แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากมาย แต่ ตลาดรถยนต์หรู กลับได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่ทุกคนคิด โดยได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดรถยนต์ทั่วไป ทาง EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ทำการวิเคราะห์ตลาดรถยนต์หรูในช่วงปีที่ผ่านๆ อีกทั้งยังพาสอดส่องเทรนด์ในตลาดแห่งนี้ในอนาคตอีกด้วย
รถยนต์หรู (Luxury Car) คือรถยนต์ที่ไม่เพียงตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายและความรู้สึกหรูหรา สำหรับผู้ขับขี่เท่านั้น แต่ยังต้องมีคุณสมบัติพิเศษด้านอื่นๆ และการให้บริการที่เหนือระดับกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติในเรื่องสมรรถนะของเครื่องยนต์และประสิทธิภาพในการขับขี่ แม้แต่การใช้วัสดุรวมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ ที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง เป็นต้น โดยปกติแล้วรถยนต์ในกลุ่มนี้จะมีราคาขายเริ่มต้นอยู่ที่ราว 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยแบรนด์ที่มีรถยนต์จัดอยู่ในหมวดรถยนต์หรู ได้แก่ BMW, Mercedes-Benz, Porsche, Rolls-Royce, Jaguar, Audi, Bentley, Lexus, Maserati, Lamborghini, Volvo, Ferrari, Land Rover และ Cadillac เป็นต้นภาพรวมตลาดรถยนต์หรู
จากข้อมูลพบว่ายอดขายรถยนต์หรูในทุกภูมิภาคกลับได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตของยอดขายรถหรูในตลาดหลักอย่างจีน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจจีน ที่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤตโควิด-19 สำหรับแบรนด์รถยนต์หรูที่ได้รับความนิยมสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2020 นั้น คือ Mercedes-Benz และ BMW ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 38.3 และร้อยละ 27.1 ตามลำดับ ในส่วนของตลาดรถหรูในไทยนั้นพบว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าเช่นเดียวกัน โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงของประเภทรถหรูในปี 2020 หดตัวเพียงร้อยละ -6.4 YOY เทียบกับยอดจดทะเบียนรถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -24.1 YOY โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2020 คือ Mercedes-Benz โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ร้อยละ 42.7 รองลงมาได้แก่ BMW ที่ครองตลาดไว้ร้อยละ 38.5 และ Volvo ที่ครองตลาดอยู่ร้อยละ 6.8 ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์นี้ครองส่วนแบ่งตลาด รวมกันมากถึงเกือบร้อยละ 90 ของยอดจดทะเบียนรถยนต์หรูทั้งหมดในไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของตลาดรถหรู โดยผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อสูงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณเงินฝากในระบบในปี 2020 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 YOY ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาทเป็นหลัก (ร้อยละ 56.7) สะท้อนถึงศักยภาพ และกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรถยนต์หรูในไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในปี 2021 ตลาดรถยนต์หรูก็ต้องพบกับปัญหาใหญ่ ทาง EIC พบว่าตลาดรถยนต์หรูได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่ารถยนต์ทั่วไป และสาเหตุหลักนั้นก็มาจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่ยังคงยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์หรูที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงจำนวนมากกว่า ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ตามที่คาดการณ์ แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม สะท้อนได้จากยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์หรูของไทยในปี 2021 ที่หดตัวร้อยละ -9.5 YOY ขณะที่ยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์ทั่วไปหดตัวร้อยละ -4.4 YOY อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดในช่วงปลาย ไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์โลกที่เชื่อว่า ด้ผ่านพ้นจุดตำ่สุดไปแล้ว รวมถึงการใช้จ่ายของ ผู้บริโภคที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ในเดือนตุลาคม 2021 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกันยายน สะท้อนว่าความต้องการของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็น ปัจจัยหนุนสำคัญต่อความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศ ทั้งในส่วนของรถยนต์ทั่วไปและรถยนต์หรู ในงาน Motor Expo 2021 เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามียอดจองรถยนต์หรูรวมทั้งสิ้น 4,849 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.3 ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมดในงาน เพิ่มขึ้นจากยอดจองรถยนต์หรูในปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 3,783 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.2 ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมดในงาน โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Mercedes-Bens, BMW, Lexus, Volvo และ Peugeot ตามลำดับแนวโน้ม ตลาดรถยนต์หรู ในไทย
สำหรับปี 2022 EIC คาดว่า มูลค่าตลาดรถยนต์หรูของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวกราวร้อยละ 14 YOY ตามการทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์การ ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้งการที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ น่าจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจแบบออฟไลน์ควบคู่ไปกับการทำการตลาดแบบออนไลน์ได้มากขึ้น แนวโน้มการเติบโตในระยะยาวนั้น EIC มองว่าตลาดรถยนต์หรูในไทยจะสามารถเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้ง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดที่เปลี่ยนไปก็จะมีส่วนช่วยสร้างความน่าสนใจและกระตุ้นความต้องการในตลาดรถยนต์หรูในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าการแข่งขันในตลาดรถยนต์หรูรุนแรงมากขึ้น โดยหลายแบรนด์มีการเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่อย่างเช่น กลุ่มรถ compact car ที่มีราคาตำ่ลงมาเพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อปานกลางถึงบนได้มากขึ้นผ่านการปรับฐานราคาขายที่กว้างขึ้นและมีการกำหนดราคาเริ่มต้นตำ่สุดอยู่ที่ 2 ล้านบาท เป็นตัวเลือกให้แก่กลุ่มตลาดใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ญี่ปุ่นรุ่นแพง อีกทั้ง จากการวิเคราะห์ของ EIC พบว่าปัจจุบันกลุ่มบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อย่างเป็นทางการ (Official dealer) มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่ากลุ่มผู้นำเข้าอิสระ หรือ Grey Market เนื่องจาก สามารถทำราคาขายได้ถูกลงค่อนข้างมากจากการที่มีโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย เช่น BMW และ Mercedes-Benz ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง บวกกับการทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการให้บริการหลังการขายและการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ (After-sale services) ที่ยาวนานขึ้นกว่าในอดีต นอกเหนือจากการตลาดเชิงรุกแล้วการปรับกลยุทธ์การตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการให้บริการแบบ Personalized services ของค่ายรถยนต์หรูต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการแข่งขันสำคัญที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา เช่น Maserati’s One-on-One Solution แอปพลิเคชันสำหรับการติดต่อนัดหมายแบบส่วนตัวกับลูกค้าแต่ละรายของแบรนด์ Maserati และการบริการ At-Home Test Drive ของ BMW อีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่มีผลต่อแนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์หรูคือ พฤติกรรมการใช้จ่าย ของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูงในเรื่อง “การลงทุนตามความหลงใหล” หรือ Passion Investment ซึ่งจะเป็นการลงทุนในของสะสมหรือของรักต่าง ๆ ตามความชอบหรือความหลงใหลส่วนตัว ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐบาลมีการจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้หันมาลงทุนของสะสมต่างๆ มากขึ้นแทน และของสะสมบางอย่างอาจสามารถสร้างกำไรให้กลุ่มผู้มีกำลังซื้อได้อีกด้วย โดยเฉพาะรถยนต์หรูประเภทระดับ Super car และ Hypercar ซึ่งเป็นรถที่มีสมรรถนะสูง ผลิตออกมาจำกัดและและราคาที่สูงกว่ารถหรูทั่วไป ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างดีในอนาคต เช่น Lamborghini, Aston Martin และ Ferrari เป็นต้นความท้าทายของ ตลาดรถยนต์หรู
ปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายด้านอื่น ๆ ที่ต้องจับตามอง มีทั้งในส่วนของอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์, ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ รวมไปถึงความต้องการของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ในส่วนของอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์นั้น เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดนตรงต่อราคารถยนต์หรูในไทย เนื่องจากรถยนต์หรูส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ทั้งนี้ปัจจุบันมีเพียงค่าย Mercedes-Benz และ BMW ที่มีโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย และยังมีการผลิตแค่เพียงบางรุ่นเท่านั้น การคิดอัตราภาษีรถยนต์นำเข้าในปัจจุบัน คำนวณจากราคาต้นทุนราคาสินค้านำเข้าแบบ CIF (COST + INSURANCE + FREIGHT) ซึ่งเป็นราคาขายรถยนต์บวกด้วยค่าอากร ค่าประกันภัย และค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยรวมแล้ว รถยนต์ที่นำเข้ามาขายในไทยในปัจจุบันจะต้องเสียภาษีรวมกันมากถึงราวร้อยละ 175-300 ของราคารถยนต์ แต่ตั้งแต่ที่กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์นำเข้าด้วยการคำนวณจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ก็ส่งผลให้ให้ผู้บริโภคหันมานิยมซื้อรถยนต์เครื่องยนต์ ไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน (ICE) มากยิ่งขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากครม. ในต้นปี 2022 ที่จะทำให้ผู้บริโภคเสียภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าน้อยลง ความท้าทายที่สองคือปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตใหม่ หรือลดอุปกรณ์เสริมรถยนต์บางรุ่นชั่วคราว เพื่อลดผลกระทบจากความล่าช้าในการผลิต อาทิ Porsche ที่จำเป็นต้องตัดตัวเลือกพวงมาลัยแบบไฟฟ้าและเปลี่ยนเป็นพวงมาลัยธรรมดาที่ปรับโดยใช้มือแทน นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับลดกำลังการผลิตลงเพราะระยะเวลาการส่งที่นานขึ้น อีกทั้ง ผู้ผลิตรถยนต์ยังต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากต้นทุนการขนส่งและวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างทองแดงที่ปรับราคาสูงขึ้นร้อยละ 4 YOY อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในตลาดและสำนักวิจัย IHS Markit ได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์นี้จะค่อย ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้นภายในปี 2022 และสามารถคลี่คลายลงได้ในปี 2023 ซึ่งจะเป็นช่วงที่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง สามารถเริ่มเดินสายการผลิตได้ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยเติมอุปทานที่ขาดแคลนในตลาดได้ ประเด็นสุดท้าย คือแนวโน้มตลาดและความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ที่สำคัญสำหรับตลาดรถยนต์หรู โดย EIC พบว่าเทรนด์รถยนต์พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเข้ามามีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งค่ายรถยนต์หรูต่างก็มีการเปิดตัว รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวเทรนด์ใน ตลาดรถยนต์หรู
ในไทยเองก็มีความพยายามผลักดันการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยตามแผน 30@30 ตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมดในปี 2030 เพื่อก้าวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่าง ๆ ที่มีการลงทุนผลิต EV ภายในประเทศ นอกจากเทรนด์พลังงานทางเลือกแล้วค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในแบบ New Normal มากขึ้น อย่างเช่น การเชื่อมต่อและส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย 5G และ Internet of things ที่เรียกว่า Connected Car ที่ครอบคลุมการการสื่อสารกับสิ่งต่างๆ รอบคันรถ ให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์การขับขี่ที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลที่มีต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ต่อไปได้ เช่น ข้อมูลปลายทางส่วนใหญ่ของการขับขี่แต่ละครั้งคือร้านอาหาร ระบบจะนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณและทางผู้ให้บริการจะได้เสนอโปรโมชันร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการให้ความสำคัญกับฟังก์ชันที่ช่วยสร้างความปลอดภัยและการลดอุบัติเหตุให้กับผู้ขับขี่ด้วย เช่น ระบบควบคุม ความเร็วคงที่พร้อมการปรับความเร็วอัตโนมัติ (ACC: Adaptive Cruise Control) ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB: Autonomous Emergency Braking) เป็นต้น ขณะเดียวกัน Car sharing ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจในอนาคตที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มได้รับความนิยมมาก ขึ้นในกลุ่มธุรกิจรถหรูเช่นกัน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบระหว่างการใช้บริการธุรกิจ Car sharing กับการใช้บริการรถ โดยสารสาธารณะที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขอนามัย เราจะพบว่าธุรกิจ Car sharing เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงจากการเดินทางร่วมกับผู้อื่นแล้ว ยังช่วยลดความแออัดของการจราจร ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย ธุรกิจรถหรูที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ Car sharing ได้แก่ บริการธุรกิจที่เป็นระบบสมาชิก (Subscription) ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะคล้ายกับการเช่ารถยนต์แต่มีเงื่อนไขที่สั้นกว่าและยืดหยุ่นมากกว่า เพื่อให้ลูกค้าสามารถขับขี่รถยนต์หรูที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ตำ่กว่า ซึ่งโมเดลในลักษณะนี้เป็นที่นิยมมากในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินน้อยกว่าคนรุ่นเก่า Porsche ได้เปิดตัวระบบสมาชิกรายเดือนที่ชื่อว่า Porsche Drive ในสหรัฐฯ ลูกค้าที่เป็นสมาชิกสามารถใช้รถยนต์หรูได้นานสุดถึง 3 เดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแตกต่างไปตามจำนวนรถยนต์ที่สมาชิกต้องการใช้ อีกธุรกิจที่เกี่ยวข้องคือ ธุรกิจบริการเช่ารถยนต์ระยะสั้น (Car Rental) ที่ได้รับความนิยมจากการตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความต้องการขับขี่รถยนต์หรู แต่ไม่ได้มีความต้องการถือครองไว้ใช้ในระยะยาวเพราะด้วยภาระค่าใช้จ่าย โดยมีรถยนต์หรูให้เช่าตั้งแต่ระดับ Premium Segment ไปจนถึงรุ่น Super car หรือแม้กระทั่ง Ultra-luxury อย่าง Rolls-Royce Ghost เป็นต้นตลาดรถยนต์หรูในมุมมองของ SCB EIC
โดยภาพรวมแล้ว EIC มองว่าตลาดรถยนต์หรูในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุค New normal โดยมีแนวโน้มปรับการขายเป็นผ่านช่องทาง Omni Channel มากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการลงทุนของสะสมตามความหลงใหล หรือ Passion Investment ในกลุ่มรถยนต์หรูที่สามารถ สร้างกำไรให้กลุ่มผู้มีกำลังซื้อได้ดีในอนาคตได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการการสนับสนุนจากภาครัฐจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดรถยนต์ในไทย อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์หรูยังคงเผชิญกับความท้าทายล่าสุดจากสถานการณ์โอไมครอนที่อาจส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตรถยนต์หรูบางรุ่น ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายที่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป เรียบเรียงจากบทความ ส่องตลาดรถหรูในไทย...โอกาสและความท้าทายที่น่าจับตามอง จาก EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ อ่านเพิ่มเติม: Olympus กับการเปลี่ยนโฟกัสเพื่ออนาคตไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine