ภาวะสงคราม-เฟดขึ้นดอกเบี้ยกดดันตลาด - Forbes Thailand

ภาวะสงคราม-เฟดขึ้นดอกเบี้ยกดดันตลาด

สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก กดดันภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 1.6 แสนล้านบาท ส่งผลค่าเงินบาทอ่อน-ทองคำพุ่ง


    บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมาร่วงลงหลุด 1,400 จุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสจะยืดเยื้อ ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมีการปะทะกันอย่างรุนแรงอีกครั้ง สร้างความกังวลให้กับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันเศรษฐกิจทั่วโลก

    หลังจาก เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ค (Economic Club of New York) ส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอีกครั้ง จากปัจจัยเงินเฟ้อของสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ทำให้ตลาดหุ้นในเอเชียลดลงถ้วนหน้าในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งประเทศไทย

 

ต่างชาติขายสุทธิกว่า 1.67 แสนล้าน

    ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 ตุลาคม 2566 พบว่า สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 56,474.54 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ขายสุทธิ 1,965.64 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 167,224.46 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศ (รายย่อย) ซื้อสุทธิ 112,715.57 ล้านบาท

    ขณะที่ ตั้งแต่วันที่ 1-20 ตุลาคม 2566 พบว่าสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 5,585.75 ล้านบาท โบรกเกอร์ขายสุทธิ 3,689.32 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 10,053.96 ล้านบาท รายย่อยซื้อสุทธิ 8,157.53 ล้านบาท

    สำหรับหุ้นไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-20 ตุลาคม 2566) ดัชนีหุ้นไทยร่วงลง หลุดแนว 1,400 จุด โดยภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลจะยืดเยื้อ แม้ผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยจะยังจำกัดก็ตาม

    นอกจากนี้ บรรยากาศการลงทุนยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตลอดจนโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และท่าทีของประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่มีความกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง

    ปิดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 ตุลาคม 2566) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,399.35 จุด ลดลง 3.54% จากปลายสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,427.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.25% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 5.65% มาปิดที่ระดับ 407.88 จุด

    บริษัทหลักทรัพยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (24-27 ตุลาคม 2566) มีแนวรับที่ 1,390 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,415 และ 1,440 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนกันยายนของไทย ทิศทาง เงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย

 

จับตาทิศทางค่าเงินบาท-ทองคำ

    สำหรับทิศทางค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่ามากเป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน รองจากมาเลเซีย เกิดจากสัญญาณการขายสุทธิในหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์สหรัฐ) อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 5% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี เป็นปัจจัยลบกดดันค่าเงินบาทของไทย ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น

    สัปดาห์นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มค่าเงินบาทที่ระดับ 36.10 - 36.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายนของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย รวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล

    นักวิเคราะห์ คาดว่า ราคาทองคำในสัปดาห์นี้ จะปรับขึ้นอีกครั้ง หลังนักลงทุนเดินหน้าซื้อทองคำเพิ่มสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองรูปพรรณแตะระดับสูงสุดที่บาทละ 34,700 บาทขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลก ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องทำจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งหากราคาขึ้นไปแตะระดับที่ 2,000 เหรียญสหรัฐ มีโอกาสที่ราคาทองในประเทศจะแตะที่ระดับ 35,000 บาท



อ่านเพิ่มเติม : มองโลกแบบ Biden : ทั้งหดหู่และผิดเพี้อน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine