ทายาทธุรกิจแลคตาซอย ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล อดีต Data Scientist เนื้อหอมจาก Facebook ปฏิเสธคำเชิญชวนของคอร์ปอเรทใหญ่ มาร่วมสานฝันกับ เลิร์น คอร์ปอเรชั่น กลุ่มธุรกิจการศึกษาชั้นนำของไทยที่ประสบความสำเร็จในการชักนำเขาด้วยอุดมการณ์มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ
เป้าหมายในการ “เปลี่ยนชีวิตเด็กไทย 1 ล้านคน” ภายในปี 2564 ของบริษัทเลิร์น คอร์ปอเรชั่น กลายเป็นตัวดึงดูดสำคัญให้ ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล หรือ “ ต้า” ตกลงร่วมหัวจมท้ายกับเลิร์น กรุ๊ป และเริ่มก่อตั้งธุรกิจใหม่ด้วยกันในนาม “Skooldio” มากกว่าออฟเฟอร์งามๆ จากองค์กรขนาดใหญ่ที่ชักชวนให้เขาไปร่วมงานด้วย หลังตัดสินใจลาออกจาก Facebook เพื่อกลับมาทำงานให้กับประเทศไทย ตาม “สัญญาใจ” ที่เขามีในฐานะนักเรียนทุนอานันทมหิดลเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว
“เหตุที่กลับไทยมีหลายส่วนๆ หนึ่งก็คือครอบครัวอยากให้กลับมา อีกส่วนหนึ่งคือเราเป็นนักเรียนทุน เรามีสัญญาใจ จริงๆ ทุนนี้ไม่มีข้อผูกมัด แต่สัญญาใจที่เราตกลงกันไว้คือกลับมาทำอะไรก็ได้ ที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ”
ด้วยประสบการณ์การทำงาน 3 ปีที่ สำนักงานใหญ่ Facebook สหรัฐอเมริกาทำให้ ดร.วิโรจน์ เป็นที่ต้องการจากองค์กรใหญ่หลายแห่งซึ่งประสบความยากลำบากในการหา Data Scientist เพื่อมาช่วยพัฒนาขีดความสามารถทาง “Big Data” และการนำเอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจต่างๆ ทว่าเขากลับสนใจงานด้านการสอนหรือการศึกษามากกว่าเพราะมองว่าหากเขาช่วยพัฒนากำลังคนให้มีทักษะทางเทคโนโลยีจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า
ดร.วิโรจน์ พบว่า passion ในการสอนของเขายังไม่ได้เหือดหายไปไหน จึงได้เข้าไปคุยกับทาง เลิร์น คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเห็นด้วยกับเขาในการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ไปสู่ธุรกิจการให้การฝึกอบรมบุคลากรในองค์กร จึงเป็นที่มาของการร่วมก่อตั้ง Skooldio ซึ่งเชื่อมต่อธุรกิจการศึกษาของเลิร์น กรุ๊ป ให้ครบวงจรตามคอนเซปท์ “Life-long Learning” จากการให้การศึกษา เด็กนักเรียนไปจนถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ครู อาจารย์ ต่อยอดไปจนถึงการให้การอบรมทักษะอาชีพ (professional development)
โดยเริ่มจากทักษะด้านเทคโนโลยีที่เป็นที่ขาดแคลนสูงสุด (ปัจจุบันหลักสูตรที่ได้รับความนิยมสูงสุดของ Skooldio คือ Design Thinking ตามด้วยคอร์สที่เกี่ยวกับการนำเอาดาต้ามาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีคอร์สที่ได้รับความนิยมอื่นๆ เช่น การออกแบบ User Experience การออกแบบแอพพลิเคชั่น และการออกแบบเว็บ)
“บริษัท Skooldio นี่ ขาหนึ่งเราทำเรื่องสอนหนังสือ ทำโรงเรียนสอนเทคโนโลยี แต่อีกขาหนึ่งเราเป็นเหมือนซอฟต์แวร์เฮ้าส์ เรายังเป็น tech partner ให้กับบริษัทในเครือของเรา ก็เลยรับทั้งสองขาอยู่ในตอนนี้”
Skooldio ตั้งเป้ารายได้ 100 ล้านบาทในปี 2562 ปัจจุบันรายได้มากกว่าครึ่งยังมาจากฝั่งของการเป็น tech partner ให้กับบริษัทแม่ ที่เหลือมาจากธุรกิจการ “อัพสกิล” ให้กับบุคลากรในองค์กรต่างๆ
https://www.facebook.com/ForbesThailandMagazine/videos/1964040407232686/ในส่วนของกลุ่มเลิร์นนั้น หนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงในบทบาท tech partner ให้บริษัทแม่ของ Skooldio คือการพัฒนา TCASter แอพพลิเคชั่นบนมือถือที่รวบรวมข้อมูลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไว้ในที่เดียว ที่เปิดตัวในปี 2560 มีผู้ใช้งานถึง 300,000 คน นอกจากนี้ Skooldio ยังอยู่เบื้องหลังการพัฒนาแพลตฟอร์ม “เทรนครู” ซึ่งกลุ่มเลิร์นได้จับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการให้การฝึกอบรมครูผ่านช่องทางออนไลน์ไปกว่า 10,000 คน ในปีนี้ และตั้งเป้าเทรนครู 100,000 คน ในปี 2562
ดร.วิโรจน์ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ว่าในอนาคตเขาอาจจะเข้าไปร่วมงานกับธุรกิจครอบครัวที่บริษัท แลคตาซอย ที่พี่สาวของเขามัลลิกา จิรพัฒนกุล เพิ่งได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ฝ่ายขายเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเนื่องจาก Skooldio เพิ่งเริ่มอย่างจริงจังและมีการจดทะเบียนบริษัท เมื่อประมาณ 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง เขายังมองเห็นโอกาสในการสร้างการเติบโตและขยายขอบเขตธุรกิจของ Skooldio ไปได้อีกมาก
“ดูความเหมาะสมของจังหวะละกัน จริงๆ ตอนนี้ Skooldio เรียกว่าเพิ่งเริ่ม ก็คือ Skooldio น่าจะไปได้ไกลมาก อยากให้มันไปถึงสิ่งที่เราอยากได้ ค่อยว่ากันอีกทีว่าเราจะขยับไปทางไหน”
“เนื่องจากมันเป็น passion มันเลยชนะทุกอย่าง ว่าทำไมไม่ไปทำที่บ้าน ทำไมถึงไม่อยู่เก็บเงินต่อที่นู่น เพราะมันชัดว่าทำอย่างนี้เราแฮปปี้”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร, เลิร์น คอร์ปอเรชั่น
ติดตามอ่านฉบับเต็ม “ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล Passion ชนะทุกอย่าง” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561