เจ.พี.มอร์แกน ประเทศไทย แถลงขยายตลาด ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) สู่การขาย DW บนหุ้นสามัญต่างประเทศครั้งแรกในประเทศไทย คาดหวังเปิดขาย 40 รายการภายในสิ้นปีนี้ และเติบโตเป็นผู้นำการขาย DW มากที่สุดในไทยจำนวน 400 รายการ
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เจ.พี.มอร์แกน ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทต้องการเข้าถึงผู้บริโภครายย่อยให้มากขึ้นผ่านการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant: DW) ซึ่งจะมีทั้ง DW บนหุ้นสามัญประเทศไทยและหุ้นสามัญต่างประเทศ สำหรับ DW บนหุ้นต่างประเทศนั้นจะถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการขายเกิดขึ้น นับจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติตราสารประเภทนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2561
“แม้เราจะไม่ใช่รายแรกที่เปิดขาย แต่เราจะเป็นรายใหญ่ที่สุด โดยคาดว่าจะออกขาย DW 400 รายการภายในสิ้นปี ส่วนการขาย DW ต่างประเทศจะเริ่มจากบนดัชนีหลักทรัพย์ก่อนแล้วค่อยขยับเป็นหุ้นรายตัวเข้ามา เชื่อว่าจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีความสมบูรณ์ และอนาคตจะทำให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค CLMV” ม.ล.ชโยทิตกล่าว
ด้าน
วัชริดา บุญทวีพัฒน์ กรรมการบริหาร
บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน ประเทศไทย เสริมว่า
ตลาดหุ้นต่างประเทศที่ เจ.พี.มอร์แกนจะออก DW นั้นน่าจะเป็นตลาดในไทม์โซนที่ใกล้เคียงกัน วางเป้าหมายจดทะเบียน 40 รายการ (จากทั้งหมด 400 รายการ) ในปีนี้ โดยปัจจุบันบริษัท เจ.พี.มอร์แกน เป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงจากรายการเสนอขาย 5,000 รายการ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดราว 30%
ขณะที่ประเทศไทยนั้น บริษัทหวังว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดในเบื้องต้น 5-10% โดยมีจุดแข็งนอกจากเป็นบริษัทแรกที่เปิดขาย DW บนหุ้นต่างประเทศแล้วนั้น ยังเป็นบริษัทที่มีตัวเลือกเสนอขาย DW แบบที่มีค่าความผันผวนแบบแปรผัน (flexible volatility) ด้วย โดยมีข้อดีกว่าแบบค่าความผันผวนคงที่ (fixed volatility) คือนักลงทุนจะถือได้นานกว่าและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า
“DW จะโตได้ต้องมีรายย่อยที่เข้าใจจำนวนมากๆ เข้ามาลงทุน ซึ่งตั้งแต่ตลาดไทยมีการเปิดขายครั้งแรกในปี 2552 นักลงทุนไทยก็มีการตอบรับดี เป็นตลาดที่มีศักยภาพ” วัชริดากล่าว
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า DW เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญมาก ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2552 ปัจจุบันมี DW จดทะเบียนอยู่ 1,600 รายการ และมีการซื้อขายหลักพันล้านบาทต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของปริมาณซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมดประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน
“เมื่อเรามีกลุ่มนักลงทุนที่เป็น speculator หรือเป็น hedger เขาก็ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เปิดปิดความเสี่ยงได้ ซึ่ง DW ก็คือผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ตอบโจทย์เพราะเข้าออกง่าย สภาพคล่องมาก โอกาสการเติบโตมีสูงเพราะตลาดไทยเพิ่งจะเริ่มๆ ในขณะที่ต่างประเทศอย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์ ตลาด DW โตกว่าสินค้าอ้างอิง (underlying asset) 2-3 เท่า และเมื่อตลาดเรามีสภาพคล่องสูงขึ้นก็จะดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ เข้ามา ต่อไปตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะมีนักลงทุนหลากหลาย” ดร.ภากรกล่าว
สำหรับ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ในไทยที่ออกโดยเจ.พี.มอร์แกนจะทำการซื้อขายโดยใช้รหัสผู้ออก “DW41” และบริษัทจะเปิดให้ศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่
www.JPMorganDW41.com ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป