โบรกเกอร์แนะขายหุ้น SINGER หลังซีอีโอลาออกหวั่นหนี้ NPL รุมเร้า - Forbes Thailand

โบรกเกอร์แนะขายหุ้น SINGER หลังซีอีโอลาออกหวั่นหนี้ NPL รุมเร้า

SINGER เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ท่ามกลางปัญหาเพียบ หลังถูกวางกลยุทธ์ให้เป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับ J-Mobile โดยยอดขายในปี 65 ของ SINGER เกือบ 1 พันล้านบาท (หรือประมาณ 36% ของยอดขายรวม) เป็นการขายสินค้า IT ที่มากจาก J-Mobile


    บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ มอง บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เป็น "ลบ" มากขึ้น หลังจากหนี้เสีย NPL เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่แล้ว และการที่ผู้บริหารลาออกแสดงว่าปัญหา NPL อาจจะรุนแรงกว่าที่เคยคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ 

    จึงได้ปรับเพิ่มสมมติฐาน credit cost และปรับลดสมมติฐานอัตราการเติบโตของสินเชื่อ ดังนั้น ประมาณการกำไรปี 66-67 จึงลดลง 53% และ 28% รวมถึงการปรับลดราคาเป้าหมายปี 66 เหลือ 11.60 บาท และลดคำแนะนำจากถือเป็นขายแทน

    นอกจากนี้ SINGER แจ้ง SET ว่า นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และบริษัทได้แต่งตั้ง นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ (CEO ของ J-Mobile) เป็น CEO คนใหม่ของ SINGER

    ซึ่งทางเคจีไอ มองว่า นายกิตติพงศ์ ถือเป็นผู้บริหารสำคัญที่นำพา SINGER พลิกฟื้นสถานการณ์จากขาดทุนเป็นการฟื้นตัว สถานการณ์นี้ดูไม่ปกติ เพราะ SINGER กำลังเผชิญกับปัญหา NPL ก้อนใหญ่จากธุรกิจสินเชื่อลิสซิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดำเนินการจากบริษัทลูก คือ บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) 

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ ของ SINGER


    ดังนั้น การลาออกของผู้บริหารคนสำคัญจึงเป็นสัญญาณลบต่อแนวโน้มผลประกอบการในระยะสั้น และทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

    แนวโน้มการเติบโตน่าเป็นห่วง SINGER ถูกวางกลยุทธ์ให้เป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับ J-Mobile โดยยอดขายในปี 65 ของ SINGER เกือบ 1 พันล้านบาท (หรือประมาณ 36% ของยอดขายรวม) เป็นการขายสินค้า IT ที่มากจาก J-Mobile 

    อีกทั้ง JMART (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SINGER) ก็พยายามจะผลักดันให้ SINGER เป็นกลไกหลักสำหรับธุรกิจการปล่อยขยายสินเชื่อผู้บริโภคบนฐานลูกค้าของ BRR

    ทั้งนี้ การเปลี่ยนตัวผู้บริหารรอบล่าสุดนี้อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าธุรกิจในอนาคตของ SINGER จะเน้นไปหาสินค้า IT จาก J-Mobile ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สินค้าจะกระจุกตัว และความเสี่ยงด้านการตั้งสำรองเพราะการปล่อยกู้เพื่อซื้อสินค้า IT มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูง



    การแก้ NPL ทำให้เกิดความกังวลกับค่าใช้จ่ายสำรองฯ และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ NPL ที่แท้จริงของ SINGER พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในไตรมาส 4/65 โดย NPL ratio อยู่ที่ประมาณ 11-12% (หากนับรวม NPA ที่บันทึกเป็นสินค้าคงคลังด้วย) เนื่องจากยังมีการจัดชั้นลูกค้าที่อ่อนไหวบางรายเป็นสินเชื่อที่ปกติ (performing loan) อยู่ในไตรมาส 4/65 

    แต่เราคิดว่าลูกค้าเหล่านี้อาจจะกลายมาเป็น NPL ในไตรมาส 1/66 และกระทบค่าใช้จ่ายสำรองฯ และค่าใช่จ่ายการด้อยค่าของสินทรัพย์ก้อนใหญ่ ดังนั้น เราจึงปรับเพิ่มสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองฯในไตรมาส 1/66 เป็น 8% (จาก 5.6% ในไตรมาส 4/65) และในปี 66 เป็น 6% (จาก 2.5% ในปี 65)

    ทั้งนี้ เนื่องจากมี NPL เกิดใหม่จำนวนมาก และมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร จึงคิดว่า SINGER น่าจะต้องใช้เวลาสักระยะในการล้างงบดุล และฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ใช้ P/E ที่ 15 เท่า อิงประมาณการกำไรเฉลี่ย 2 ปี ทำให้ได้ราคาเป้าหมายที่ 11.60 บาท (ลดลงจาก 24 บาท) ดังนั้น เราจึงปรับลดคำแนะนำจาก "ถือ" เป็น "ขาย"


อ่านเพิ่มเติม: ดี-แลนด์ เผย สงกรานต์คึกคัก “พอร์โต้ โก” 2 สาขา ยอดจับจ่ายโตกว่า 50% จากปีก่อน


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine