สมาคมค้าปลีกอ้อนรัฐลดภาษี กระตุ้นช้อปปิ้งปลายปี - Forbes Thailand

สมาคมค้าปลีกอ้อนรัฐลดภาษี กระตุ้นช้อปปิ้งปลายปี

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีก ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า ลดลงต่อเนื่อง เสนอภาครัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษี กระตุ้นการจับจ่ายกลุ่มกำลังซื้อสูงช่วงปลายปี หนุนใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ สร้างไทยแลนด์ แบรนด์กระตุ้นท่องเที่ยว


    ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index – RSI) ในภาพรวม พบว่า ดัชนี RSI (QoQ) ไตรมาส 3/2566 เทียบกับไตรมาส 2 ยังคง “ซบเซา 3 เดือนต่อเนื่อง” อยู่ที่ 46.4 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบปี 2566 ทั้งดัชนียอดขายสาขาเดิม SSSG (Same Store Sale Growth) QoQ ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending Per Bill หรือ Per Basket Size) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) สะท้อนถึงผู้บริโภคฐานรากกำลังซื้อยังอ่อนแอ โดยลังเลที่จะจับจ่ายและมุ่งเน้นสินค้าที่จำเป็น

    เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก พบว่า ธุรกิจห้างสรรพสินค้า แฟชั่น สุขภาพ-ความงาม ร้านวัสดุก่อสร้าง-ตกแต่งและซ่อมบำรุง ร้านไอที เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการชะลอตัวลง และร้านค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ภัตตาคาร ร้านอาหาร ยังซบเซา

    นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพ ปริมณฑล เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ในขณะที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึมลึก ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ชะลอตัว

    “ปัจจัยฉุดดัชนีค้าปลีก ยังคงเป็นปัจจัยเดิมที่รอการเยียวยา ประกอบด้วย กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง ราคาพลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก ระยะ 3 เดือนจากนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 12.0 จุด เนื่องจากความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล มาตรการลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำมัน นโยบายวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน รวมถึงการโหมโปรโมชั่นของร้านค้าในช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปีได้ดีขึ้น” ฉัตรชัยกล่าว



ชง 6 ข้อเสนอรัฐบาลกระตุ้นกำลังซื้อ

    อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่จะช่วยขับเคลื่อนภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศซึ่งเชื่อมโยงกับภาคค้าปลีกและบริการ ดังนี้

    1. มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายเพื่อจูงใจกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ โดยการลดหย่อนภาษีประจำปีระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เพื่อไม่ให้เกิดการชะลอการจับจ่าย ในส่วนของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท สมาคมฯ ขอเสนอให้เพิ่มการหารือร่วมกับภาคเอกชนและสมาคมต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินนโยบายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

    2. เปิดตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ ด้วยการเร่งเจรจา FTA Thai-EU ให้เร็วที่สุด และสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกเขตเสรีการค้าอื่นเพิ่มเติม เช่น BRICS เป็นต้น เพื่อให้เกิดการลงทุนและเกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง

    3. แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคค้าปลีก-บริการ ด้วยการเพิ่มการจ้างงานให้หลากรูปแบบและพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น การจ้างงานอิสระ การจ้างงานประจำรายชั่วโมง โดยคำนึงถึงอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานเป็นหลักและไม่จำกัดสิทธิเฉพาะสัญชาติ รวมถึงการกำหนดค่าจ้างตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับระดับสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อเพิ่มผลิตผลต่อแรงงานแทนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ

    4. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ มากกว่าการพักชำระหนี้เพียงอย่างเดียว

    5. สร้างความแข็งแกร่งให้กับซอฟต์เพาเวอร์ไทยด้วยการสนับสนุนสินค้าไทยผ่านการจัดตั้งโครงการ Thailand Brand เพื่อเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของ SME ไทย ปีละ 2 ครั้ง ในทุกช่องทางของร้านค้าทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อเพิ่มการจับจ่ายโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเริ่มต้นเร่งด่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

    6. สนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการค้าเต็มรูปแบบ ทั้งด้านไลฟ์สไตล์, กีฬา, เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และช้อปปิ้ง


ห่วงสถานการณ์ดันต้นทุนพุ่ง

    นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้เผยผลสำรวจ “ประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก” ของผู้ประกอบการ ระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2566 อาทิ

    1. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งร้อยละ 80 ระบุว่า ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่ร้อยละ 37 ราคาสินค้าและบริการอื่นที่ไม่ใช่ต้นทุนปรับสูงขึ้น ร้อยละ 23 รักษากำไร ร้อยละ 20 คู่แข่งปรับขึ้นราคา และการส่งผ่านต้นทุนได้ไม่ทั้งหมด

    2. สถานะสภาพคล่องธุรกิจ โดยร้อยละ 24 มีสภาพคล่องอยู่ได้ 3-6 เดือน ร้อยละ 26 มีสภาพคล่องอยู่ได้ 6-12 เดือน ร้อยละ 50 มีสภาพคล่องอยู่ได้ มากกว่า 12 เดือน 3. ปัจจัยสนับสนุนและความเสี่ยงต่อธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่สูงขึ้น

    “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เชื่อว่าแม้ภาพรวมค้าปลีกและบริการในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเปราะบาง แต่หากรัฐบาล เร่งเครื่องฟื้นฟูสุขภาพเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องและตรงจุด ประกอบกับทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน จะสามารถนำพาให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีเสถียรภาพที่มั่นคงและเดินหน้าอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่” ฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้าย



อ่านเพิ่มเติม : สงครามอิสราเอลทำนักลงทุนหวั่นใจย้ายฐานมาทองคำ ด้าน Fed คาดปรับขึ้นดอกเบี้ยยังจำเป็น

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine