แบงก์ชาติ ปลดล็อก LTV กระตุ้นอสังหาฯ 8 แสนล้าน - Forbes Thailand

แบงก์ชาติ ปลดล็อก LTV กระตุ้นอสังหาฯ 8 แสนล้าน

แบงก์ชาติ ผ่อนคลายเกณฑ์คุมสินเชื่อ (LTV) 1 ปี ดึงกำลังซื้อระดับบนเร่งการฟื้นตัวภาคอสังหาฯ มูลค่า 8 แสนล้านบาท ปลดล็อกทุกสัญญา ทุกระดับราคาบ้าน รวมบ้านมือสอง ไม่ห่วงเก็งกำไร ชี้หลายประเทศใช้เป็นมาตรการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หนุนจ้างงาน 2.8 ล้านราย

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ แม้มีแนวโน้มจะทยอยฟื้นตัวได้จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้เปิดประเทศได้เร็วกว่าคาด แต่การฟื้นตัวยังเปราะบางจากความไม่แน่นอนสูงและฐานะการเงินของบางภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะซบเซาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอและภาคก่อสร้างที่ได้รับผลจากการระบาด ธปท. ประเมินแล้วเห็นว่า เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงาน จึงควรเร่งเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งหรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ ผ่านการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว สำหรับสาระสำคัญของการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ มีดังนี้ 1. กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็นร้อยละ 100 (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (2) กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป 2. การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 “ธปท. คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่าร้อยละ 9.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน” ดร.รุ่ง กล่าว ทั้งนี้ ธปท.ประเมินแล้วว่าภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ประกอบกับในปัจจุบัน สถาบันการเงินมีมาตรฐานการให้สินเชื่อที่รัดกุม โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ในระยะยาวเป็นหลัก ธปท. จึงประเมินว่าความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่จะมาจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะหนึ่งปีข้างหน้ามีจำกัด โดย ธปท. จะติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรฐานการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และความสามารถของประชาชนในการกู้หรือซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการได้อย่างเท่าทันและเหมาะสมต่อไป

หวังกระตุ้นภาคอสังหาฯ 8 แสนล้านบาท

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งประเมินแล้วว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวช้า โดยข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวในปี 2568 ธปท.จึงต้องออกมาตรการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ เพราะมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทย มีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั้งธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 แสนล้านบาท ไม่นับรวมสินเชื่อของระบบสถาบันการเงิน “การผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดการให้สินเชื่อราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะผสานไปกับมาตรการการคลัง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาต่ออายุมาตรการด้านภาษี ค่าธรรมเนียมการจด จำนอง เป็นการเติมเงินใหม่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ดึงกำลังซื้อคนระดับบนเข้ามากระตุ้นธุรกิจและธุรกิจที่เกี่ยวเนื้องให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เราให้เป็นมาตรการชั่วคราว 1 ปี เพื่อให้เป็นนาทีทองสำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อ” ดร.ดอน กล่าว ทั้งนี้ จากการศึกษาของ ธปท.พบว่าหลายประเทศใช้มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น นิวซีแลนด์ อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเช็ก และฮ่องกง ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ราคาของอสังหาฯ ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา ราคาบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม ในประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเห็นสัญญาณการเก็งกำไร ก็ยกเลิกมาตรการก่อนกำหนด แต่สำหรับประเทศไทย เชื่อว่าจะไม่เกินสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ จากความเป็นห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ธปท.ได้ศึกษาแล้ว หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนี้บ้านมีน้อยมาก และปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งกลุ่มมีกำลังซื้อในตลาดระดับบนไม่มีปัญหาดังกล่าว ถือเป็นการดึงเม็ดเงินระดับบนมาช่วยระดับล่าง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความมั่นคงมากขึ้น อ่านเพิ่มเติม: มายด์แชร์ (ประเทศไทย) เผย 5 เทรนด์อินฟลูเอนเซอร์มาแรง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine