คนไทยมีเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ และหลายคนไม่รู้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD: Provident Fund) ที่หักจากเงินเดือนและนายจ้างช่วยสมทบนั้น นำไปลงทุนที่ไหน อย่างไร และจะมีเงินคืนกลับมาแค่ไหนเมื่อตนเองเกษียณอายุในวัย 55 ปี
ด้วยเหตุนี้ทำให้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงาน
SEC Retirement Savings Symposium 2017 ขึ้น เพื่อให้ความรู้และกระตุ้นทั้งนายจ้าง-ลูกจ้างให้เห็นความสำคัญของการออมเงินและวางแผนการลงทุน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับ PVD ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บออมเงินหลังเกษียณ
รพี สุจริตกุล เลขาธิการ
ก.ล.ต. เปิดเผยผลสำรวจก่อนว่า
ปัจจุบันสมาชิก PVD กว่า 50% มีเงินก้อนในวันเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ควรจะมีเงินเก็บอย่างน้อยคนละ 2.1-3.3 ล้านบาท และสมาชิก PVD ซึ่งเป็นการออมภาคสมัครใจก็มีสมาชิกเพียง 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 21.5% ของแรงงานในระบบ อีกทั้งมีนายจ้าง 1.7 หมื่นบริษัท หรือคิดเป็น 2.8% เท่านั้นที่เปิดระบบ PVD มีการช่วยสมทบให้กับลูกจ้าง
ถือเป็นตัวเลขที่น่าวิตกเนื่องจากในปี 2568 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) มีสัดส่วนผู้สูงอายุถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าการหวังพึ่งลูกหลานหรือระบบสวัสดิการจากรัฐให้ดูแลตนเองหลังเกษียณย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง เวทีสัมมนา SEC Retirement Savings Symposium 2017 จึงเทียบเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น
อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ
บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต,
ถนอม เกตุเอม TaxBugnoms กูรูด้านภาษี,
นิธิ คงทุน จาก
บมจ.ซี.พี.แลนด์ และ
จักรพงษ์ เมษพันธุ์ The Money Coach
ต้องมีเงินเท่าไหร่หลังเกษียณ
อุมาพันธุ์ เริ่มให้ข้อมูลก่อนว่า ปัจจุบันอายุขัยคนไทยสูงขึ้นมาถึง 80 ปีแล้วเนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้เงินเก็บออมหลังเกษียณยิ่งต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะมีเวลาอีก 20 ปีที่จะต้องใช้จ่ายหลังเกษียณ
โดยอุมาพันธุ์ยกตัวอย่างสมมติว่า ถ้าหากนาย A ต้องการมีเงินใช้สอยหลังเกษียณเดือนละ 3 หมื่นบาท คูณ 20 ปี เท่ากับต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 7.2 ล้านบาท โดยยังไม่คำนวณอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งถ้าสมมติว่าขณะนี้นาย A อายุ 40 ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้าเมื่อเขาเกษียณ เงินเฟ้อจะทำให้เงินก้อนสำหรับเกษียณนั้นสูงถึงจำนวน 13 ล้านบาท
ฟังดูเป็นเงินจำนวนมากจนน่าตกใจ แต่ที่จริงแล้วเงินออมจะถูกเก็บสะสมในเครื่องมือหลัก 3 อย่าง คือ
ประกันสังคม, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ในที่นี้จะกล่าวถึงส่วน PVD เป็นหลัก
เงินส่วนนี้จะถูกหักออกจากเงินเดือนโดยอัตโนมัติ เป็นสัดส่วน 3-15% ของเงินเดือนแล้วแต่ลูกจ้างเป็นผู้ตัดสินใจและนายจ้างจะสมทบเงินให้ด้วยเช่นกัน จากนั้น PVD จะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนเป็นผู้บริหารการลงทุน ซึ่งแล้วแต่นโยบายบริษัทนั้นๆ จะมีทางเลือกการลงทุนให้เลือกมากแค่ไหน
“PVD ของบางคนเลือกใส่แค่ขั้นต่ำ 3% แต่จริงๆ ระหว่าง 3% กับ 10% เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ ปลายทางต่างกันเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราต้องคิดตั้งแต่แรกว่าสัดส่วนที่หักไปเพื่อเก็บเป็นเงินออมนั้นเพียงพอสำหรับหลังเกษียณหรือยัง” อุมาพันธุ์กล่าว
สิทธิทางภาษีจาก PVD
นิธิ คงทุน แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวว่า เงินเก็บหลังเกษียณสำคัญมากในการใช้รักษาพยาบาล เพราะถ้าหากเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีแผนรองรับใดอื่นนอกจากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แล้ว ทางเลือกในการรักษาจะหดแคบลงอย่างมาก ดังนั้นอย่างน้อยควรจะสมัครเข้า PVD หักขั้นต่ำ 3% เป็นเงินเก็บ
ด้านกูรูภาษี
ถนอม เกตุเอม มองทั้งมุมลูกจ้างและนายจ้างว่า นอกจาก PVD จะช่วยเก็บออมเงินแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี 3 ต่อ คือ ลูกจ้างนำไปหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุดถึง 5 แสนบาท ทางนายจ้างก็สามารถนำไปลดภาษีได้เช่นกัน และต่อที่สามคือกองทุน PVD เองเป็นกองทุนที่ได้รับการยกเว้นไม่เก็บภาษี
“ในมุมบริษัท การลงทุนสมทบ PVD ให้พนักงานอาจจะไม่ได้ให้ ROI กลับมาชัดเจน แต่สิ่งนี้มีคุณค่าทางใจกับพนักงานมากและยังช่วยพนักงานสร้างวินัยทางการเงินได้เป็นอย่างดี การที่ถูกหักเงินสำหรับสะสมทุกเดือน เมื่อเวลาผ่านไปพนักงานจะเห็นเองว่าเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเงินตนเองและนายจ้างที่ช่วยสมทบ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องยึดมั่นคือเงิน PVD เป็นเรื่องของวินัยที่ไม่ควรขอลาออกจากกองทุนและนำเงินออกมาใช้ก่อนเกษียณเด็ดขาด” ถนอมกล่าว
บริหารเงินเก็บด้วยการลงทุน
ทั้งนี้ บางบริษัทก็อาจจะมีทางเลือกการลงทุน PVD ที่ไม่ตรงความต้องการ หรือลูกจ้างต้องการจะจัดสรรเงินมาบริหารเองด้วยเครื่องมือการลงทุนอื่นๆ
ส่วนนี้
อุมาพันธุ์ กล่าวเสริมว่า แต่ละคนต้องเลือกความเสี่ยงของการลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์ของตน ยิ่งมีการลงทุนในหุ้นมากจะยิ่งเสี่ยงสูง ขณะที่ตราสารหนี้จะเป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำ การประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นคือดูจากอายุตัว ยิ่งอายุมากยิ่งต้องการความเสี่ยงต่ำเพื่อความแน่นอน และอีกส่วนคือการวางแผนการใช้เงิน ยกตัวอย่างเช่น หากวางแผนจะใช้เงินก้อนนี้เพื่อการศึกษาบุตรในอีก 7 ปีข้างหน้า เวลา 7 ปีมากพอที่ทำให้นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ได้ ขณะที่เงินอีกก้อนหนึ่งตั้งใจจะใช้สำหรับศัลยกรรมในอีก 1 ปี ระหว่าง 1 ปีนี้ก็ควรลงทุนในการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ
“แผนเกษียณยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ให้คิดถึงชีวิตหลังเกษียณด้วยสูตร 3 อยู่ คือ อยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร และอยู่กับใคร คิดถึงว่าตอนนั้นอยากเป็นอย่างไร ต้องการจะ early retire หรือไม่ และจะต้องใช้เงินเท่าไหร่” อุมาพันธุ์กล่าว
อ่านเพิ่มเติม "คนไทยมีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ...ถึงเวลาต้องเริ่มต้นวางแผนการเงิน (2)" ข้อมูลจาก จักรพงษ์ เมษพันธุ์ The Money Coach