อมมาที่สกุลเงินในภูมิภาคนี้รวมถึงค่าเงินบาทด้วย” รุ่ง กล่าว
ในภาพรวม แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังคาดว่าสัญญาณชะลอตัวของเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชัดเจนมากขึ้น เอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป ขณะที่ในส่วนของไทยประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยฯ ไว้ที่ระดับ 2.50% ตลอดปี 2567
ด้านส่วนงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปี 2566 กรุงศรีมีกำไรจากธุรกรรมเพื่อการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศสูงถึง 5,732 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21% จากปี 2565 เป็นผลจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงทั้งการสนับสนุนเรื่อง ESG การขยายธุรกิจสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ และมียอดธุรกรรมมากกว่า 35,000 รายการ
ทั้งนี้ ในภาพรวม ปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 2.4% โดยมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในช่วงไตรมาสแรกของปีโตขึ้นเพียง 1% อย่างไรก็ตาม ปริมาณธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในช่วงเดียวกันในปีนี้ของกรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ได้เพิ่มขึ้นถึง 13%
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ผลสำรวจ SCB EIC เผยปัจจัยเศรษฐกิจกดดัน หนี้ครัวเรือน-ค่าใช้จ่ายสูง เกือบครึ่งยังไม่มีแผนซื้อบ้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine