กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กำไรจากการดำเนินงานเติบโตร้อยละ 3.4 สินเชื่อเติบโตร้อยละ 8.9 ก้าวสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ ชูกลยุทธ์จับมือฟินเทครุกตลาดสินเชื่อบุคคล
ฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG เปิดเผย ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ว่าภาพรวมธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จากแนวโน้มที่ดีขึ้นของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2565 กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีสินทรัพย์สุทธิ 274,298 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 3.7 กำไรจากการดำเนินงาน 2,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 745 ล้านบาท สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ตั้งเป้าเป็นสถาบันการเงินที่เติบโตอย่างยั่งยืน และปรับเปลี่ยนองค์กร ด้วย Digital Transformation และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ด้วยการบูรณาการปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ผ่านนโยบายการให้สินเชื่อตามกรอบแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (Responsible Lending) และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว รวมทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าและสังคมเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน ชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ครึ่งแรกของปี 2565 ถือว่าเติบโตได้ดี โดยเฉพาะสินเชื่อเติบโตร้อยละ 8.9 จากสิ้นปี 2564 ซึ่งเติบโตในทุก Segment โดยสินเชื่อธุรกิจเติบโตร้อยละ 7.2 สินเชื่อรายย่อยเติบโตถึงร้อยละ 18.3 ทั้งจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงการขยายตัวได้ดีของกลุ่มลูกค้าไต้หวัน ที่เติบโตถึงร้อยละ 49.8 และสินเชื่อ Trade Finance เติบโตร้อยละ 68 จากสิ้นปี 2564 สอดคล้องกับธุรกิจส่งออกและนำเข้าของไทยที่มีศักยภาพการเติบโตสูง รวมกับการสนับสนุนจาก CTBC ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ของไต้หวัน ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่ม นอกจากนี้สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างมากคือการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2565 ของธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 1,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิถึงร้อยละ 15.7 และรายได้จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายประกัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.6 ทั้งนี้ธนาคารยังคงตั้งสำรองค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามหลักความระมัดระวังเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 196 โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ลดลงจากร้อยละ 2.44 ณ สิ้นปี 2564 เหลือร้อยละ 2.40 ณ ไตรมาส 2 ของปี 2565 สำหรับด้านเงินกองทุนยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 16.4 อยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ขณะที่หลังหักสำรองฯ ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 431 ล้านบาท ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้บริการแอปพลิเคชัน Profita ที่มี Feature สำคัญที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้า ในทุกจังหวะการลงทุน รองรับคำสั่งซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยนกองทุน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีกองทุนแนะนำ มีบทวิเคราะห์ สภาวะตลาดที่เปรียบเทียบได้ถึง 15 กองทุนในเวลาเดียวกัน และธนาคารอยู่ระหว่างพัฒนาบริการใหม่บนแพลตฟอร์ม Profita คือ บริการ ROBO Advisor เป็นบริการวางแผนการลงทุน และจัดพอร์ตการลงทุนแบบอัตโนมัติที่ออกแบบและคัดสรรโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งจะมีการติดตามและปรับสัดส่วนการลงทุน โดยลูกค้าสามารถเลือกที่จะให้ระบบปรับสัดส่วนการลงทุนแบบอัตโนมัติหรือให้ระบบแจ้งเตือนเพื่อตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการ ROBO Advisor ในไตรมาส 4 นี้ ด้านกลยุทธ์ธนาคารยังคงเดินหน้าพัฒนา Digital Infrastructure และ Platform เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าภายใต้แนวคิด Customer Centric ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในทุก Segment โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล Pro-fit ที่ลูกค้าให้ความสนใจเป็นอย่างมากเพราะความง่ายและสะดวกในการเปิดบัญชีผ่านMobile Banking LH Bank M Choice ทำให้ยอดเงินฝากสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 121.8 และมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 48 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 16% เนื่องจากสภาวะตลาดการลงทุนมีปัจจัยลบ บริษัทจึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้ผู้ถือหน่วยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สำหรับผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการกองทุน บริษัทบริหารกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) มูลค่าประมาณ 58,124 ล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 13,025 ล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 5,747 ล้านบาท โดยบริษัทเน้นเติบโตในกองทุนส่วนบุคคลและการลงทุนระยะยาว ทำให้กองทุนส่วนบุคคลมีขนาดเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 ราว 3,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 38 รวมทั้งได้พัฒนาช่องทางบริการในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้สะดวกยิ่งขึ้น และจัดตั้งกองทุนรวมที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสอดคล้องกับภาวะตลาด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่สามารถรักษาเงินต้น และมีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับตลาดการลงทุน เช่น กองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์นอกตลาด (Private Equity Fund) และกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Real Assets Fund) บริษัทได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จการใช้นวัตกรรมสร้างความสำเร็จ “ Excellence in Innovation ประเภท House Awards” จาก Fund Selector Asia Awards Thailand 2021 และปี 2022 ปัจจุบัน LH Fund มีกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับจาก Morningstar จำนวน 51 กองทุน (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2565) ด้าน กานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Securities เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2565 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 316.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากธุรกิจอื่นที่มิใช่ค่านายหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เช่น รายได้ดอกเบี้ยรับจากการเติบโตของลูกค้า กำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน และรายได้อื่น รวม 211.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้ค่านายหน้า 105.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2564 ตามการปรับตัวลงของตลาดหุ้น และมีกำไรสุทธิ จำนวน 138.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนของปี 2564 กลยุทธ์ของบริษัทยังคงเน้นขยายฐานลูกค้าจากการใช้ Big Data การเพิ่มช่องทางบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การเปิดบัญชีและยืนยันตัวตนแบบออนไลน์ การขยายลูกค้าในกลุ่ม Mass ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เติบโตอย่างโดดเด่นในตลาดการเงินของไทย ตลอดจนนำความเชี่ยวชาญของ CTBC Bank ผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มมาช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ซึ่งจะส่งเสริมให้บริษัทมีรายได้อื่นๆ นอกจากรายได้ค่านายหน้าเพิ่มขึ้น อ่านเพิ่มเติม: กสิกรไทย รุกธุรกิจธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine