ดร.อาจารี ถาวรมาศ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ กับการสร้างพันธมิตรสองซีกโลกเอเชีย-ยุโรป - Forbes Thailand

ดร.อาจารี ถาวรมาศ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ กับการสร้างพันธมิตรสองซีกโลกเอเชีย-ยุโรป

    ภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและต่างชาติที่กำลังทำธุรกิจและวางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างไทย-ยุโรป คงไม่มีใครไม่รู้จัก ดร.อาจารี ถาวรมาศ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลและภาคเอกชนต้องเรียกหาเมื่อมีประเด็นเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรปและภูมิภาคยุโรป ดร. อาจารี เป็นหนึ่งในคนไทยคนแรกๆ และไม่กี่คน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเมือง การค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่โฟกัสภูมิภาคยุโรปโดยตรง ไม่เพียงแค่จบปริญญาโทและปริญญาเอกจากสหราชอาณาจักรด้านนี้มาโดยเฉพาะ แต่เธอยังใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตในยุโรป สั่งสมประสบการณ์การทำงานให้องค์กรระหว่างประเทศและภาคธุรกิจชั้นนำมาร่วม 20 ปี เธอเป็น Co-Founder บริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปรายแรกของไทย เหมาะสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาด วางยุทธศาสตร์ หรือเข้าไปลงทุนในยุโรป

    ล่าสุด เธอตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทยถาวร โดยการกลับมาครั้งนี้ นอกจากเธอจะได้เปิดตัวบริษัทใหม่อย่างบริษัท LINKS Advisory ด้วยคอนเซ็ปต์ LINK / ENGAGE / CHANGE ที่เน้นการทำงานกับภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ ที่สนใจทำการค้าและเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและดึงศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนของประเทศไทยออกมาอย่างมีเป้าหมายและยั่งยืน ท่ามกลางกระแสความผันผวนของเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ที่บทบาทของประเทศไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้ใครในภูมิภาค กลับมาอยู่ประเทศไทยครั้งนี้ เธอมีปณิธานที่ยิ่งใหญ่ว่า "จะเป็นกลไกเล็กๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม"

    อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งมีแพชชั่นในการศึกษาเกี่ยวกับทวีปยุโรป จนโลดแล่นอยู่ในวงการระหว่างประเทศมากว่า 20 ปี ก่อนจะพกพาประสบการณ์ระดับอินเตอร์ทั้งหมดกลับมาบ้านเกิด เพื่อหวังทำประโยชน์คืนสู่สังคม Forbes จะพาทุกคนไปสัมผัสกับเรื่องราวของผู้หญิงเก่งคนนี้พร้อมกัน


​ดร.อาจารี ถาวรมาศ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ

​เมื่อแพชชั่นพาเปิดประตูสู่ยุโรป

    ดร.อาจารี ย้อนวันวานถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจทวีปยุโรปอย่างน่าสนใจว่า เริ่มต้นตั้งแต่สมัยเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกสเปน หลังจากเรียนจบ เธอก็เป็นนักศึกษาคนแรกที่สมัครเรียนต่อหลักสูตรปริญญาโท ในสาขายุโรปศึกษา ที่จุฬาฯ

    "ตอนนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของยุโรป การบูรณาการและความร่วมมือของประเทศยุโรปต่างๆ จนเป็นสหภาพยุโรป (อียู) ประสบความสำเร็จมาก ทั้งผ่านการรวมตัวด้านเศรษฐกิจแบบมีตลาดเดียว การมีเงินยูโร มีนโยบายต่างประเทศร่วม และเริ่มมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น ทำให้เริ่มชอบและสนใจเรื่องยุโรปตั้งแต่นั้นมา หลังจากเรียนจบก็ได้เข้ารับราชการประจำอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทำงานด้านยุโรป การทำงานที่นี่ทำให้มีโอกาสได้ฟังวิสัยทัศน์ของผู้นำและนักธุรกิจระดับโลกที่มาเยือนและหารือกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไทย ทำให้ยิ่งสนใจเรื่องเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้นไปอีก จนได้รับทุนจากรัฐบาลอังกฤษไปศึกษาต่อด้าน International Political Economy ที่ Warwick University และเรียนต่อปริญญาเอกด้าน Politics, International Relations and European Studies ที่ Loughborough University ประเทศอังกฤษเช่นกัน"

    ดร.อาจารี เล่าอย่างออกรสว่า ช่วงที่กำลังจะจบปริญญาเอก ก็ได้รับการทาบทามจากสถานทูตไทยที่กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งตอนนั้นต้องการคนไทยที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสหภาพยุโรป และรู้ลึกเรื่องกลไกการทำงานของสหภาพยุโรป ไปทำงานที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

"บทบาทที่ได้รับตอนนั้นคือ เป็นผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรป คอยติดตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับหรือเทรนด์ต่างๆ ในสหภาพยุโรป ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยให้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับนโยบายและกฎระเบียบใหม่ๆ หรือ ถ้าเรื่องไหน ภาคธุรกิจเห็นว่าเป็นโอกาส สามารถปรับตัวได้ก็จะเป็นประโยชน์ในการทำการค้ากับยุโรป"

    หลังจากนั้น ดร. อาจารี ได้เปิดบริษัท Access-Europe โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ช่วยนักธุรกิจ นักลงทุนไทย ที่ต้องการเข้าไปเจาะตลาดยุโรป มีความรู้เข้าใจกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันก็เป็นที่ปรึกษาให้สหภาพยุโรปสำหรับการดำเนินโครงการและยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

    "เราทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านเอเชีย-ยุโรป ให้กับสหภาพยุโรป อยู่กว่า 15 ปี ใช้ชีวิตอยู่ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี แต่จะบินมาทำงานที่บรัสเซลส์อยู่ตลอด เพราะหน่วยงานสำคัญๆ ของสหภาพยุโรปจะอยู่ที่นี่หมด จนเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันด้วยเนื้องานที่ทำกับทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้เรามีโอกาสเดินทางไปร่วมงานประชุมสำคัญระดับผู้นำระหว่างเอเชีย-ยุโรปนับครั้งไม่ถ้วน และได้ร่วมวางกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ต่างๆ ของยุโรปต่อภูมิภาคเอเชีย ได้เรียนรู้วิสัยทัศน์จากผู้นำภาครัฐและเอกชนหลากหลายประเทศ และสั่งสมคอนเนกชั่นกับบุคคลจากหลายภาคส่วน ซึ่งเราชอบงานนี้มาก รู้สึกว่าเหมาะกับแครักเตอร์ของตัวเอง"

​ดร.อาจารี ถาวรมาศ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ

​ต่อยอดประสบการณ์ก้าวสู่บทใหม่ในประเทศไทย

    แต่แล้วชีวิตที่ดูเหมือนจะราบเรียบก็มาพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อดร.อาจารี ตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวรเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากจากเมืองไทยไปกว่า 20 ปี แต่การกลับมาครั้งนี้ เธอมาพร้อมประสบการณ์หลากหลายในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับรัฐบาลนานาประเทศ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ภาคธุรกิจชั้นนำและความมุ่งมั่นที่จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการตอบแทนสิ่งดีๆ สู่สังคม เธอเริ่มต้นด้วยการการเปิดบริษัท LINKS Advisory

    "เรานิยามตัวเองว่าเป็น Public Affair Consultancy ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คอยสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติ ที่อยากเข้ามาเป็นพันธมิตรด้านการค้าและการลงทุนรัฐบาลและภาคธุรกิจไทย พร้อมนำความรู้ ประสบการณ์ และคอนเนกชั่นที่เราสั่งสมมาทั้งชีวิต มาเป็นตัวกลางสร้างพันธมิตรระหว่างสองซีกโลก"

    ดร.อาจารี บอกเล่าถึงผลงานที่ชื่นชอบ มีความถนัด และภาคภูมิใจหลากหลายโครงการ ทั้งงานด้านการกำหนดยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาระดับประเทศและระดับภูมิภาค การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างสหภาพยุโรปกับคู่ค้าต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย และงานที่ปรึกษาด้านเทคนิคที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในกลไกการทำงานและกระบวนการออกกฎหมายของยุโรป พร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างลึกซึ้ง

    "หนึ่งในผลงานที่ภูมิใจมาก คือ การได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมงานของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาประมงเถื่อนหรือ IUU และนำประเทศไทยไปสู่การประมงแบบยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยที่ถูกสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง IUU ได้ปลดล็อกเป็นใบเขียวได้อย่างทันท่วงที การส่งออกสินค้าประมงดำเนินต่อไปได้ และชาวประมงได้ปรับตัวสู่การทำประมงที่เป็นมิตรกับท้องทะเลและยั่งยืนมากขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจสีเขียวและเรื่อง Corporate Sustainability ตั้งแต่นั้นมา"

    นอกจากนี้ เรายังทำงานในบอร์ดบริหารของสมาคมการค้าไทย-ยุโรป (Thai-European Business Association -TEBA) ซึ่งเป็นสมาคมธุรกิจที่รวมกลุ่มบริษัทและนักลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค นวัตกรรม เทคโนโลยีชั้นสูงต่างๆ ของยุโรปที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเรามองว่า เป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอร์สำคัญในการผลักดันศักยภาพเศรษฐกิจไทย เพราะประเทศไทยยังต้องการการลงทุน เม็ดเงิน เทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ หากเราสามารถผลักดันให้นักลงทุนยุโรปเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ช่วยสร้างงานและสร้างรายได้มหาศาลให้กับคนไทย"

​    ดร. อาจารี ยังแชร์มุมมองทางธุรกิจว่า "ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกที่ยังเต็มไปด้วยความเห็นต่าง การแข่งขันที่สูง และต้องการตัวกลางเพื่อสร้างความร่วมมือและพันธมิตร ทำให้ธุรกิจที่ปรึกษาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มาแรง สำหรับบริษัท LINKS Advisory มองว่าจุดแข็งที่จะทำให้โดดเด่นและแตกต่างจากบริษัทที่ปรึกษาอื่นๆ คือ เครือข่ายของที่ปรึกษาชั้นนำที่พร้อมเชื่อมต่อผลประโยชน์ของภาคส่วนต่างๆเข้าด้วยกันอย่างลงตัว พร้อมแก้ปัญหาทางธุรกิจ และดึงโอกาสออกมาจากวิกฤติได้อย่างยั่งยืน"​

    "ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ใช่ตัวเลือกเดียวในภูมิภาคบริษัท LINKS Advisory จึงเน้นการสร้างคอนเนกชั่นในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน เรามีเครือข่ายกับบริษัทที่ทำแบบเราในหลายประเทศ เพื่อเป็นโซลูชั่นให้ภาคธุรกิจในการเข้าตลาดเอเชีย เราไม่ได้เน้นรับลูกค้าเยอะ แต่เน้นการเป็น Trusted Partner ที่สำคัญเรามีมิชชั่นว่าอยากเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในประเทศไทย เป็นธุรกิจและการลงทุนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิง สิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ใช่แค่ในมิติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว"


​ดร.อาจารี ถาวรมาศ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ

​ผลักดันธุรกิจที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน เน้นความยั่งยืน

    ส่วนที่หลายคนมองว่า เวลานี้เป็นช่วงยุโรปขาลง ดร.อาจารี มองว่าตลาดสหภาพยุโรปมีประชากรเกือบ 500 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นต่อให้จะเป็นช่วงที่ขาลงก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อมากนัก

    "ยุโรปนอกจากจะมีมาตรฐานและเทคโนโยลีที่สูง ยังมีศักยภาพในการซื้อที่สูงด้วย และยอมซื้อของมีคุณภาพแม้ราคาแพง แต่สินค้าต้องมี Value เช่น อาหารออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก รักษาสิ่งแวดล้อม ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ไม่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการไทยที่อยากจะขายสินค้าไปที่ยุโรป แม้กฎเกณฑ์ต่างๆ จะยาก ถ้าเน้นสินค้าที่มี Value added ยังไปได้ ที่สำคัญธรรมชาติของลูกค้ายุโรป ถ้ามั่นใจแล้ว เขาพร้อมเป็นลูกค้ายาวๆ"

    ดร. อาจารี จึงตั้งเป้าหมายว่า "จะช่วยภาคธุรกิจไทยให้ปรับตัวตามเทรนด์และมาตรการใหม่ๆ ของสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพชีวิตของคนไทยไปได้พร้อมๆ กัน"

ผสมผสานการทำงานแบบ East Meets West อย่างลงตัว

    ปิดท้ายด้วยสไตล์การทำงานของแม่ทัพหญิงคนเก่งที่มีความเป็นลูกผสมระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกที่น่าสนใจ ดร.อาจารี บอกว่า การเป็นคนเอเชียที่ไปใช้ชีวิตที่ยุโรปมาครึ่งชีวิต ทำให้เธอมีความเข้าใจธรรมชาติของคนทั้งสองซีกโลกเป็นอย่างดี และรับมือกับความหลากหลายของเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี บวกกับการทำงานกับประเทศในกลุ่มอียู ที่มีถึง 27 ประเทศ ทำให้เธอไม่เพียงสามารถสื่อสารได้ถึง 4 ภาษา ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย ที่สำคัญคือ เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นสูง

    "ด้วยความที่ลูกค้าที่เข้ามามีหลากหลายมาก สโคปงานมีตั้งแต่งานนโยบายยุทธศาสตร์ระดับชาติระดับนานาชาติ และงานที่ต้องลงลึกไปศึกษาและคลุกคลีกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ตอนที่ทำเรื่องประมง ก็ต้องลงเรือไปกับชาวประมง แต่ถ้าทำงานเชิงนโยบาย ก็จะเน้นไปที่การประชุมระดับผู้นำประเทศ การเจรจาหรือไปร่วมงานกาลาดินเนอร์ จะเห็นว่า ถึงแม้เนื้องานมีความหลากหลาย มีทุกระดับ แต่ไม่ใช่ปัญหา เพราะเราปรับตัวได้ดีอยู่แล้วและสามารถทำทุกงานได้อย่างมีคุณภาพ"

​    ดร. อาจารี มีอีกแพชชั่นที่อยากทำคือการทำงานเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งและพลังของผู้หญิงหรือ Woman Empowerment ทั้งในเวทีธุรกิจ สังคม ครอบครัว และการใช้ชีวิตทั่วไป "การเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวและมีลูกสาว ทำให้อยากมีส่วนในการช่วยผลักดันบทบาทของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงให้เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ให้พวกเขาดึงศักยภาพออกมาใช้อย่างเต็มที่ เต็มไปด้วยความแข็งแกร่งและอ่อนหวาน และเป็นกลไกสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศไทย"