โค้งท้ายเลือกตั้ง ลุ้นนโยบายใหม่กระตุ้นลงทุน - Forbes Thailand

โค้งท้ายเลือกตั้ง ลุ้นนโยบายใหม่กระตุ้นลงทุน

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งในประเทศไทย นักลงทุนรอลุ้นนโยบายใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่นนโยบายหว่านแหสร้างภาระการคลังในอนาคต PwC คาดธุรกิจกลับมาควบรวมกิจการครึ่งปีหลัง

 

    สัปดาห์นี้ ทิศทางการลงทุนต้องจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 2 – 3 พ.ค.นี้ และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 4 พ.ค. อย่างไรก็ตามตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 และมีแนวโน้มชะลอลง หลังการประกาศจีดีพีสหรัฐไตรมาสแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ และเห็นสัญญาณการถดถอย ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปของไทยเข้าสู่โค้งสุดท้ายที่คาดว่าจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 – 1.2 แสนล้านบาท


นักลงทุนลุ้นผลเลือกตั้ง


    อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นมีปัจจัยบวกจากการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่ามีเงินสะพัดกว่า 1 – 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีปัจจัยบวกจากแนวคิดของตลาดหลักทรัพย์ที่จะเสนอกระทรวงการคลัง นำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund หรือ LTF) กลับมาใช้และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน

    “ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ผลเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป จีน อาเซียน และไทย สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ ควรเน้นเก็งกำไรระยะสั้นไปก่อน ส่วนการซื้อลงทุนระยะกลาง-ยาว แนะนำให้รอสะสมหุ้นพื้นฐานดีจังหวะราคาหุ้นอ่อนตัว” อาภาภรณ์ระบุ


    ด้าน พรพุทธ ริจิรวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ อัลไลแอนซ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ AA&P เปิดเผยว่า จากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งปี 2566 นี้ จะเห็นได้ว่าทุกพรรคให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน รวมถึงการเร่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก จนถึงกลุ่มระดับรากหญ้า ขณะเดียวกันตลาดทุน เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองหลักต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในอนาคต

    ทั้งนี้ หากพิจารณาในบริบทของตลาดทุนไทย พบว่า ตลาดทุนไทยยังคงมีช่องว่างและความท้าทายในหลายด้าน ซึ่งทิศทางการเปลี่ยนแปลงหลังเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ เช่น นโยบายการจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้น การพัฒนาระบบดิจิตอลในตลาดทุนไทย การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน หรือการสนับสนุนบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

    “ทาง AA&P มองว่า การกระจายรายได้ การจัดสรรงบประมาณที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจภาคเอกชนภายในประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศที่มองเห็นศักยภาพของประเทศไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งปี 2566 ในครั้งนี้”


หวั่นนโยบายหาเสียงสร้างภาระการคลัง


    กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้จัดทำ “KKP Research” หัวข้อ “นโยบายที่หายไป ในวันที่เศรษฐกิจไทยไม่แกร่ง” โดยระบุว่า ปรากฎการณ์หนึ่งที่เห็นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เน้นแข่งขันกันให้ตัวเลขการให้เงินสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินสวัสดิการ เงินอุดหนุน การแจกเงิน หรือการพักหนี้ ซึ่งเป็นนโยบายแบบให้เปล่าและหว่านแห ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกตินโยบายในการช่วยเหลืออาจต้องมี “เป้าหมาย” และ “เฉพาะจุด” มากขึ้น เพราะหากไม่คำนึงถึงต้นทุนมหาศาลที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือ

1. ภาระทางการเงินการคลังที่จะสูงขึ้นจนเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจในอนาคต 2. สูญเสียโอกาสที่จะลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ 3. แรงจูงใจที่ถูกบิดเบือน จะทำให้ประชาชนหวังพึ่งเงินอุดหนุนจากภาครัฐและการแทรกแซงกลไกตลาด ลูกหนี้ขาดวินัยการเงิน และขาดแรงจูงใจที่จะปรับตัว


    “ทั้งหมดนี้จะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ไล่ตามประเทศอื่นไม่ทัน ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น ภาครัฐไม่มีทรัพยากรเพียงพอจะตอบสนองต่อปัญหาของประเทศ ซึ่งสุดท้ายจะกระทบต่อความกินดีอยู่ดีและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” รายงานระบุ


ครึ่งปีหลังควบรวมกิจการเพิ่ม


    ขณะที่ PwC เปิดเผยรายงาน Global M&A Industry Trends: 2023 Outlook คาดว่า กิจกรรมการควบรวมกิจการทั่วโลกน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หลังจากนักลงทุนและผู้บริหารปรับสมดุลระหว่างความเสี่ยงระยะสั้นและ กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในระยะยาว โดยซีอีโอมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 60) ที่ถูกสำรวจ กล่าวว่า ไม่มีแผนที่จะชะลอการควบรวมกิจการในปีนี้แต่อย่างใดแม้จะมีปัจจัยเชิงลบที่กดดันการดำเนินธุรกิจก็ตาม

    ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วน และหัวหน้าสายงานดีลส์ บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับตลาดการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) ของไทยมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังปริมาณและมูลค่าการควบรวมเห็นการชะลอตัวในปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับปี 2564 เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้กิจกรรมการทำดีลโดยรวมต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ดีเชื่อว่า กิจกรรมการควบรวมในปีนี้จะไม่สูงเท่ากับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2564

    “แนวโน้มของการควบรวมกิจการของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีโอกาสที่จะฟื้นตัวแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องการจะโตต่อ ธุรกิจที่กำลังแสวงหาธุรกิจอื่นที่ตนยังขาด หรือธุรกิจที่ต้องการผันตัวเองไปยังอุตสาหกรรมอื่น รวมไปถึงผู้ที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ หรือ new s-curve จะเริ่มกลับมาซื้อหรือขายกิจการกันอีกครั้ง” ฉันทนุชกล่าว


อ่านเพิ่มเติม: Playwith ชูโมเดลใหม่ ลุยธุรกิจเกมในไทย


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine