BANPU เตรียมแผน 5 ปี ชูงบลงทุน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 60% ลงทุนในพลังงานก๊าซ และอีก 40% ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและอื่นๆ พร้อมเปิดกลยุทธ์ ‘Energy Symphonics’ ปักธงแรกปี 2030 ลดสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับถ่านหินให้ต่ำกว่า 50% และ EBITDA เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากฐานปี 2023 พร้อมตั้งเป้าหมายเดินหน้าสู่ Net Zero ในปี 2050
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU กล่าวว่า ท่ามกลางความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันโลกยังต้องการพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น ทำให้บ้านปูจึงริเริ่มกลยุทธ์ ‘Energy Symphonics’ ที่เป็นแนวทางการผสานพลังงานที่หลากหลายเพื่อให้มีพลังงานเพียงพออย่างต่อเนื่อง ราคาสมเหตุสมผล ทุกคนเข้าถึงได้ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืน
ทั้งนี้ บ้านปู ตั้งเป้าหมายการเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่ 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน, ความเสมอภาคด้านพลังงาน และความยั่งยืนด้านพลังงาน
ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมแผน 5 ปี (ปี 2026-2030) เพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน โดยเตรียมงบลงทุนราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนราว 60% ลงทุนในพลังงานก๊าซ และอีก 40% ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ และอื่นๆ ในรายละเอียดเม็ดเงินลงทุนรวมนี้จะแบ่งลงทุนใน 4 ภารกิจสำคัญ ได้แก่
1. ตั้งเป้าหมายบรรลุ Net Zero ภายในปี 2050 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 20% และลดสัดส่วน EBITDA หรือกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับถ่านหินให้ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2030 รวมถึงจะมี EBITDA เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากฐานปี 2023
2. ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) มุ่งเน้นการเติบโตด้วย ‘แนวทางสู่ความสำเร็จ’ ที่ผสานธุรกิจก๊าซธรรมชาติระดับต้นน้ำ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจ CCUS เพื่อส่งมอบโซลูชันก๊าซธรรมชาติคาร์บอนต่ำในสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
3. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) เร่งขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ โดยลงทุนในระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างความต่อเนื่องให้กับพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ
4. พัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ยุคใหม่ ดำเนินกลยุทธ์การทำเหมืองอัจฉริยะ โดยการผสานการใช้โซลูชันอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในกระบวนการทำเหมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในแร่แห่งอนาคตที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
ในภาพรวมกลยุทธ์หลักของบ้านปูจะมุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวให้มากขึ้น และลดสัดส่วนพลังงานจากถ่านหินลง สะท้อนได้จากไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าทางธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่
- การนำ BKV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ได้สำเร็จโดยการเสนอขายจำนวน 15,000,000 หุ้น ที่ราคา 18 เหรียญสหรัฐ/หุ้น สามารถระดมทุนได้ราว 270 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา โดยบ้านปูยังคงถือหุ้นใหญ่ใน BKV
- บริษัทร่วมทุนระหว่าง BKV Corporation และ Banpu Power (BPP) ภายใต้ชื่อ BKV-BPP Power JV สามารถรองรับการเติบโตของความต้องการพลังงานไฟฟ้าและ Data Center พร้อมคว้าโอกาสทางธุรกิจจากตลาดพลังงานในสหรัฐฯ
- การขยายการเติบโตของบ้านปู เน็กซ์ ในญี่ปุ่น ซึ่งเข้าลงทุนในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการนำออกสู่ตลาด ด้วยงบลงทุน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม 800 เมกะวัตต์ สู่เป้าหมายกำลังผลิตรวมจำนวน 2 กิกะวัตต์ ภายในทศวรรษนี้ นอกจากนี้ แบตเตอรี่ฟาร์ม Iwate Tono ใกล้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้กำลังติดตั้งอุปกรณ์แรงดันไฟฟ้าสูงและสถานีไฟฟ้าย่อยในเฟส 2 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2025
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2024 นี้ บ้านปูมีรายได้จากการขายรวม 1,339 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 46,597 ล้านบาท) มี EBITDA รวม 379 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 13,204 ล้านบาท) และขาดทุนสุทธิจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 830 ล้านบาท) จากราคาตลาดของถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงและการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน จากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ: BANPU
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรุงศรีจ่อเพิ่ม Climate Risk ในแผนธุรกิจ เล็งขยายสินเชื่อยั่งยืนทะลุแสนล้าน เดินหน้า ‘GO Sustainable with krungsri’
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine