สร้างธุรกิจยังไงให้รอด ถอดแนวคิด ‘ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล’ แห่งธนจิรา รีเทลฯ ผู้ปั้นแบรนด์ Marimekko, Pandora, Cath Kidston - Forbes Thailand

สร้างธุรกิจยังไงให้รอด ถอดแนวคิด ‘ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล’ แห่งธนจิรา รีเทลฯ ผู้ปั้นแบรนด์ Marimekko, Pandora, Cath Kidston

สร้างธุรกิจยังไงให้รอด สไตล์ “ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” เจ้าของธนจิรา รีเทลฯ ผู้ปั้นแบรนด์ Marimekko, Pandora Cath Kidston หลังเศรษฐกิจกระหน่ำ กำลังซื้อลด ร้านไหนขายไม่ดีพร้อมเปลี่ยน แบรนด์ไหนมีโอกาสเติมเข้าพอร์ตเพิ่ม เผยปีนี้เป็นปีที่ทำธุรกิจยาก ต้องรู้ทันลูกค้า ต้องปรับตัวให้เร็ว


    ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น พร้อมรับมือเศรษฐกิจ เตรียมส่ง “activewear” แบรนด์เสื้อผ้าใหม่จากบราซิลลงตลาดไทยสิงหาคมนี้ เจาะ affordable price ครั้งแรก ส่วนร้าน Cath Kidston ยอมตัดใจปิด-ย้ายทำเลบางสาขา และเปิดใหม่พื้นที่เล็กลง เผยปีนี้พร้อมลงแข่งเซกเมนต์ Burger ส่วนต่างประเทศขยายแค่ HARNN ในจีนแบรนด์เดียว เป้าหมายมีเครือข่ายเข้าถึงลูกค้าทุกมณฑลปีหน้า

    ธุรกิจแฟชั่นและร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ ในช่วงโควิดระบาด แต่ก็ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้แล้ว แต่ปัญหาจากเศรษฐกิจทั่วโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน มาถึงสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน การลดลงของนักท่องเที่ยวจากจีน และปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ที่เกิดต่อเนื่องและหนักขึ้นในปีนี้ ทำให้ร้านอาหาร แฟชั่นแบรนด์หลายแบรนด์ ปิดตัวลงจำนวนมาก แต่ก็มีหลายบริษัทที่อยู่รอด ยังขยายธุรกิจเปิดสาขา เอาแบรนด์ใหม่เข้าพอร์ต หรือปิดบางสาขา หรือย้ายทำเลเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ และ ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งที่อยู่ในบริษัทที่กำลังปรับตัวในทุกมิติ

    “ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจท้าทายมาก เป็นปีที่ทำธุรกิจยากมากในประเทศ เราก็มีแผนจะเปิดแบรนด์ใหม่ถึง 3 แบรนด์ เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น และร้านอาหาร อย่างละแบรนด์ อย่างไรก็ตามเพื่อสร้างการเติบโตของกำไร เราต้องยอมปิดสาขาของสินค้าไลฟ์สไตล์และคาเฟ่บางแห่งที่ไม่ทำกำไรลง และ relocate ร้านในบางทำเลปรับขนาดเล็กลง ส่วนต่างประเทศ เราจะเน้นลงทุนแบรนด์ HARNN ในจีนที่เดียวเท่านั้น” ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนจิรา รีเทลฯ บอก


    แบรนด์ใหม่ที่ได้นำเข้ามาเสริมพอร์ตกลุ่มแฟชั่น เป็นแบรนด์แรกในปีนี้ ได้แก่ MM 6 Maison Margiela จากฝรั่งเศส เพิ่งเปิดร้าน mono store ขนาด 100 ตารางเมตร สาขาแรกที่ชั้น G สยามดิสคัฟเวอรี่ สาเหตุที่ธนพงษ์เลือกแบรนด์นี้เข้าพอร์ต เพราะธนจิราอยู่ในธุรกิจแฟชั่นมานาน ทีมงานจึงทำงานตรงนี้ได้ดี เพราะมีความถนัดจัดการบริหารสินค้าประเภทนี้ได้อย่างแม่นยำ MM 6 Maison Margiela เป็นแบรนด์ที่ 4 ของพอร์ตแฟชั่น ราคาของ MM 6 Maison Margiela มีระดับราคาสูงกว่า Ganni คือ เสื้อ T-shirt ตัวละ 10,000 บาท Jacket 20,000 บาท สินค้าจะดีไซน์ล้ำสมัย ใส่ได้ทั้งชายหญิง

    “แบรนด์ใหม่ๆ ที่เรานำเข้ามา จะตอบโจทย์ลูกค้าเดิมของเรา เราเลือกแบรนด์ที่ดีไซน์มีเอกลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาเยอะ อย่างแบรนด์ Ganni แบรนด์แฟชั่นจากเดนมาร์ก เราขายได้ 10 ล้านบาทจากสาขาเดียว เพราะคนเข้าใจสินค้า” ธนพงษ์บอก

MM 6 Maison Margiela


    และแบรนด์ใหม่ของกลุ่มไลฟ์สไตล์ที่จะเปิดตัวเป็นแบรนด์ที่ 2 ของพอร์ตในเดือนสิงหาคมปีนี้ จะเป็นสินค้า activewear จากบราซิล ราคายังไม่ได้กำหนด แต่เข้าถึงง่ายและมีคุณภาพดี สินค้ามีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่สปอร์ตแวร์ แอคเซสเซอรี ไปจนถึงบีชแวร์

    “สินค้านี้จะเข้ามาเติมพอร์ตของกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกเซกเมนต์ และเป็นการขยายฐานสู่ลูกค้าใหม่ๆ ด้วย affordable price with high quality เป็นครั้งแรกของธนจิรา”

    ส่วนแบรนด์ที่ 3 ที่จะเปิดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คือ Gordon Ramsay street burger ซึ่งอยู่ระหว่างหาทำเล

    ธนพงษ์ กล่าวต่อว่า แม้จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แต่งบการลงทุนในปีนี้ถูกตัดลงเกือบครึ่งจากปีก่อน โดยในปีที่ผ่านมา ธนจิราฯ ใช้เงินขยายกิจการทั้งปี 116 ล้านบาท แต่ปีนี้ถูกตัดเหลือเพียง 70 ล้านบาท เงินทุนจำนวนนี้จะเน้นลงทุนในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขยายกลุ่มงานแบรนด์เดิม 10 โครงการที่เหลืออีก 16 โครงการเป็นการย้ายพื้นที่ ปรับปรุงตามเงื่อนไขของศูนย์การค้า


เตรียมขยายแม่ข่ายทุกมณฑลในจีนปีหน้า

    สำหรับตลาดต่างประเทศ ธนพงษ์บอกว่า ในปีนี้จะเน้นขยายธุรกิจของ HARNN ในจีน เพราะเป็นโครงการที่ทำแล้วไปได้ดี บริษัทได้ร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น ขยายธุรกิจ HARNN ผ่าน HARNN Greater China ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนถือหุ้นโดยธนจิราฯ 55 เปอร์เซ็นต์ และนักธุรกิจท้องถิ่น 45 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจในจีนมาได้กว่า 1 ไตรมาส สินค้าของ HARNN ขายผ่านร้านเชนสโตร์คอสเมติก และร้านสเปเชียลตี้สโตร์มากกว่า 200 จุดขายทั่วประเทศจีน และผ่าน Provincial Agents ครอบคลุมใน 6 มณฑล ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง เหอหนาน เฮยหลงเจียง เจียงซู เจ้อเจียง และทิเบต

    นอกจากนี้ยังมีร้าน HARNN คอนเซ็ปต์สโตร์อีก 2 แห่งที่เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น และช่องทาง E-commerce platform และ Livestreaming ต่างๆ เช่น T-Mall, Xiao Hong Shu, Douyin, JD.com และอื่นๆ ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการขายสินค้าในช่วงเริ่มต้นธุรกิจในจีน


    สินค้าของ HARNN ที่ขายดีที่สุดในจีนคือบอดี้ออยส์ ลูกค้าของ HARNN มีกำลังซื้อ และรู้จักสินค้ามาก่อนในไทย HARRN ไม่ได้เป็นสินค้าแมส แต่เป็นสินค้าพรีเมียม มียอดขายเพิ่มขึ้นทุกเดือน เป้าหมายขยายธุรกิจของ HARNN ในจีนจึงชัดเจนมาก

    “ณ วันนี้เรามีแม่ข่ายอยู่ในจีน 6-7 รายกับจุดขายกว่า 200 แห่ง เราจะขยายเครือข่ายในจีนมากขึ้นในปีนี้ จีนมี 33 มณฑล เราจะลุยขยายแม่ข่ายให้ครอบคลุมทุกมณฑลปีหน้า” ธนพงษ์บอก

    เมื่อเร็วๆ นี้ HARNN Greater China ได้เปิดตัวแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกที่ หางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน การเปิดตัวร้าน HARNN Flagship แห่งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของแบรนด์ HARNN ในการยกระดับโมเดลธุรกิจสู่การสร้าง Brand Ecosystem อย่างครบวงจร โดยเชื่อมโยงสินค้า บริการ และไลฟ์สไตล์เข้าไว้ด้วยกันเป็นครั้งแรก ร้านแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 170 ตารางเมตร มีทั้งโซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Retail) และพื้นที่ให้บริการสปา (Spa) สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของ HARNN อย่างเต็มรูปแบบ


ปิดร้าน Cath Kidston และมารีเมกโกะ คาเฟ่ บางสาขาปีนี้ ส่วนที่เปิดใหม่ปรับขนาดพื้นที่เล็กลง เหมาะกับเศรษฐกิจ

    “เพราะความนิยมของแบรนด์ลดลงไป ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม ชอบใช้ถุงผ้ามากขึ้น เราก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสาขาเยอะ เราจึงปรับกลยุทธ์ ลดจำนวนสาขาที่ไม่ active ของ Cath Kidston ที่ไม่ทำกำไรลงอีก 5 สาขา ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราปิดร้านรีเทลของ Cath Kidston ไปแล้ว 4 สาขา และปิด Cath Kidston Tearoom ซึ่งเป็นธุรกิจคาเฟ่ที่เซ็นทรัลเวสต์วิลล์ไปแล้ว 1 สาขา

    “ส่วน มารีเมกโกะ คาเฟ่ ที่ยังเหลืออีก 2 สาขาก็จะปิดเช่นกัน เพราะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ ส่วนสาขาที่เหลืออยู่เราจะเน้นสร้างกำไรมากขึ้นในปีนี้” ธนพงษ์บอก

    ธนพงษ์เริ่มเปิด Cath Kidston café ในครั้งแรก เพราะถือว่าเป็นความคิดริเริ่มที่เจ้าของกิจการควรจะต้องมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ หากบริษัทธนจิราเป็นแค่บริษัทที่ซื้อมาขายไป ธุรกิจจะขาด Value Added

    ขณะที่การตัดสินใจเปิดมารีเมกโกะคาเฟ่ ก็เพราะต้องการเรียนรู้การเข้าสู่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในช่วงแรกมารีเมกโกะคาเฟ่บูมมาก เนื่องจากธุรกิจคาเฟ่ทั้ง 2 แบรนด์มีแค่เมืองไทย หรือมีบ้างแต่ไม่เต็มรูปแบบ จึงไม่มีต้นแบบเมนูใหม่ๆ หรือ growth engine ใหม่ๆ เข้ามาในระยะหลัง และตัดสินใจปิดบางสาขาของคาเฟ่ไปก่อนหน้านี้


    “ความหอมหวานของร้านคาเฟ่จะเป็นไปตามยุคสมัย ต้องมีเมนูใหม่ๆ เข้ามาเสริม แต่เราไม่ได้เสียเวลาเปล่า การเปิดคาเฟ่ ทำให้เราได้เรียนรู้พื้นฐานบริการ มาตรคุณภาพและราคา ร้านเราเติบโตแบบออร์แกนิค มีลูกค้าหมุนเวียนตลอดเวลา เป็นไปตามช่วงเวลา แต่อยู่ได้ การเป็นนักธุรกิจไม่มีหรอก 100 อย่างที่คิดไว้จะถูกต้องทั้งหมด ต้องมีพลาดบ้าง แต่อย่าผิดพลาดเรื่องเดิมอีก เราล้มได้แต่ต้องรีบลุกขึ้นให้เร็ว เพราะเราไม่มีเวลาเสียใจ” ธนพงษ์บอก

    นอกจากการปิดร้านคาเฟ่แล้ว ร้านรีเทลของ Cath Kidston บางแห่งต้องย้ายทำเล เพราะศูนย์ต้องการพื้นที่เดิมคืน การเปิด Cath Kidston ในทำเลใหม่ บริษัทปรับพื้นที่ให้มีขนาดเล็กลง เช่น ที่เซ็นทรัลเวิลด์ พื้นที่จาก 100 ตารางเมตร จะเหลือแค่ 75 ตารางเมตรเท่านั้น Cath Kidston โฉมใหม่ได้ย้ายมาอยู่ที่ ชั้น 2 โซน Eden เปิดตัวตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่นี่ลูกค้ารับรู้แบรนด์ได้ง่ายมากขึ้น เพราะดีไซน์ร้านที่ถ่ายทอดกลิ่นอายอังกฤษร่วมสมัย อบอุ่น มีความคิดสร้างสรรค์ตามแบบฉบับของ Cath Kidston พร้อมสินค้าที่หลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า อุปกรณ์เครื่องครัว และอีกหนึ่งไฮไลต์พิเศษที่ไม่ควรพลาดกับ ‘Cherry Collection’ คอลเลกชันลิมิเต็ด เปิดตัวให้ช็อปก่อนใครแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่สาขา Central World เท่านั้น

    Cath Kidston เซ็นทรัลเวิลด์ จะมาในรูปลักษณ์ใหม่ เป็นร้านแบบเดียวกับช็อปคอนเซ็ปต์ล่าสุดที่เพิ่งเปิดไปไม่กี่อาทิตย์ที่ญี่ปุ่น ที่นี่ลูกค้าจะเห็น Cath Kidston ในมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม แบรนด์จะมีความเป็น modern look สีสันสดใส สว่าง เห็นแล้วน่าแวะซื้อของมากขึ้น ส่วนสาขาที่เมกา บางนา ซึ่งจะเปิดในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ขนาดพื้นที่จะถูกปรับลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 100 ตารางเมตรเหลือ 50 ตารางเมตร แม้พื้นที่จะลดลงแต่สินค้ามีให้เลือกครบเหมือนเดิม

    “ช่วงนี้เศรษฐกิจถดถอย ทำธุรกิจลำบาก ผลพวงจากโควิดทำให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมมาช็อปช่องทางออนไลน์มากขึ้น แบรนด์ต้องปรับตัว เพราะเทรนด์เปลี่ยนเร็ว นอกจากนี้คนยังจ่ายเงินกับประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว ชอบกินหรูอยู่สบาย พักโรงแรมแพงๆ เพื่อสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ ลูกค้ายังประโคมซื้อสินค้าลักชัวรี่ เราอยู่ในกลุ่มนี้ก็ได้ประโยชน์ แต่เราเจอความท้าทาย เพราะเราขยายตัวไปในต่างประเทศและยังเจอ On Top จากสถานการณ์เศรษฐกิจ เราเอาเงินที่คิดแบบพ่อค้าไปต่อยอด ได้มาก็ใส่ไปใหม่ แต่มีสะดุดบ้าง บุคลากรในต่างประเทศยังต้องได้รับการเรียนรู้ให้ครบทุกมิติ เราชะลอการลงทุนใหม่ในประเทศที่ยังไม่สามารถทำกำไรได้ ควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุน” ธนพงษ์บอก

    สำหรับแบรนด์มารีเมกโกะ เป็นธุรกิจที่อยู่ตัวและสามารถสร้างการเติบโตได้ ปัจจุบันมีร้าน Concept Store ทั้งหมด 14 แห่งในไทย ถือเป็นตัวท็อปของเอเชียถ้าไม่นับรวมญี่ปุ่น บริษัทตั้งเป้าหมายจะเปิดร้านมารีเมกโกะให้ได้ 4-5 แห่งในกรุงเทพฯ ภายใน 4 ปี

    ส่วนแบรนด์ยูไนเต็ดแอโร่แฟชั่นจากญี่ปุ่น วางขายที่ชั้น M ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ฐานลูกค้าค่อยๆ เพิ่มขึ้น แบรนด์นี้ปราบเซียน เพราะไม่มีโลโก้ คนซื้อเพราะชอบดีไซน์และการตัดเย็บ ลูกค้า 70% เป็นนักท่องเที่ยว ที่เหลืออีก 30% เป็นคนไทย

    ปัจจุบันธุรกิจของธนจิรามี 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไลฟ์สไตล์ ได้แก่ Pandora และ Cath Kidston กลุ่มแฟชั่นได้แก่ แบรนด์ Marimekko, Ganni, United Arrows และ MM 6 Maison Margiela กลุ่ม Wellness and Hospitality ได้แก่ HARNN brand และกลุ่มร้านอาหาร ได้แก่ Gordon Ramsay Bread street kitchen and bar และ Street Pizza


    ธนจิรา รีเทลฯ ทำรายได้รวม 1,774 ล้านบาทในปี 2567 เติบโต 24 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า รายได้ของบริษัท 52 เปอร์เซ็นต์มาจากไลฟ์สไตล์ 23% มาจากกลุ่มแฟชั่น ที่เหลืออีก 17% และ 8% มาจากรายได้ของธุรกิจกลุ่มความงามและเวลเนส และอาหาร-เครื่องดื่ม และในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโตมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และทำกำไรให้มากกว่าปี 2024 แต่สูงกว่าปี 2023

    ในไตรมาสแรกของปีนี้ ธนจิรา รีเทลฯ มีรายได้รวม 485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.9% แบ่งเป็นรายได้จากการขายและบริการในประเทศ อยู่ที่ 425.3 ล้านบาท ลดลง 3.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่เหลืออีก 51.6 ล้านบาทเป็นธุรกิจในต่างประเทศ โดยที่จีนเติบโตกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังรวมรายได้จากธุรกิจของ HARNN และ Cath Kidston ในเมืองโฮจิมินห์ และฮานอยรวม 11 สาขา และในญี่ปุ่นด้วย

    อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิของบริษัทในช่วงเดียวกันลดลง 34.5% จากปีก่อนหน้าเหลือ 39 ล้านบาท เนื่องจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายธุรกิจในระยะยาว และกำลังซื้อของผู้บริโภคยังชะลอตัวจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา


เตรียมส่ง Burger ใต้ร่มเงา Gordon Ramsay ลงตลาดไตรมาส 4 ปีนี้

    ปัจจุบันธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้ธนจิราฯ มี 2 ส่วนคือ กลุ่ม Gordon Ramsay Bread Street Kitchen & Bar มี 2 สาขาที่เอ็มสเฟียร์และไอคอนสยามที่เปิดตัวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในปีนี้บริษัทมีแผนจะเปิดตัว เบอร์เกอร์แบรนด์ใหม่ภายใต้ Gordon Ramsay ซึ่งจะใช้ฟื้นที่ขนาดเล็กลง ไม่ต้องใช้เงินทุนต่อตารางเมตรมาก เหมาะกับกำลังซื้อในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

    “การขยายธุรกิจร้านอาหารต้องค่อยเป็นค่อยไป เราได้เรียนรู้เรื่องร้านอาหารและเครื่องดื่มในปีที่ผ่านมา ทำให้เราปรับตัวได้ดีขึ้น การ break even ของธุรกิจอาหารจะใช้เวลา 3 ปีเท่ากับธุรกิจแฟชั่นไม่ได้ ร้านอาหารต้องใช้เวลาถึง 4 ปี” ธนพงษ์บอก


    เขากล่าวอีกว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่มาเร็วและไปไวได้ ความที่เป็นกิจการที่มีความหอมหวาน มีรายใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดตลอดเวลา บริษัทจึงต้องมีความแม่นยำ ต้องวางแผนซื้อวัตถุดิบต้องดี ยิ่งมี scale ยิ่งได้เปรียบ อย่างไรก็ดี ถ้าทำแล้วไม่มีผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า ก็จะเป็นผลร้ายเช่นกัน

    การทำร้านอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติหรือการตกแต่งเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจในหลายมิติ ตั้งแต่การลงทุน การออกแบบร้าน การจัดการอุปกรณ์ และการบริหารทีมงานให้เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะถ้าเราบริหารต้นทุนไม่ดี ก็อยู่ไม่รอด ดังนั้นก่อนจะเริ่มอะไรใหม่ เราจะวางแผนองค์กรให้พร้อม บรีฟให้ทุกแผนกรู้ทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และเปิดโอกาสให้ทีมตั้งคำถามมากขึ้น

    “ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้วิธีการทำงานในวงการอาหารอย่างมืออาชีพมากขึ้นทุกวัน มันไม่ง่าย บางคนบอกว่าเหมือนปราบเซียน แต่เรามองว่ายิ่งยาก ยิ่งท้าทาย และเมื่อเศรษฐกิจกลับมา เรายิ่งมั่นใจว่าเราพร้อมจะขยายและเติบโตอย่างยั่งยืน” ธนพงษ์กล่าวทิ้งท้าย



ภาพ: ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น

ออกแบบภาพปก: ธัญวดี นิรุตติศาสตร์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : MAGURO ขยายต่อไม่หยุด เตรียมเปิดตัวแบรนด์ใหม่ Bincho ร้านอาหารญี่ปุ่นย่างถ่าน สาขาแรกเมกา บางนา ก.ค.นี้

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine