ภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล SPREME ปักธงหมื่นล้าน - Forbes Thailand

ภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล SPREME ปักธงหมื่นล้าน

การลงทุนในไอทียังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ช่วงต้นปี ที่ผ่านมา บริษัท การ์ทเนอร์ อิงค์ จำกัด บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ การใช้จ่ายด้านไอทีในประเทศไทยว่า มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% จากปี 2566


    หลังเรียนจบด้านการตลาดจาก ABAC และทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน 3 ปี นักการตลาดหนุ่มวัย 26 ปี มองเห็นโอกาสเป็นเจ้าของกิจการไอที และไม่รีรอที่จะทำตามฝัน โดยคิดว่าการเริ่มต้นขณะที่อายุน้อยหากผิดพลาดก็มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้

    ภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SPREME กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจของตนเองว่า ขณะนั้นหน่วยงานต่างๆ เพิ่งเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งมีราคาแพง ไอทียังเป็นธุรกิจใหม่

    “เราดูว่ามีโอกาสทำธุรกิจได้ เพราะมีความเชี่ยวชาญ เคยทำงานด้านไอทีมา 2-3 ปี...ตั้งบริษัทปี 2536 ด้วยทุน 1 ล้านบาท มีหุ้นส่วน 5 คน ช่วงแรกอุปสรรคเยอะ ทุกอย่างไม่พร้อม เราใช้ความอดทน มุ่งมั่น ปี 2538 หุ้นส่วนอีก 4 คนขายหุ้นให้ ผมดำเนินการคนเดียว”


เริ่มจากขายส่ง

    ช่วงแรกนำเข้าคอมฯ จากสิงคโปร์และขายส่งร้านค้าต่างจังหวัดซึ่งมีความคุ้นเคยกันตั้งแต่เป็นเซลส์บริษัทเดิม “ต้นทุนสูงหน่อย แต่เราเชื่อมั่นว่าสามารถที่จะทำธุรกิจได้ ต้นทุนการเงินอาจเยอะ แต่ต้นทุนบริษัทและต้นทุนด้านบุคลากรน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ๆ ทำให้แข่งขันได้”

    เริ่มดำเนินการไม่กี่ปีประเทศไทยมีวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 10 กว่าล้านบาท กลายเป็นว่าต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ การซื้อขายต้องใช้เงินสดอย่างเดียว เนื่องจากมีทุนจำกัด ทำให้ต้องหมุนเงินอย่างหนักเป็นเวลา 4-5 ปี ภานุวัฒน์เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยน้ำเสียงที่สนุกสนาน โดยเฉพาะวิธีการหาเงินสดสำหรับหมุนเวียนใช้จ่ายในบริษัทซึ่งเป็นภาระที่หนักพอสมควร แต่เขาไม่สะดวกให้เอ่ยถึง

    “ปี 2540 ขายคอมฯ ตั้งโต๊ะราคา 25,000 บาท กำไรเครื่องละ 500 บาท อาศัยวิ่งขายทั้งวันทั้งคืน (เดินทาง) วันละ 500-700 กม. ขายตามร้านคอมฯ ทุกจังหวัด”

    ปี 2545 เป็นครั้งแรกที่บริษัทเข้าร่วมประมูลรับงานจากหน่วยงานภาครัฐโดยตรงทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในงานเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจร (system integrator) เริ่มจากการรับงานวางระบบเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงของหน่วยงานการศึกษา เช่น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

    ขณะเดียวกันบริษัทได้รับการสนับสนุนด้านมาตรฐานจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยเพิ่งผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง ภาครัฐจึงสนับสนุนผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์ในประเทศให้ประกอบคอมพิวเตอร์ในระดับมาตรฐานเทียบเคียงต่างประเทศ

    ในปี 2546 เขาได้ร่วมก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (ATCM) และร่วมมือกับรัฐบาลจัดทำโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร (โครงการ Budget PC)


มุ่งตลาดภาครัฐ

    บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SPREME ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ช่วงแรกนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงในรูปแบบสินค้าสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์ยี่ห้อ Wearnes เพื่อนำมาขายส่งภายในประเทศ และเข้าสู่การประมูลโครงการภาครัฐในเวลาต่อมา

    ปี 2553 ขยายเข้าสู่ธุรกิจระบบบริหารและจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ (data center) เพื่อรองรับความต้องการจากหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปสู่ All In One Computer ปี 2556 บริษัทจึงหันมามุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรทางการค้า โดยจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพสูงนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย หรือ One Tablet Per Child: OTPC จำนวน 426,683 เครื่อง มูลค่าโครงการประมาณ 1.17 พันล้านบาท ดำเนินการส่งมอบแล้วเสร็จปี 2557

    ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยเป็นผู้ออกแบบ ติดตั้ง และจัดจำหน่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายอย่างครบวงจร (system integrator) พร้อมทั้งให้บริการซ่อมแซม บำรุงรักษา และให้เช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง

    ภานุวัฒน์ขยายความถึงลักษณะของธุรกิจและบริการข้างต้นว่า แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

    1. ซื้อขายคอมพิวเตอร์รวมถึงระบบเน็ตเวิร์ก ดาต้าเซ็นเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์

    2. บริการซ่อมแซมบำรุงรักษา (Maintenance Agreement: MA) เป็นการให้บริการตามรอบเวลา หากมีความเสียหายก็เข้าไปดูแล ส่วนใหญ่เป็นสัญญาโครงการกับภาครัฐ หากมีการซื้อขายในประเภทแรกมากเท่าไรรายได้ส่วนนี้ก็จะเพิ่มขึ้นตาม เพราะเมื่อหมดระยะประกันสินค้าลูกค้าจะซื้อสัญญาบริการเพิ่ม

    3. ธุรกิจให้เช่า หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจหลายแห่งนิยมบริการประเภทนี้ เพราะใช้งบฯ ต่อปีน้อยเมื่อเทียบกับการซื้อขาด ทั้งยังได้รับบริการหลังการขายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยบริการ MA เป็นกลุ่มที่มีมาร์จินสูงสุด หากบริษัทจัดหาสินค้ามีคุณภาพ ออกแบบระบบดี อุปกรณ์ไม่มีปัญหาหรือเสียหาย บริษัทก็ไม่มีต้นทุนแต่อย่างใด


ผู้นำไอทีด้านการศึกษา

    จุดแข็งของบริษัทคือ เป็นผู้เชี่ยวชาญไอทีด้านการศึกษา หากมีโครงการด้านนี้ พาร์ตเนอร์ที่ต่างจังหวัดจะนึกถึงเพราะมั่นใจว่าบริษัทสามารถซัพพอร์ตได้ ทั้งด้านราคาและการบริหารจัดการโครงการ

    “ต้องบอกว่าเราเป็นผู้นำไอทีด้านการศึกษาสำหรับการเรียนการสอน ถ้ามีโครงการด้านนี้บริษัทไอทีจะคิดถึงเรา แม้กระทั่งซัพพลายเออร์ก็นึกถึงสุพรีมฯ และมานำเสนอ solution”

    เนื่องจากบริษัทไม่ได้จำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงเท่านั้น แต่ยังให้บริการออกแบบ ติดตั้ง และจัดจำหน่ายทั้งระบบ

    “เราจัดหาให้หมด อย่างซอฟต์แวร์มี 2 รูปแบบ แบบแรกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อการเรียนการสอนและซอฟต์แวร์เครื่องเราทำแม้กระทั่งติดตั้ง Wi-Fi ในห้องเรียน เน็ตเวิร์กระบบต่อเชื่อมเซิร์ฟเวอร์ เราไม่ได้ขายเฉพาะคอมพิวเตอร์ แต่ขายทั้งระบบ ดีไซน์ระบบให้ด้วย การเรียนการสอนในห้องเรียนต้องวางเครื่องอย่างไร ต่อเชื่อมอย่างไร ห้องขนาดเท่าไร เพราะมาตรฐานโรงเรียนห้องเรียนมีไม่กี่แบบ”

    อีกเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญมากคือ “การบริหารจัดการโครงการ” ดังที่ผู้บริหาร SPREME อธิบายว่า “การประมูลไม่ต้องสั่งสินค้าก่อน ได้โครงการจากภาครัฐจึงสั่งสินค้า สต็อกน้อยมาก มีเพียงสต็อกสินค้าสำหรับบริการหลังการขาย เราสั่ง by order ไม่ใช่ตลาดคอนซูเมอร์ๆ คือมีของและหยิบได้ทันที เหมือนไปหน้าร้านอยากได้คอมฯ รุ่นนี้ จ่ายเงิน หิ้วกลับเลย นั่นต้องสต็อกสินค้า แต่เราไม่ต้อง ได้โครงการจากภาครัฐก่อนแล้วค่อยบริหารจัดการ ซึ่งจุดนี้เป็นข้อได้เปรียบของบริษัท หากบริหารจัดการดีไม่ต้องมีสต็อก”


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ชญาภา จูตระกูล’ กับนิยามความสำเร็จนอกกรอบ ปลุกปั้น The Pink Lab ด้วยตนเอง

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine​