"เงินบาทระยะยาว" คาด แข็งค่าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย - Forbes Thailand

"เงินบาทระยะยาว" คาด แข็งค่าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB FM) มองว่า เงินบาทในเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าลง จากเงินหยวนที่อ่อนค่าลงตามภาวะเศรษฐกิจ เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าหลัง Fed ยังคง Hawkish และตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาแย่กว่าคาด 


    สำหรับในระยะสั้นนี้ มองว่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อได้ จากเศรษฐกิจจีนที่น่าจะยังอ่อนแอ ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยอาจต่ำกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทน่าจะทยอยแข็งค่าขึ้นในระยะยาว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและดุลบัญชีเดินสะพัดที่น่าจะสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง ประกอบกับมาตรการรัฐที่น่าจะชัดเจนขึ้นทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายจะทยอยไหลเข้าตลาดการเงินไทยได้ ด้านอัตราดอกเบี้ย มองว่าทั้งอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นมามากแล้ว แต่ในระยะต่อไปอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทยอาจปรับลดลงได้ จากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่น่าจะทยอยไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดการเงินไทย และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจลดลงได้ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอ

    แพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทในเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1) การอ่อนค่าของเงินหยวนจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแย่กว่าคาดต่อเนื่อง พร้อมกับปัญหาในตลาดอสังหาฯ 2) เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า หลังคณะกรรมการ Fed ยังสื่อสารในโทน Hawkish ต่อเนื่อง และ 3) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาแย่กว่าคาด ไม่ว่าจะเป็น GDP ไตรมาส 2 เลขส่งออก รวมถึงเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม

    สำหรับในระยะสั้นนี้ ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้ คือตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่หากยังต่ำกว่าที่ตลาดคาด ก็อาจทำให้ กนง. ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายได้ ซึ่งจะกดดันค่าเงินบาทต่อไป อีกทั้ง ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่น่าจะยังอ่อนแอและมาตรการสนับสนุนที่จะออกมาอาจมีขนาดไม่ใหญ่นัก จะกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าต่อได้ SCB FM จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 35.00-35.50 ในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้

    แพททริก กล่าวต่อว่าสำหรับในระยะยาว เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและดุลบัญชีเดินสะพัดที่น่าจะสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่น่าจะชัดเจนขึ้นทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายจะทยอยไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทยได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจแข็งค่าได้ไม่มากจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าคาด จึงมองเงินบาท ณ สิ้นปีนี้ที่ 33.50-34.50 และจะแข็งค่าต่อเนื่องสู่ระดับ 32.00-33.00 ณ สิ้นปีหน้า และแนะนำให้ลูกค้านำเข้าอาจรอจังหวะซื้อ USDTHB ในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่วนลูกค้าส่งออกทยอยขาย USDTHB ในช่วงนี้พร้อมพิจารณาซื้อ Put Spread ระยะ 3 เดือน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่บาทอาจแข็งค่า

    ด้านอัตราดอกเบี้ย นายแพททริกมองว่า ทั้งอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นมามากแล้ว แต่ในระยะต่อไปอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทยอาจปรับลดลงได้ จาก 1) เงินทุนเคลื่อนย้ายที่น่าจะทยอยไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดการเงินไทย 2) อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจลดลงได้จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะชะลอลง ทำให้ Fed น่าจะลดความ Hawkish ลงได้ และ 3) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาแย่กว่าคาดและเงินเฟ้อที่ชะลอต่อเนื่อง ทำให้ กนง. อาจคงดอกเบี้ย จึงแนะนำให้ลูกค้าเริ่มทยอย Receive fixed-rate ผ่าน THOR OIS tenor 5 ปี ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 2.50% ส่วนฝั่งดอกเบี้ยสหรัฐฯ SCB FM เคยแนะนำให้ลูกค้าทำธุรกรรม Pay fixed USD ที่ระดับราว 4.00% เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ก็อาจพิจารณา Unwind position ได้ที่ระดับราว 4.90-5.00% ได้

    

    อ่านเพิ่มเติม : 

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine