อุเทน โลหชิตพิทักษ์ ชู “พฤกษา โฮลดิ้ง” เติบโตยั่งยืน - Forbes Thailand

อุเทน โลหชิตพิทักษ์ ชู “พฤกษา โฮลดิ้ง” เติบโตยั่งยืน

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงระดับโลกที่ถาโถมเข้ามา ทั้งความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน จากการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางในหลายประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทย สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอลและอิหร่านที่ยังไม่สงบ รวมถึงปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ล้วนส่งผลกระทบต่อความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ที่ทำให้กำลังซื้ออ่อนแอลง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์


    ในมุมมองผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจมาครบ 30 ปี และมีรายได้กว่า 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา กลับมองเป็นโอกาสปรับแผนการดำเนินธุรกิจ กระจายพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงสร้างรายได้จากการบริหารทรัพย์สิน (recurring income) พร้อมลงทุน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอีก 30 ปีข้างหน้า

    “เรามองอัตราการเติบโตและความต้องการของตลาดในระยะยาว พฤกษาอยู่กับธุรกิจนี้มา 30 ปี ปีนี้ก้าวสู่ปีที่ 31 และมองไปอีก 30 ปีข้างหน้า สิ่งที่จะทำต่อไปมีอะไรจะตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของตลาด อาจไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยราคาถูก ซึ่งเป็นตลาดที่เราเติบโตตลอดมา เราต้องการมองไปในอนาคต ด้วยการให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยมากกว่าการขายที่อยู่อาศัย เพราะรู้ว่าพฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” อุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมุมมองในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่เปลี่ยนแปลงไป และแผนการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า


กระจายพอร์ต ลดเสี่ยง-เพิ่มโอกาสใหม่

    แม้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะหลุดพ้นจากวิกฤตโควิด 19 และกลับมาเติบโตในระดับใกล้เคียงและสูงกว่าช่วงก่อนโควิด 19 ได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่จากความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้นที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงของธนาคารกลางประเทศต่างๆ สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศ วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน ล้วนเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้พฤกษาต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจ

    อุเทนกล่าวว่า บริษัทใช้กลยุทธ์ในการกระจายความเสี่ยงในหลายเซกเมนต์ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนในระยะสั้น รวมถึงการปรับพอร์ตโฟลิโอให้สอดคล้องกับมุมมองในการพัฒนาอุตสาหกรรมในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เดิมพฤกษาเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยในระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของพอร์ต แต่วันนี้ได้ปรับสัดส่วนราคาที่อยู่อาศัยตามกำลังซื้อ แบ่งเป็นระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ต่ำกว่า 7 ล้านบาท และสูงกว่า 7 ล้านบาทขึ้นไป ในสัดส่วน 1 ใน 3 เพื่อกระจายความเข้าถึงความต้องการของตลาด และปรับพอร์ตตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป


    สำหรับปีนี้ตั้งเป้าหมายเปิดตัวโครงการใหม่ไม่ต่ำกว่า 30 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งสัดส่วน 50% จะเป็นโครงการบ้านเดี่ยวระดับราคาสูง และอีก 50% เป็นบ้านระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์มาตรการกระตุ้นกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ผ่านโครงการบ้านบีโอไอของภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน

    “หลังโควิด 19 เป็นต้นมาผู้บริโภคมองว่าบ้านไม่ได้เป็นแค่ที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แต่มองหารูปแบบการอยู่อาศัยของพวกเขาที่สอดรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การออกแบบบ้านที่มีองค์ประกอบให้เจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยสามารถปรับเป็นห้องเรียน ห้องทำงานได้ อยู่กันแบบครอบครัวเดียว แต่มีหลายเจเนอเรชัน รวมถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ในรัศมี 15 นาทีเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย

    “วันนี้เรากำลังมองถึงการให้บริการต่างๆ ใกล้หมู่บ้านมากขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไกลมาก พฤกษามองความยั่งยืนและความมั่นคงของธุรกิจ เราไม่ต้องการโตระยะสั้น ต้องการมองไกล อยู่ด้วยความมั่นคง โดยมุ่งเป้ากระจายความเสี่ยงก่อนจัดพอร์ต rebalance การทำแบบนี้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทุกเซกเมนต์”



    อุเทนกล่าวถึง “วิถีชีวิตอยู่ดีมีสุข” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของบริษัทที่เริ่มมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ในการขยายธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ ได้แก่ โรงพยาบาลวิมุต และเทพธารินทร์ มีการทดลองตั้งโรงพยาบาลหน้าหมู่บ้านในรูปแบบโรงพยาบาลวิมุต เวลเนส เซ็นเตอร์ ที่มีธุรกิจเนิร์สซิงโฮม “บ้านธรรมชาติ บาย เฌ้อสเซอรี่โฮม” ให้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบเดย์แคร์ โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery Home International รวมถึงการบริการสุขภาพที่เข้าถึงบ้าน เช่น บริการ Health to Home การดูแลสุขภาพถึงบ้าน ตรวจเลือด telemedicine และการส่งยา เป็นต้น

    “กลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์นอกจากจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการให้บริการของบริษัทฯ แล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจหลักอีกด้วย ปัจจุบันพอร์ตธุรกิจเฮลท์แคร์มีสัดส่วนประมาณ 10% หรือมีรายได้ 1.8-1.9 พันล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะมีรายได้มากกว่า 2 พันล้านบาท คาดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะมีรายได้มากกว่า 4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% จากรายได้รวม” อุเทนกล่าว

    นอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายธุรกิจโลจิสติกส์ในรูปแบบของการให้บริการด้วยระบบอัจฉริยะและออโตเมชัน บนพื้นที่ 2 แสนตารางเมตร ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีรายได้ที่เป็น recurring income จากการบริหารทรัพย์สิน ที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี MyHaus, Smart Home, Smart Furniture ที่ช่วยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน คาดว่าภายใน 3 ปีจะสร้างรายได้หลักพันล้านบาท



เรื่อง: เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร, ภาพ: วรัชญ์ แพทยนานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล SPREME ปักธงหมื่นล้าน

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจในรูปแบบ e-magazine ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ Wealth Management & Investing 2024 แถมฟรีมาพร้อมกับนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567