เปิดใจ ‘อัจฉรา อัมพุช’ เร่งหาสูตรสำเร็จใหม่ให้ ‘เดอะมอลล์’ พร้อมดึงเจน 2 เสริมทัพ - Forbes Thailand

เปิดใจ ‘อัจฉรา อัมพุช’ เร่งหาสูตรสำเร็จใหม่ให้ ‘เดอะมอลล์’ พร้อมดึงเจน 2 เสริมทัพ

เปิดใจ “อัจฉรา อัมพุช” ทำไมต้องเร่งหาสูตรสำเร็จใหม่ๆ ให้เดอะมอลล์ เผยยังไม่คิดวางมือ แต่เตรียมหา “successor’’ พร้อมดึงเจน 2 เสริมทัพดันเดอะมอลล์ไปต่อ ขณะเดียวกันเตรียมลุยซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่น ดันแบรนด์ไทยไปเวทีโลก


    หากพูดถึงเดอะมอลล์กรุ๊ป “ศุภลักษณ์ อัมพุช” คือภาพจำตลอดกาลของกลุ่มเดอะมอลล์ ทั้งที่ยังมีผู้บริหารจากตระกูล “อัมพุช” ร่วมบริหารงานและสร้างความสำเร็จของเดอะมอลล์ให้อยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 4 ทศวรรษ และหนึ่งในหญิงแกร่งอีกคนที่เดอะมอลล์จะขาดไม่ได้ก็คือ “อัจฉรา อัมพุช” ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารอาวุโส เธอเป็นมือขวาของพี่สาวคนโต (ศุภลักษณ์ อัมพุช) ที่ช่วยบุกเบิกและพลิกโฉมเดอะมอลล์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จนได้รางวัลมากมาย

    หลังจบการศึกษาด้านอินทีเรียดีไซน์จากอังกฤษ อัจฉราเข้ามาร่วมงานที่ห้างของตัวเองทันที แต่ด้วยวัยเพียง 20 ปีกว่าๆ ในตอนนั้น การขาดประสบการณ์ในด้านการทำค้าปลีกจึงยังเป็นเรื่องยากสำหรับอัจฉรา ประกอบกับความมี passion เรื่องแฟชั่น ชอบการแต่งตัวเป็นชีวิตจิตใจ อัจฉราจึงขออนุญาตคุณพ่อ “ศุภชัย อัมพุช” ผู้ก่อตั้งบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด แยกมาทำแบรนด์แฟชั่นของตนเอง 2 แบรนด์ ได้แก่ Gazebo เสื้อผ้าสำหรับสาวเทรนดี้ ชอบแต่งตัว สไตล์หวานๆ อีกแบรนด์หนึ่งคือ Beach Club เป็นเสื้อผ้าฝ้าย ผ้าคอตตอน สวมใส่เดินชายทะเล ใส่ได้ทั้งชายหญิง

    อัจฉราให้เหตุผลว่า เธออยากค้นหาตัวเอง นอกจากความท้าทายแล้ว การสร้างแบรนด์แฟชั่นซึ่งเป็นสิ่งที่เธอชอบ เป็นการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในช่วงนั้น ไม่ต้องมองซ้ายมองขวา และมีคนมาก๊อปปี้เหมือนที่นักธุรกิจรุ่นใหม่เจอในปัจจุบัน ธุรกิจกำลังไปได้ดีทั้งในไทยและส่งออก แต่เพียง 4-5 ปีก็ต้องส่งต่อให้คนอื่น เพราะคุณพ่อขอให้เธอกลับมาช่วยงานที่ห้าง

    อัจฉรา นั่งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายจัดหาสินค้า ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2526 ก่อนจะขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มจัดหาสินค้าในปี 2536 และปี 2541 ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายบริหารสินค้า เอ และดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารอาวุโสตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 จนถึงปัจจุบัน

    อัจฉราเป็นกำลังสำคัญของเดอะมอลล์ในเรื่องการพัฒนาคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ และเทรนด์ของศูนย์การค้า ขณะที่ศุภลักษณ์จะดูภาพรวมทั้งหมด และพี่น้องคนอื่นที่ดูโอเปอเรชั่น และการเงิน


    “การทำธุรกิจในยุคนี้ยากกว่าเมื่อก่อนมาก ถ้าจะอยู่รอดได้ต้องคิด beyond คนอื่น ต้องเร็ว และต้องมีความแข็งแกร่งของเงินทุนด้วย ยิ่งถ้าหากมีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีมากๆ ธุรกิจจะไปได้ไกล แม้อัมพุชจะเป็นครอบครัวขนาดเล็ก แต่พวกเราทำเต็มที่และทำให้ดีที่สุดในทุกๆทำเลที่เราไป เรายึดมั่นในคำสอนของคุณพ่อ ที่ให้คิดอะไรใหม่ๆ แตกต่าง ไม่เหมือนคนอื่น และเราพร้อมเปลี่ยนตัวเองตามโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” อัจฉราเล่า

    เธอบอกว่า การทำรีเทลหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องสร้างแรงบันดาลใจตลอด และวิธีการที่อัจฉรายังใช้เหมือนเดิมคือหาแรงบันดาลใจจากการเดินทางท่องเที่ยว แต่จากที่เคยไปยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เพื่อดูเทรนด์ค้าปลีกใหม่ๆ ปัจจุบันเธอเลือกที่จะไปเที่ยวในประเทศที่ได้ประสบการณ์ที่ตรงกันข้าม เช่น ศรีลังกา โมร็อกโก ปากีสถาน เป็นต้น

    “โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก เทคโนโลยีเข้ามา เราดูเทรนด์ต่างๆ ได้จากสื่อออนไลน์ เรามีประสบการณ์มานาน จึงเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้เราเลยหาประเทศใหม่ๆ ที่อยากจะไปเที่ยวในอนาคตคืออุซเบกิสถาน หรือจีนก็อาจจะยังไปอยู่ แต่หาเมืองกันดารๆ นอกจากหาแรงบันดาลใจ เราก็จะเอาขยะที่อยู่ในหัวไปทิ้งที่นี่ด้วย เพื่อให้สมองเราว่าง พร้อมกลับมาคิดอะไรใหม่ๆ ได้ บางทีการแค่ได้นั่งมองภูเขาลูกหนึ่ง เราก็คิดอะไรได้เยอะ เรื่องธรรมชาติ วัฒนธรรม เห็นความพอดี และเห็นโอกาส” อัจฉราเล่า

    แม้จะทำงานหนักแค่ไหน อัจฉรายังตกลงรับตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นของรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยหวังว่าประสบการณ์ด้านแฟชั่นของเธอจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และต่อยอดธุรกิจแฟชั่นไทยให้ไปยืนอยู่ในเวทีโลกได้ในวันหนึ่ง

    “เราไม่เคยทำงานกับราชการมาก่อน เลยใช้เวลาตัดสินใจอยู่ 2-3 วัน เพราะเกรงใจนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มาคุยหลายครั้ง ที่ตัดสินใจมาร่วมทำงานเพราะคิดว่าเราน่าจะทำประโยชน์ให้กับวงการแฟชั่นไทยและประเทศชาติได้” อัจฉราบอก

    สำหรับแผนงานซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นในปีนี้และปีหน้า ทางคณะทำงานเดิมได้เขียนแผนไว้หมดแล้ว แต่อัจฉราจะมาเน้นงานภาคปฏิบัติ เน้น Reskill และ Upskill สอนหลักสูตรที่เรียนจบแล้วสามารถไปประกอบอาชีพได้ทันที เช่น สอนแต่งหน้า การปักผ้า การทำแพทเทิร์น เพื่อไปต่อยอดการทำงานและเพิ่มมูลค่าให้กับวงการแฟชั่นต่อไป


    “สินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาดไทย เราจะเน้นเรื่องการสร้างแบรนด์แฟชั่น ทำสินค้าคุณภาพ ดีไซน์แข่งขันได้ แฟชั่นเป็นอะไรที่แย่ที่สุด เป็นธุรกิจที่โดนผลกระทบลำดับแรก หากเศรษฐกิจไม่ดี คนไทยบริโภคสินค้าแฟชั่นต่างประเทศเยอะ แต่ประเทศเราไม่มีภาพผู้นำแฟชั่น ดังนั้นเราจะปลุกแฟชั่นไทยใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่หันมามองแฟชั่นไทย ใส่ได้สนุก อยากเห็นแบรนด์แบบ Gentle Woman เยอะ ทำไมคนจีนถึงซื้อแบรนด์นี้

    “ก่อนหน้านี้เมืองไทยเคยมีการปลุกกระแสเรื่องกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นแล้วเลิกไป แต่ครั้งนี้เราจะทำเชิงลึก และมีทิศทางให้ผู้ประกอบการ ต้องทำแฟชั่นให้สามารถใส่ได้ทุกวัน เจาะตลาดกลางล่างให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ เราต้องรีบสร้างแบรนด์แฟชั่น ก่อนแบรนด์นอกจะเข้ามาท่วมตลาดไทยมากกว่านี้” อัจฉราบอก


    นอกจากเสื้อผ้าแฟชั่น ทางคณะทำงานจะส่งเสริมสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี ความงาม คราฟต์ หัตถกรรมไทยด้วย โดยด้านความงามจะไฮไลต์เรื่อง T-Beauty อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนรวมกันช่วยผลิตสินค้า โดยหยิบวัตถุดิบสมุนไพรไทยที่โดดเด่นมาเป็นส่วนผสม อาทิ ขมิ้น ข้าวหอมมะลิ หรือสะระแหน่ ผู้ประกอบการทุกคนต้องผนึกกำลังมาพูดคอนเซ็ปต์นี้กันทั้งประเทศ โดยโปรโมตผ่านงานแฟร์ระดับประเทศว่าสินค้านี้สร้างจากสมุนไพรไทย มีความเป็นธรรมชาติ และต้องมีขายทุกที่ ยกตัวอย่างที่โมร็อกโกเขาจะมีขายสินค้าฮีโร่ทั้งประเทศ ทุกคนที่ไปที่นี่ต้องซื้อกลับ

    “เราวางกลยุทธ์ให้เห็นว่า เมืองไทยไม่ได้มีแต่อาหารหรือการท่องเที่ยว เราจะสร้างภาพลักษณ์แฟชั่นไทยใหม่ ต้องหา Hero Product ในแต่ละกลุ่มสินค้า ให้ขายได้เหมือนกางเกงช้าง เราเอาสินค้าเป็นตัวนำ ส่วนสินค้าความงามก็จะเน้นสร้าง T-Beauty” อัจฉราบอก

    อัจฉราบอกว่า ในปีนี้ยังพอแบ่งเวลามาช่วยเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นได้ แต่ก็แอบหนักใจเมื่อถึงเวลาที่เธอต้องทำงานในส่วนที่เธอต้องรับผิดชอบที่โครงการ Bangkok Mall มาถึง เธอบอกว่ากลยุทธ์ทุกอย่างถูกวางไว้แล้ว ภาครัฐต้องตั้งทีมมาช่วยทำงานเหมือนในประเทศเกาหลีซึ่งทำสำเร็จมาแล้ว

    กลับมาที่ธุรกิจของเดอะมอลล์ อัจฉราบอกว่า ลูกชายคนโตของเธอคือ น้องจีน-อิทธิฤทธิ์ รัตนธารส อัมพุช อายุ 26 ปี ได้เข้ามาร่วมบริหารที่นี่แล้วหลังจากจบการศึกษาทางด้าน Interior Design and Architecture จากอังกฤษ น้องจีนมาช่วยดูแลงานด้าน Leasing ขายพื้นที่ดิ เอ็มสเฟียร์ ที่เปิดตัวไปต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

    “น้องจีนเรียนอินทีเรียเหมือนแม่ เขาชอบแฟชั่นดีไซน์ เขาเลือกของเขาเอง และเรียนด้านธุรกิจ เขามีหัวการค้า จีนได้ฝึกกับป้าแอ๊ว (ศุภลักษณ์ อัมพุช) เขาเรียนรู้เร็ว มีความยืดหยุ่น มีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ นอบน้อม มีความคิดเป็นของตัวเอง เราก็คอย groom เรื่องงาน ถามเรื่องตรรกะความคิด เราเลี้ยงลูกแบบฟรีสไตล์ ให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเองและลองด้วยวิธีการของเขา และเคารพซึ่งกันและกัน เขาเห็นการทำงานของแม่ตั้งแต่เด็กเขารู้ว่าตรงไหนควรหรือไม่ควรทำ การปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำสำคัญที่สุด” อัจฉราบอก


    นอกจากเจนรุ่นร่วมก่อตั้งกับคุณพ่อแล้ว ปัจจุบันเดอะมอลล์มีเจนใหม่จากตระกูลอัมพุชมาทำงานที่เดอะมอลล์ทั้งหมด 4 คนแล้ว โดยดู leasing ซูเปอร์มาร์เก็ต และดูสินค้าในห้าง ส่วนที่ยังรอการเติมเต็มก็คือ การตลาด ไฟแนนซ์ ซึ่งคงจะตามกันมาในอนาคต โดยเฉพาะ น้องจ้า ฤทธิ์ธิดา ซึ่งปัจจุบันได้ทำงานด้านการ Merge & Acquisition และที่ปรึกษาอยู่ที่ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) ได้ปีกว่าๆ เพื่อเรียนรู้การทำงานกับผู้อื่น กฎระเบียบที่เคร่งครัดและเรียนรู้วิธีคิด

    อัจฉราเล่าว่า ลูกสาวคนนี้มีความแม่นยำ เข้าใจเรื่องการค้าปลีกมาก คุยอะไรให้ฟังก็ต่อติด น้องจ้าจึงถูกวางตัวให้มาดูด้าน business development หลังจากทำงานข้างนอกได้สักระยะหนึ่ง น้องจ้าจะมาช่วยดูทิศทางว่าจะสร้างเดอะมอลล์ไปในทางไหน

    ส่วนน้องจอม ฤทธิ์ตะวัน ลูกชายฝาแฝดกับน้องจ้า ต่างจากพี่น้องคนอื่นทั้งหมด ไม่ชอบยุ่งกับคน ไม่สังคม เขาขอไม่เข้าทำงานที่เดอะมอลล์ บอกว่าไม่มีหัวการค้าเหมือนพี่น้องคนอื่น จึงขอเรียนด้านเชฟ ซึ่งใกล้จบแล้ว

    อัจฉราบอกว่า ตอนนี้ยังเหลือคนในตระกูลที่รอมาเสริมทัพที่เดอะมอลล์อีก 4 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมด คือลูกของคุณอี๊ด สุทธิพงษ์ 1 คน เพิ่งจะอายุ 10 ปี อีกคนคือลูกคุณโอ่ง สันทนา 1 คน และลูกคุณอ๊อด สุรัตน์ พี่ชายคนโต อีก 2 คน


    “แม้จะมีเจนใหม่เข้ามาร่วมบริหาร เราก็ไม่เคยคิดจะวางมือ ตราบใดที่ยังมีโครงการใหม่ๆ ต้องพัฒนา ตอนนี้เราก็พยายามถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ และดึงมืออาชีพเข้ามามากขึ้น วันหนึ่งอาจจะต้องหามืออาชีพสัก 2-3 คนมาเติมเต็มแต่ละส่วนของคุณอ้อย เราอยากมี successor ที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาสูตรสำเร็จใหม่ เพราะสูตรสำเร็จที่เดอะมอลล์เคยใช้มา 40 ปีมันจบลงแล้ว

    “โลกเปลี่ยน ลูกค้าเปลี่ยน การใช้ที่ 20-30 ไร่สร้างศูนย์การค้ามันเล็กไปแล้ว สมัยนี้ไม่ได้ เพราะมีอะไรที่ Beyond การเปิดตัวโครงการ Bangkok Mall ที่บางนาซึ่งมีพื้นที่ถึง 1 ล้านตารางเมตร และการสร้างเดอะมอลล์รามคำแหงทั้งสองฝั่ง ที่กำลังวางคอนเซ็ปต์ และจะเปิดภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จะเป็นอะไรที่ใหม่ ตื่นเต้น ไม่ได้เป็นแค่มาสเตอร์พีซอีกชิ้นหนึ่ง แต่จะเป็นการสร้างธุรกิจภายใต้สูตรสำเร็จอันใหม่ที่จะทำให้เดอะมอลล์ได้ไปต่อในสังเวียนค้าปลีกเมืองไทย” อัจฉรากล่าวทิ้งท้าย





เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศุภลักษณ์ อัมพุช จากย่านช็อปปิ้งหรูสู่ “มอลล์เพื่อคนรุ่นใหม่”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine