"อุตสาหกรรมโฆษณา" เตือนนักการตลาด “ตื่นตัวได้ แต่อย่าตืนตระหนก” กับโควิดระลอกใหม่ ชี้มีปัจจัยหนุนการฟื้นตัว หวังปีนี้อุตสาหกรรมโต 10% แตะ 8 หมื่นล้านบาท แนะสินค้าจำเป็นใช้งบ สร้างแบรนด์ สร้างโอกาสการขายมากขึ้น อินเทอร์เน็ต ทีวี สื่อหลักเข้าถึงผู้บริโภค
ปี 2563 ถือเป็นวิกฤตอีกครั้งของอุตสาหกรรมโฆษณา จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมโฆษณาตกต่ำในรอบ 20 ปี จากข้อมูลของนีลเส็น อุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2563 ลดลง 11.6% มูลค่า 93,460 ล้านบาท แต่มูลค่าที่แท้จริงเมื่อหักส่วนลดต่างๆ เม็ดเงินโฆษณาในปีที่แล้วลดลงเกือบ 20% ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI) บริษัทที่ปรึกษา วางแผนและซื้อสื่อโฆษณา เปิดเผยว่า ตัวเลขที่แท้จริงจากการรวบรวมของ MI ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโฆษณาติดลบ 18.3% คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินที่หายไป 16,492 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2562 ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมมีมูลค่า 73,720 ล้านบาท ถือว่าตกต่ำมากที่สุดในรอบ 20 ปี เหตุผลหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมการตลาดทุกอย่างหยุดชะงัก ประกอบกับภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ปีนี้เชื่อว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา “เดิม MI คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาปี 2564 ภายหลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและเห็นสัญญาณต่างๆ ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ประกอบกับการฟื้นตัวของตลาดที่ส่งผลต่อรายได้ของไทย โดยเฉพาะจีน ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออก ทำให้ MI คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาปี 2564 บวกได้มากกว่า 10% เป็นอย่างน้อย” ภวัตกล่าว อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตามลำดับ ปลายเดือนธันวาคม ประเทศไทยเกิดการระบาดระลอกใหม่ ที่สร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรม ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น รวมทั้งข่าวสาร ข้อมูลที่จริงบ้าง เท็จบ้าง อาจทำให้เกิดการระงับโฆษณาและกิจกรรมการตลาดต่างๆ ซึ่งปกติในเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงวางแผนการใช้งบเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงซัมเมอร์ ซึ่งเป็นไฮซีซั่น ตื่นตัวได้ แต่อย่าตืนตระหนก แม้การระบาดระลอกใหม่ในครั้งนี้ จะดูรุนแรง แต่ภาพรวมตลาดดีกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มาตรการต่างๆ ไม่ได้คุมเข้มเหมือนปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริโภคได้มีการปรับตัว และมีประสบการณ์ ประกอบกับมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เรื่องแผนการแจกจ่ายวัคซีน ดังนั้นสำหรับนักการตลาดตื่นตัวได้ แต่ต้องไม่ตื่นตระหนกกับโควิด-19 ระลอกใหม่ เพราะความตื่นตระหนกกลายเป็นปัจจัยล่าสุดที่อาจกดทับและซ้ำเติมคนไทยในสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ “สิ่งที่กังวล คือความตื่นตระหนกของคน นักการตลาด หยุดการใช้เม็ดเงิน หยุดแผนการตลาดทุกอย่าง การตื่นตระหนกจนเกินไป จะส่งผลกระทบทันทีในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นในการบริโภค (negative sentiment) และการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากกว่าที่ควรจะเป็น หรือครอบคลุมไปถึงพื้นที่ หรือเขตที่ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมาก” ภวัตกล่าว ทั้งนี้ MI ได้วิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ต่ออุตสาหกรรมโฆษณาใน 3 สถานการณ์ (Scenario) ด้วยกัน ได้แก่ Scenario 1: เกิดการระบาดรอบ 2 ในวงจำกัดช่วงเดือนธันวาคม 2020 แต่สามารถควบคุมได้ อุตสาหกรรมโฆษณาจะกลับมาขยายตัวได้มากกว่า 10% Scenario 2: เกิดการระบาดรอบ 2 ในวงกว้าง ช่วงเดือนธันวาคม 2020 ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้บางพื้นที่ หรือมีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ อุตสาหกรรมโฆษณาจะขยายตัว 3-8% Scenario 3: เกิดการระบาดรอบ 2 ในวงกว้าง ช่วงเดือนธันวาคม 2020 ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ในหลายพื้นที่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่(รายวัน)เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง ประชาชนเริ่มตื่นตระหนกและไม่มั่นใจในสถานการณ์โควิด-19 อุตสาหกรรมโฆษณาจะได้รับผลกระทบเหมือนปี 2563 ถอดบทเรียนปี 63 ภวัต กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิดรอบนี้ เชื่อว่าในภาพรวมจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แม้สถานการณ์จะรุนแรงกว่า เพราะประชาชนมีประสบการณ์ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคเน้นเสพสื่อทีวี และสื่อออนไลน์เป็นหลัก ดังนั้นสำหรับนักการตลาด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น และสินค้าในกลุ่มยา เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดยังสามารถใช้งบโฆษณาได้ ในราคาที่ถูกลง มีโอกาสตอกย้ำแบรนด์ได้มากขึ้น ในปีที่ผ่านมา มีกรณีของยาสีฟันแบรนด์เทพไทย ที่มุ่งใช้งบโฆษณาผ่านสื่อทีวีเป็นหลัก ได้ผลตอบรับที่ดี สามารถขยายตลาด และมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หากเป็นสินค้าที่ไม่สามารถขายได้ในช่วงนี้ ในฐานะนักโฆษณาจะไม่แนะนำให้ใช้งบ เพราะไม่ได้ประโยชน์ ทั้งนี้ MI มีข้อเสนอแนะสำหรับเจ้าของสินค้าแต่ละกลุ่มในการทำตลาดช่วงนี้ โดยสำหรับสินค้าหรือแบรนด์ที่ได้รับผลเชิงบวกจากสถานการณ์นี้ เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ยา อาหารเสริม อาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม หมวดสื่อสาร แอปพลิเคชัน อีคอมเมิร์ซ บริการส่งอาหารและพัสดี ให้ปรับกลยุทธ์การใช้สื่อ ลดใช้สื่อนอกบ้าน ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เพิ่มสัดส่วนสื่อโทรทัศน์ เน้นรายการข่าว บันเทิงเป็นหลัก สำหรับสินค้าหรือแบรนด์ทีได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น การท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ร้านนั่งกินดื่ม สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สมาร์ทโฟนไฮเอนด์ รถยนต์ ชุดแต่งกาย เครื่องประดับ แอลกอฮอล์ ควรลดงบหรือระงับโฆษณา ปรับแผนการใช้สื่อเน้นออนไลน์เป็นหลัก เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบส่วนสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เช่น ขนมขบเคี้ยวและลูกอม เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ของใช้ส่วนตัว ลดงบโฆษณาเฉพาะสื่อนอกบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนัก (พื้นที่สีแดง) เป็นต้นไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine