แรงบันดาลใจจาก 3 นักธุรกิจหญิง ‘บาร์บีคิว พลาซ่า’ ‘O&B’ และ ‘คันนา’ ทำในสิ่งที่รักและรู้จักดีที่สุด - Forbes Thailand

แรงบันดาลใจจาก 3 นักธุรกิจหญิง ‘บาร์บีคิว พลาซ่า’ ‘O&B’ และ ‘คันนา’ ทำในสิ่งที่รักและรู้จักดีที่สุด

การปลุกปั้นธุรกิจให้สำเร็จและหยัดยืนได้ต่อเนื่องในสมรภูมิปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย มีคู่แข่งหน้าใหม่พร้อมเข้าสู่ตลาดอยู่เสมอและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนเร็ว เบื่อง่าย เอาใจยาก จากโลกดิจิทัลที่นำข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ มานำเสนอต่อผู้บริโภคตลอดเวลา

งานสัมมนา Marketing Day 2017 จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จึงเชิญสามสาวนักธุรกิจมาร่วมเสวนากันบนเวที เปิดเบื้องหลังการบริหารที่เริ่มต้นจาก “passion” ได้แก่ ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด บริษัทเจ้าของร้านอาหารบาร์บีคิว พลาซ่า, รรินทร์ ทองมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาเทอ แอนด์ บุค จำกัด ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องหนัง O&B และ ณชา จึงกานต์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คันนา โกรเซอรีส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้แปรรูป Kunna  

หา ‘ดาวเหนือ’ ของแบรนด์ให้พบ

ชาตยา ทายาทรุ่น 2 ที่เข้ามารับช่วงต่อเมื่อ 8 ปีก่อนเล่าย้อนความว่า ในห้วงเวลาที่เธอเข้ามารับตำแหน่งนั้นเป็นช่วงมรสุมของวงการร้านอาหารบนห้างสรรพสินค้าพอดี ด้วยยุคของรุ่น 1 นั้น ร้านอาหารบนห้างฯ ยังมีเพียงหลักสิบร้าน แต่ในยุคของชาตยา จำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย “แม้แบรนด์เราจะเริ่มต้นสร้างมาตรฐานว่า ‘สินค้าต้องมีคุณภาพ’ แต่สภาวะรอบตัวเปลี่ยน ร้านเยอะขึ้น แต่บุคลากรน้อยลง เมื่อพนักงานมีทางเลือกในการสมัครงาน การควบคุมคนจึงยาก เรารู้เลยว่าเราต้องเปลี่ยน” ชาตยาปรับแนวคิดใหม่จากเดิมที่ บาร์บีคิว พลาซ่า มองว่าตัวเองมีจุดประสงค์หลักคือ “ขายอาหาร” มาเป็น “การส่งมอบความสุขให้ผู้คนโดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง” และเธอเลือกเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ในนาม ฟู้ดแพชชั่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นถึงยุคใหม่ของแบรนด์
ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
“ความเชื่อเป็นตัวผลักดันพฤติกรรม การเสิร์ฟเร็วหรือบริการดีเป็นเพียงปลายทาง แต่สิ่งที่ผลักดันจริงๆ คือวิสัยทัศน์ คำว่าความสุขของลูกค้าอาจจะดูเป็น conceptual แต่เมื่อไหร่ที่คุณทำให้จับต้องได้มันจะเป็นไปได้ โดยต้องเริ่มจากพนักงาน ถ้าพนักงานมีความสุขที่ล้นปรี่ เขาจะบริการลูกค้าให้มีความสุขไปด้วย และยอดขายจะกลับมาเอง” ซีอีโอแห่งฟู้ดแพชชั่นกล่าว พร้อมแสดงผลลัพธ์ผ่านยอดขายของบาร์บีคิว พลาซ่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาว่าเติบโตดับเบิลดิจิตทุกปี ส่วนผลจากโลกดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจนั้น เธอบอกว่าทำให้เกิดปรัชญาใหม่ในการบริหารคือ “เก่งไม่กลัว กลัวช้า” จากรูปแบบการบริหารสมัยก่อนที่แผนงานต่างๆ อาจใช้เวลาถึง 6 เดือนเพราะต้องการสร้างให้สมบูรณ์แบบที่สุด ปัจจุบันระยะเวลาที่นานขนาดนั้นอาจทำให้มีคู่แข่งตัดหน้าไป ซึ่งหมายความว่าองค์กรต้องปรับให้พนักงานมีโอกาสตัดสินใจเองมากขึ้น แคมเปญการตลาดอาจไม่สมบูรณ์แต่ต้องเริ่มต้นไปก่อน เหมือนมีโมเดลต้นแบบเป็นแกนกลางและคอยปรับแต่งไประหว่างทาง รวมถึงต้องมีการรับผิดชอบร่วมกันในองค์กรโดยไม่โยนความผิดพลาดนั้นให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ปิดท้ายนี้ ชาตยายังฝากถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยว่า “เราต้องหาดาวเหนือของแบรนด์ให้เจอ แบรนด์เรายึดมั่นในอะไร อย่าคิดแค่ว่าเราอยากจะทำตามเขาเพราะเขาทำแล้วประสบความสำเร็จ”  

เข้าใจลูกค้าให้ถึงแก่น

สินค้าเครื่องหนัง O&B โดยเฉพาะรองเท้าหนังแกะรุ่น Audrey ที่มีให้เลือกถึง 50 สีของ ต้า-รรินทร์ น่าจะอยู่ใน wish list ของผู้หญิงหลายคน ผู้ก่อตั้งแบรนด์เล่าว่าเธอเริ่มต้นทำธุรกิจในยุคที่ Facebook เพิ่งก่อตั้งไม่นาน นับได้ว่าเธอคือแม่ค้าออนไลน์ยุคบุกเบิกทีเดียว
รรินทร์ ทองมา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ O&B (ขอบคุณภาพจาก โพสต์ทูเดย์)
“เราเป็นดีไซเนอร์มาก่อน ตอนเริ่มเราคิดแค่ว่าเราอยากทำสินค้าเป็นรองเท้า 50 สี โดยไม่ได้คิดเลยว่ามันเป็นไปได้ไหมในทางธุรกิจ แต่ต้ามีความรู้ว่าผู้หญิงไทยใส่รองเท้าอย่างไร ใส่ไปไหน เมื่อไหร่ รู้สึกอย่างไร เราเดินไปทุกที่ที่กลุ่มลูกค้าเราไปเพื่อรู้จักพวกเขาให้ลึก ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราทำสำเร็จ” รรินทร์กล่าว เธอบอกว่า ลูกค้าผู้หญิงคือกลุ่มคนที่เข้าใจยาก แต่เคล็ดลับอยู่ที่ผู้หญิงเป็นคนที่มีอารมณ์ (emotion) เป็นตัวนำสูงเมื่อมาจับคู่กับเรื่องแฟชัน ความรู้สึกคือสิ่งที่ทำให้พวกเธอจดจำได้มากที่สุด ดังนั้นรองเท้า O&B จึงต้องมี 50 สี โดยสิ่งที่รรินทร์ทำคือการจุดกระแสบนสื่อสังคม ให้เซเลบริตี้สวมใส่รองเท้าของเธอ และให้ผู้ซื้อจริงรีวิวสินค้าโดยการวางรองเท้า O&B สารพัดสีเป็นรูปวงกลม ซึ่งทำให้เกิดภาพจำและความรู้สึกว่ารองเท้า O&B ต้องมีหลายคู่หลายสีในครอบครอง
รองเท้าหนังแกะรุ่น Audrey ที่มีถึง 50 เฉดสีคือรุ่นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ O&B ที่ใช้การวางสินค้าเป็นรูปวงกลมสร้างภาพจำ (Cr: oandb_official)
รรินทร์ยังเป็นนักธุรกิจที่ทลายรอยกั้นระหว่างโลกออฟไลน์กับออนไลน์ แม้ว่ารองเท้าของเธอจะเป็นที่ต้องการแต่เธอยังคงมีหน้าร้านเพียงแห่งเดียว ซึ่งเน้นเป็นสถานที่ให้ลูกค้าได้มาลองสวมใส่ ในขณะที่การขายจะเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ รวมถึงยังไล่ตามพฤติกรรมผู้บริโภคบนออนไลน์ให้ทัน ซึ่งเธอมองว่าต้องตื่นตัวเสมอเพราะพฤติกรรมเหล่านี้อาจเปลี่ยนได้ในเวลาไม่ถึงเดือน  

จิตวิญญาณ 25 ชั่วโมงต่อวัน

ด้าน โบว์-ณชา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลไม้แปรรูป “คันนา” ริเริ่มผลิตผลไม้แปรรูปขึ้นจากสองเหตุผล คือ ครอบครัวของเธอนิยมรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ในท้องตลาดไม่มีของทานเล่นสำหรับคนรักสุขภาพมากนักและมักจะมีราคาแพง ประกอบกับตัวเธอเคยไปท่องเที่ยวที่ประเทศจีนและพบว่า ผลไม้สดจากไทยเมื่อส่งออกไปถึงตลาดที่นั่นแล้วคุณภาพกลับตกต่ำอย่างมาก ซึ่งไม่ดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยเลย ณชาจึงเริ่มผลิตผลไม้แปรรูปคันนา โดยลูกค้าส่วนใหญ่ 70% คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น จีน ฮ่องกง ที่มักจะซื้อกลับบ้านเป็นของฝาก ในส่วนช่องทางการขาย ณชาจะมุ่งเน้นการหาพื้นที่วางขายให้ตรงกับกลุ่มลูกค้ามากที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือคุณภาพสินค้าที่ต้องสวยงามทั้งภายนอกและภายในรสชาติอร่อย แบบที่เธอบอกว่า ‘ทำอย่างไรให้เขาฉีกซองออกมาแล้วไม่ตำหนิประเทศไทย’
ณชา จึงกานต์กุล เอ็มดีหญิงแห่ง บริษัท คันนา โกรเซอรีส์ จำกัด (ขอบคุณภาพจาก ฐานเศรษฐกิจ)
“นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนจีนเขาจะไม่พลาดเรื่องการซื้อของฝาก เขาจะไม่ยอมเสียหน้าโดยการซื้อของที่ไม่ดี ดังนั้นเราต้องสื่อสารให้ชัดว่าเขาต้องซื้อยี่ห้อเราเท่านั้นท่ามกลางตลาด red ocean ที่มีเป็นร้อยแบรนด์ให้เลือก 5 ปีที่เราทำมาเราแทบไม่ต้องลงทุนทำการตลาดเลย เพราะเราอาศัยคุณภาพที่ยึดมั่นทำให้เขาบอกกันปากต่อปาก” ด้วยความรู้สึกอย่างแรงกล้าทำให้ณชามีจุดหมายที่ชัดเจนในการผลิตสินค้า และสิ่งนี้เธอส่งต่อให้กับว่าที่ผู้ประกอบการที่กำลังคิดค้นผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่ว่า “ถ้าต้องการจะทำธุรกิจต้องมี passion ในสิ่งที่จะผลิต ไม่ใช่แค่อยากรวย และต้องพร้อมคิดเรื่องนั้นให้ได้วันละ 25 ชั่วโมง ให้สิ่งนั้นอยู่ในจิตวิญญาณของเรา” ณชากล่าวทิ้งท้าย