กลุ่มซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า เศรษฐกิจอาเซียน ยังแกร่ง และจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2564 รวมทั้งเห็นแนวโน้มกระแสควบรวมกิจการเพื่อรักษาธุรกิจ เพิ่มความแข็งแกร่ง ซีไอเอ็มบี ไทย ชู จุดแข็ง ASEAN PLATFORM พร้อมสนับสนุนลูกค้าชิงโอกาสหลังโควิด
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ปีหน้าจะเห็น เศรษฐกิจอาเซียน ที่แต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ฟื้นตัวได้เร็วและเร็วกว่าประเทศตะวันตก โดยอาศัยกำลังซื้อจากคนในประเทศเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้กำลังซื้อในประเทศสูง อีกทั้งแต่ละประเทศในอาเซียนค้าขายภายในภูมิภาคกันค่อนข้างมาก แม้โดนผลกระทบโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจหดตัว แต่ปีหน้าถือว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนยังมีศักยภาพในการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ประเทศอาเซียนที่น่าจับตาเป็นพิเศษ คือ เวียดนาม เพราะปีนี้ เวียดนามเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจชะลอ แต่ยังคงเป็นบวก โดยปีนี้คาดว่าเวียดนามจะยังโตได้อีกร้อยละ 2-3 จากเดิมโตได้ร้อยละ 6-7 อีกทั้งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี แม้ว่าจะมีการกลับมาเกิดรอบสองที่ดานัง แต่ควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ขณะที่การส่งออก เวียดนามสามารถหาตลาดใหม่ๆ ชดเชยตลาดจีนในสหรัฐได้ อีกทั้งถ้ามองต่อไป การค้าการลงทุนกับยุโรปจะเดินหน้าได้ ผ่าน FTA ซึ่งยุโรปมีการย้ายฐานจากจีนเข้ามาสู่เวียดนามได้ ดร.อมรเทพ กล่าวว่า การเติบโตของเวียดนามเป็นโอกาสของภูมิภาคนี้ เพราะเมื่อเวียดนามเติบโตได้ ก็ต้องใช้ทรัพยากรจากประเทศอื่น ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมส่งต่อให้ประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นเหมือนชิ้นส่วนประกอบสำหรับการส่งออกอีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ประเทศไทยก็สามารถรับอานิสงส์การเติบโตของเวียดนามได้ “แม้จะยังไม่สามารถค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้สำเร็จ แต่สุดท้ายเรายังเชื่อว่าภูมิภาคนี้มีจุดแข็งภายในจากกำลังซื้อในประเทศ และจากชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตได้ดี อีกทั้งความเป็นเมือง (urbanization) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โตได้ดีปีหน้า แม้ปีนี้เศรษฐกิจอาจจะติดลบ ส่วนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ แต่โดยรวมจะฟื้นตัวได้รวดเร็วปีหน้า” ดร.อมรเทพ กล่าวว่า ด้าน พรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า อนาคตอันใกล้อาจจะได้เห็นภาคธุรกิจปรับตัวขนานใหญ่ โดยจะมุ่งเน้นในธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และเลือกลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพเป็นหลัก โดยช่วงที่เศรษฐกิจดี บริษัทต่างๆ จะต่อยอดธุรกิจโดยขยายการลงทุนออกไปในทุกตลาดที่เห็นโอกาส แต่ในภาวะเช่นนี้ จะเริ่มเห็นแนวโน้มของธุรกิจขนาดกลางที่เข้ามาจับมือกันเพื่อความอยู่รอดกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่บริษัทใหญ่ๆในไทยที่มีความพร้อม จะอาศัยช่วงจังหวะนี้ในการซื้อกิจการเพื่อเติบโตและขยายฐานธุรกิจของตนเองออกไปในภูมิภาคอาเซียน “จริงๆ แล้วสถานการณ์โลกตอนนี้ไม่ได้มีแค่โควิด-19 เรื่องเดียว โควิด-19 เป็นเพียงตัวเร่งให้หลายสิ่งเกิดเร็วขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้แสดงศักยภาพ ดังจะเห็นได้จากประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโดย The Global COVID-19 Index (GCI)” พรชัย กล่าวว่า อาเซียนมีศักยภาพที่จะดันตัวเองให้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง อาเซียนเด่นเรื่องอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน บริษัทต่างๆ ต้องสร้างคุณค่าเพิ่มให้ธุรกิจของตัวเอง โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีจุดแข็ง คือ ASEAN PLATFORM ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานระดับภูมิภาคของซีไอเอ็มบีกรุ๊ป มีเครือข่ายทั้งในและนอกภูมิภาค สามารถแนะนำและส่งต่อลูกค้าระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนธุรกรรมทางการเงินให้ลูกค้าไทยไปเติบโตในต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่สนับสนุนสินเชื่อ เทรดไฟแนนซ์ การควบรวมกิจการ วาณิชธนกิจ ไปจนถึงบริหารความเสี่ยงทางการเงิน โอกาสลงทุนหุ้นอาเซียน เกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีพบว่ามีนักลงทุนใหม่ที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นมาเปิดบัญชีลงทุนหุ้น จากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าพัน และ rebound ทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรกคึกคักเพราะมีโอกาสที่รายย่อยเข้าซื้อขายทำกำไรได้พอสมควร แต่ไตรมาสสามเป็นต้นไป ตลาดไม่ได้หวือหวาเท่าครึ่งแรก แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว แต่การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจะไม่เร็วเท่า จะซึมๆ ในช่วงแรก จึงเกิดคำถามว่าตลาดหุ้นไทยแพงไปรึยัง ยังน่าลงทุนอยู่ไหม การไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศจึงกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจขึ้นมาก เดิมตลาดหุ้นในอาเซียนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน แต่มาปีนี้ ความน่าสนใจตลาดหุ้นแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และแตกต่างกันราย sector สำหรับ sector ที่มีผลงานโดดเด่น ได้แก่ หุ้นกลุ่มไฮเทค และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้อานิสงส์จากวิถีชีวิตใหม่หลังโควิด ส่งผลให้ตลาดหุ้นที่มีหุ้น 2 กลุ่มนี้จดทะเบียนจำนวนมากจะ perform ได้ค่อนข้างดีกว่า เช่น ตลาดหุ้นเกาหลี ไต้หวัน ตลาดมองว่าจะยังมีโอกาสวิ่งต่อไปได้อีก เพราะคนต้องปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ หรือตลาดหุ้นมาเลเซียที่คึกคักและมีความโดดเด่นจากธุรกิจถุงมือยางทางการแพทย์ที่มูลค่าตลาดสูงกว่าไทย สำหรับตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาพอสมควร ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงมาร้อยละ 17 นับตั้งแต่ต้นปี (ปรับตัวลดลงร้อยละ 21 กรณีคำนวณเป็นดอลลาร์สหรัฐ) แต่ไม่ได้แย่ทั้งตลาด ขึ้นอยู่กับราย sector เช่นกัน หุ้นในประเทศกลุ่ม perform ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหุ้นกลุ่มที่ไม่ perform ได้แก่ ธนาคาร ขณะที่โรงพยาบาลในประเทศอื่นในอาเซียน perform ได้ดีกว่าในไทย เนื่องจากโรงพยาบาลในไทยขาดรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติ อ่านเพิ่มเติม: บ้านปู ขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานลมเวียดนามไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine