ตลาดหุ้นไทยอ่อนไหว! ผลกระทบจาก 2 หุ้น ‘DELTA - AOT’ ทำ SET Index วันนี้ดิ่ง 31.96 จุด - Forbes Thailand

ตลาดหุ้นไทยอ่อนไหว! ผลกระทบจาก 2 หุ้น ‘DELTA - AOT’ ทำ SET Index วันนี้ดิ่ง 31.96 จุด

เช้าวันนี้ 17 ก.พ. 2568 SET Index หรือตลาดหุ้นไทยเปิดลบแรงถึง 31.96 จุด หรือ 2.51% มาอยู่ที่ 1,240.14 จุด โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งออกมาชี้แจงว่าเกิดจากผลกระทบราคาหุ้นใหญ่ อย่าง DELTA และ AOT ร่วงลงแรง ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยหนุนให้ฟื้น มีแต่แรงลบเข้ามากระทบ


    ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) เปิดภาคเช้าวันนี้ปรับตัวลดลง 31.96 จุด หรือ 2.51% ลดลงจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 ก.พ. 2568) มาอยู่ที่ 1,240.14 จุด สาเหตุหลักมาจากการปรับลงของราคาหุ้น 2 ตัว ได้แก่

    - บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ที่ลดลงหลังข่าวผลประกอบการที่ลดลงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ซึ่งเช้านี้ลดลงเหลือ 86.50 บาท/หุ้น ลดลงจากราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 113 บาท/หุ้น

    - บมจ. ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ที่ปรับลดลงเนื่องจากข่าวสัญญาสัมปทาน ซึ่งเช้านี้ราคาอยู่ที่ 43.00 บาท/หุ้น ลดลงจากราคาปิดวันศุกร์ที่ 47.00 บาทต่อหุ้น

    โดยล่าสุด (ณ เวลา 10.52 น.) ดัชนี SET Index อยู่ที่ 1,250.43 จุด ปรับลดลง 1.70% หรือ 21.67 จุด แต่หลายนักวิเคราะห์ยังมองว่าตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยหนุนขาขึ้น แต่ยังมี Sentiment ลบจากปัจจัยภายนอก เช่น การติดตามรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หลังประธาน Fed ส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป และตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐที่อาจจะออกมาไม่ดีอย่างที่คิด

    ด้านปัจจัยในประเทศ แม้ DELTA ยังไม่มีการชี้แจงเพิ่มเติม แต่สาเหตุหลักที่ราคาหุ้นลดลงมาจากผลประกอบการปี 2567 ที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ไม่ดีเท่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อาทิ บล.เอเซีย พลัส คาดว่าในปี 2567 DELTA จะมีกำไรปกติปี 2567 ไว้ที่ 21,000 ล้านบาท (+18% YoY) แต่กำไรสุทธิของปี 67 ออกมาเพียง 18,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% เท่านั้น


    ทั้งนี้ ปัจจัยของไทยปมปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายจับตาคือ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินด้านของผู้รับสัมปทาน (เช่น กลุ่มบริษัท คิง พาวเวอร์) โดยฝั่ง AOT ออกมาชี้แจงโดยเน้นย้ำ ยังไม่ได้แก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ (จากกรณีปัญหาสภาพคล่อง) แต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง

    ทาง AOT เล่าถึงสาเหตุของกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่ง บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุถึงปัญหาสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์อาจมีผลกระทบต่อรายได้ของ AOT หากสถานการณ์นี้ยังยืดเยื้อ ซึ่งอาจนําไปสู่การเจรจาปรับเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อตกลงสัมปทาน โดยเฉพาะในเรื่องค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ AOT จากการสัมปทานดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันรายได้จากสัมปทานมีสัดส่วนประมาณ 33% ของรายได้รวมที่ AOT คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ 2568ดังนั้น หากมีการปรับเงื่อนไขสัมปทานจริง อาจส่งผลกระทบต่อประมาณการกําไรของ AOT

    ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จํากัด (มหาชน) หรือ KS ระบุว่า AOT กําลังเผชิญกับปัญหาลูกหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้รับสัมปทานขอเลื่อนการชําระเงินออกไปอีก 18 เดือนโดยระหว่างนี้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราประมาณ 18% ต่อปี

    ทั้งนี้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ได้ส่งหนังสือถึง AOT (เมื่อ 26 ส.ค. 67) ว่าขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.), ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.), ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.), และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) โดยยกผลกระทบจาก COVID -19 ขึ้นมา (เช่น ปี 66 KPD ขาดทุน 651 ล้านบาท) ซึ่งจะขอเลื่อนออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน จากเดิมที่ครบกำหนดชําระตั้งแต่เดือนส.ค.67 - ก.ค. 68 (รวม 12 งวด)

    ในฝั่งของ AOT (หนังสือที่ ทอท.16818/2567) อนุญาตให้ KPD เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของเดือนกันยายน 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน โดยไม่ยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับจากการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว


    

ภาพ: AOT, DELTA, Andre Santana Design Andre Santana from Pixabay



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หุ้นไทยจะต่ำ 1,300 จุด ไปถึงเมื่อไร เมื่อเจอแรงกระแทก ‘สงครามการค้า-ต่างชาติเทขาย-หุ้นไทย Transform’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine