เมื่อเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน มาถึง 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ - Forbes Thailand

เมื่อเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน มาถึง 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ช่วงครึ่งปีแรก 2567 ที่ผ่านมา บางช่วงค่าเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งดีกับภาคการส่งออกเพราะทำให้ผู้ส่งออกสามารถแลกเงินที่เก็บมาได้เป็นบาทได้มากขึ้น แต่ก็กระทบกับขาผู้นำเข้าที่ต้องจ่ายเป็นเงินบาทมากขึ้นเช่นกัน โดยเงินบาทยังเคลื่อนไหวตามปัจจัยหลักอย่างสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่าลง จนทำให้ ‘บาท’ แข็งค่าขึ้นตอนนี้แข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนแล้ว


    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 16 ก.ย. 2567 นี้ ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องมาที่ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถือเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ ตามทิศทางราคาทองคำโลกที่พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งมีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในระยะข้างหน้า

    ทั้งนี้ ยังเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ขาดแรงหนุน เพราะตลาดยังรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 17 - 18 ก.ย. นี้ อีกทั้งเงินบาทน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สวนทางเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางยุโรป (BOE) ยังไม่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในรอบการประชุมหน้า (แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมรอบนี้) ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิตก็ออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด

    ขณะที่สัปดาห์นี้ (16 - 20 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องติดตามทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค หลังผลการประชุมนโยบายการเงิน การเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ Dot Plots ของ Fed (17-18 ก.ย.) รวมถึงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อีกทั้งผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (19-20 ก.ย.) ธนาคารกลางอังกฤษ (19 ก.ย.) การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน รวมถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น    

    นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น อยู่ในกรอบ 33.20-33.39 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) หลังผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า Fed ยังมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. นี้ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

    สำหรับสัปดาห์นี้ (16 - 20 ก.ย.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00 - 34.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงินที่จะสูงขึ้น แนวโน้มของค่าเงินบาท ยังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลง หากผลการประชุม Fed ออกมาว่าไม่เร่งลดดอกเบี้ย และ Dot Plot ใหม่ก็ไม่ได้สะท้อนแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ย อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวัง

    ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทาง Fundflow นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาทองคำ พร้อมติดตามทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุด ออกมาแย่กว่าคาด

    ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ทิศทางของเงินดอลลาร์จะขึ้นกับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น หากเฟดไม่ได้เร่งลดดอกเบี้ยและไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งลดดอกเบี้ย ทว่า เงินดอลลาร์อาจถูกกดดันบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในกรณีที่ตลาดเชื่อว่า BOE จะไม่เร่งลดดอกเบี้ย ส่วน BOJ อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไปอีกราย! Texas Chicken ประกาศปิดทุกสาขาใน 30 ก.ย. 67 นี้ สิ้นสุด 9 ปีการดำเนินตลาดในไทย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine