ธนาคาร ซิตี้แบงก์ สรุปภาพรวมเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังและแนะแนวทางสำหรับการจัดพอร์ตลงทุนท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและแนวโน้มของเศรษฐกิจถดถอย ในงาน Citigold Mid-Year Outlook 2022 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ซิตี้แบงก์ อัปเดตข้อมูลเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2565 โดยชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลาแห่งความท้าทายสำหรับการลงทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์เงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อซัพพลายเชนและเศรษฐกิจมหภาค Ken Peng นักยุทธศาสตร์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ในไตรมาสสอง เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ Fed ยังคงมีนโยบายขึ้นดอกเบี้ยเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดที่ได้รับผลกระทบอันเห็นได้ชัด ได้แก่ ตลาดการเคหะหรือ Housing Market ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงราคาบ้านที่ร่วงลงอย่างรวดเร็วเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยเพื่อกู้ซื้อที่สูงขึ้น จากการขึ้นนโยบายการเงินของ Fed คาดว่ามีความเสี่ยงของการเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ Peng ชี้ให้เห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนประเภทตราสารหนี้ระยะยาว โดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากมีราคาถูกและมีปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้น สัมพันธ์กับนโยบายขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในปี 2019 อย่างไรก็ตาม Peng คาดว่า Fed จะผ่อนผันนโยบายและจะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 3.40 ในเดือนกุมภาพันธ์ ของปี 2023 Peng ยังมองว่า ขณะนี้เทรนด์การลงทุนระยะยาวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ รวมถึงมีการเติบโตที่ให้ผลดีในระยะยาวและยั่งยืนนั้น ได้แก่ กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชัน ฟินเทค กลุ่มการดูแลสุขภาพและเภสัชกรรม ตลอดทั้งกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ การลงทุนทางเลือกนอกเหนือจากสินทรัพย์หลักในช่วงตลาดผันผวน เช่น กองทุน Hedge Fund และ Liquid Alternative ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถซื้อขายได้ทุกวัน กองทุนบริหารความเสี่ยง หรือในสินทรัพย์ตราสารทุนนอกตลาด หรือ หุ้นนอกตลาด (Private Equity) จะสามารถลดความเสี่ยงในพอร์ตโฟลิโอได้ในระยะยาว โดยสรุป ในช่วงวิกฤตเงินเฟ้อและแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย Investment Theme นั้นเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว หุ้นปันผลในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พลังงานสีเขียว และ Priavte Equity เป็นหลัก โดย Peng ให้ความเห็นว่า การมีตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุนนั้นถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ทางด้านของเศรษฐกิจจีนโดยรวมนั้นได้รับความเสี่ยงจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการบังคับใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงต้องอาศัยนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้ตลาดมีการฟื้นตัว โดยซิตี้แบงก์แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนจากปริมาณหุ้น IPO ที่จดทะเบียนในฮ่องกง รวมถึงปริมาณเงินกู้ในระบบซึ่งมีการชะลอตัวมาโดยตลอด หากทั้งสองปัจจัยมีปริมาณเพิ่มขึ้น นั่นแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน อย่างไรก็ตาม Peng ชี้ว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นจีนปัจจุบันมีราคาถูก สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทย นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์จากทีม Research ของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเติบโตของจีดีพีไทยในปี 2565 ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.5 (จากเดิมร้อยละ 3.6) และปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 (จากเดิมร้อยละ 4.8) ในขณะที่ตัวเลขจำนวนการว่างงานลดลงจากไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว เหลือร้อยละ 1.4 จาก 1.6 ในไตรมาสสองของปีนี้ ในขณะที่ตัวเลขการลงทุนยังคงส่งสัญญาณไปในทางที่ดี ด้านการส่งออกในปีนี้ บางภาคส่วนยังไม่เติบโตเท่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ภาคสินค้าเกษตรกรรมยังคงทำผลประกอบการได้ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังคาดว่าค่าเงินบาทอ่อนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ซิตี้แบงก์กล่าวว่าการลดมาตรการจำกัดการเดินทางจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งโดยอาศัยภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนถึง 19.5 ล้านคนเข้าประเทศในปี 2566 ส่งผลดีต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะธุรกิจสายการบินที่อาจมีการจ้างงานมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนภาคโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ชะลอตัวลงจากวิกฤตโรคระบาดก่อนหน้านี้น่าจะมีการฟื้นตัวในเฟส 2 ของ EEC ทั้งนี้ ซิตี้แบ้งก์ยังคงแนะให้นักลงทุนจับตาดูความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เช่น สภาวะเงินเฟ้อ สงครามยูเครน-รัสเซีย นโยบายของ Fed รวมถึง การชะลอตัวของเศรษฐกิจมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงท้ายของการสัมนา ทางซิตี้แบงก์ได้เชิญบริษัทด้านบริหารกองทุนชั้นนำ 2 แห่งจากสหรัฐฯ ได้แก่บริษัท PIMCO และ Wellington Management มาพูดคุยถึงประเด็นปัญหาเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวโน้มการลงทุนที่น่าสนใจของตลาดโลก ทาง PIMCO กล่าวว่า สภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้ไม่รุนแรง แต่อาจมีความยืดเยื้อ โดย PIMCO ให้ความเห็นไปในทางเดียวกับ Peng ว่า ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ปัจจุบันมีความดึงดูดสูง โดย Yield หรืออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับตัวขึ้นสูงมาก โดยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า อยู่ที่ร้อยละ 4 ทางด้าน Wellington Management ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของซิตี้แบงก์ แนะนำให้นักลงทุนพิจารณากองทุนด้าน Health Care หรือธุรกิจสุขภาพ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เนื่องมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ สังคมสูงวัย หรือ aging society ที่ขยายตัวมากขึ้น ปริมาณความต้องการของกลุ่มตลาดซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Wellington Management มองว่าร้อยละ 65 ของจำนวนประชากรโดยเฉลี่ยจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเมื่อมีอายุหลัง 65 ปี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล รวมถึง ปัจจัยอันเกิดจากดิสรัปชั่น ซึ่งนำไปสู่การควบรวมและการลงทุนในกิจการด้านสุขภาพในอนาคต ดังนั้น หลักสำคัญในการลงทุนด้านธุรกิจสุขภาพ คือการทำ stock selection ในหุ้นที่มีคุณภาพดีและมีการประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม อ่านเพิ่มเติม: กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เผยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2565ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine