ซีพีเอ็นย้ำโครงการ "เซ็นทรัล วิลเลจ" ไม่มีการรุกที่ ทอท. ยืนยันไม่เลื่อนวันเปิดตัว - Forbes Thailand

ซีพีเอ็นย้ำโครงการ "เซ็นทรัล วิลเลจ" ไม่มีการรุกที่ ทอท. ยืนยันไม่เลื่อนวันเปิดตัว

ซีพีเอ็นเจ้าของโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ยืนยันไม่มีการรุกที่ แย้มข้อพิพาทเกิดจากความสับสนระหว่างหน่วยงานรัฐคือ ทอท. และ กรมทางหลวง ย้ำวันเปิดตัว 31 สิงหาคมนี้ร้านค้าพร้อม 70% รอฟังศาลปกครองตัดสินกรณี ทอท. ปิดพื้นที่โดยพลการและขอความคุ้มครองชั่วคราว

ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น แถลงชี้แจงอีกครั้งประเด็นข้อพิพาทการใช้ที่ดินไหล่ทางและเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นทางเข้าออกโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ซึ่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้อ้างสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าวและเข้าวางเต็นท์ปิดทางเข้าออกโครงการตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2562 เนื่องจากมองว่าซีพีเอ็นเข้าใช้พื้นที่ของตนโดยไม่ขออนุญาต
เต็นท์ปิดทางเข้าออกโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ดำเนินการโดย ทอท. ถ่ายภาพ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2562
ปรีชากล่าวยืนยันอีกครั้งว่าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจมีการขออนุญาตถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.พื้นที่โครงการไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด มีแนวเขตแนบสนิทกับเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และได้ขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวง เจ้าของพื้นที่ผู้มีอำนาจเต็มแต่เพียงผู้เดียว โดยได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 2.บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร (อ1) ในพื้นที่สีเขียว ก1-10 จาก อบต.บางโฉลง ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2561 โดยไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด 3.บริษัทได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและแบบปรับปรุงในเขตปลอดภัยเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) วันที่ 30 มกราคม 2560 และ 25 กรกฎาคม 2562 (สามารถอ่านรายละเอียดชี้แจงฉบับเต็มจากซีพีเอ็นด้านท้ายของข่าว) ทั้งนี้ ปรีชาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาซีพีเอ็นไม่ได้มีการขออนุญาตหรือพูดคุยกับ ทอท. โดยตรงมาก่อน เนื่องจากการใช้ที่ดินต่างๆ ไม่มีส่วนที่ต้องขออนุญาตจาก ทอท. รวมถึงประเด็นความปลอดภัยการเดินอากาศด้วย เพราะซีพีเอ็นมองว่าประเด็นนี้เป็นความรับผิดชอบของ กพท. แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม ทอท.ได้ร่วมรับทราบโครงการเซ็นทรัล วิลเลจในช่วงที่ซีพีเอ็นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวง ซึ่งจุดประเด็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐสองแห่งคือ ทอท. กับกรมทางหลวงว่า หน่วยงานใดเป็นผู้มีสิทธิเหนือทางหลวงหมายเลข 370 แต่ซีพีเอ็นไม่อาจรอให้ข้อพิพาทยุติจึงยึดเอาหลักฐานที่สืบค้นได้ว่าพื้นที่นี้ได้ยกเป็นถนนสาธารณะในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงตั้งแต่ปี 2550 รวมถึงมีป้ายปักแนวเขตว่าเป็นพื้นที่ของแขวงการทางสมุทรปราการอย่างชัดเจน จึงดำเนินการขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวง มิใช่ ทอท.
ซีพีเอ็นชี้แจงในแผนที่นี้ว่า เขตพื้นที่สีฟ้าเป็นเขตที่ดินในความรับผิดชอบของ ทอท. เส้นสีแดงเป็นทางหลวงหมายเลข 370 ที่ตั้งของเซ็นทรัล วิลเลจ ซึ่งพ้นแนวเขตที่ดินของ ทอท. มาแล้ว
"5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการ เราไม่ได้คุยกับ ทอท. เพราะหนึ่ง ที่ดินเราอยู่นอกเขตเวนคืนที่ดินของ ทอท. และสอง ระเบียบความปลอดภัยการเดินอากาศต้องผ่าน กพท. ซึ่งเป็นผู้กำกับควบคุม ทอท. อยู่แล้ว" ปรีชากล่าว "เรามีการก่อสร้างมา 2 ปี ไม่เคยมีหน่วยงานใดท้วงติงมาก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น"  

ย้ำเปิดวันเสาร์นี้ 31 สิงหาคม 2562

จากเหตุการณ์สับสนที่เกิดขึ้นและการปิดทางเข้าออกโครงการโดย ทอท. ซึ่งทำให้ผู้รับเหมาและร้านค้าในโครงการไม่สามารถขนย้ายสิ่งของได้สะดวก ซีพีเอ็นจึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่า ทอท. เข้าปฏิบัติหน้าที่โดยพลการ และขอความคุ้มครองจากศาลปกครอง ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนเร่งด่วนวันนี้ (28 สิงหาคม 2562) "ตอนนี้เราถูกปิดทางเข้าออก 2 ด้าน อาจจะเกิดจากความสับสนของหน่วยงานรัฐ แต่การตีความฝ่ายเดียวโดยพลการและเข้าปิดพื้นที่นั้นไม่ถูกต้องทำให้เราต้องฟ้องร้องทางกฎหมาย" ปรีชากล่าว ปรีชากล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าศาลจะนัดฟังคำตัดสินเมื่อไหร่และจะมีคำสั่งใดๆ ที่ทันต่อการเปิดตัวโครงการในวันเสาร์นี้หรือไม่ แต่โครงการเซ็นทรัล วิลเลจยืนยันยังคงจะเปิดบริการวันแรกวันที่ 31 สิงหาคม 2562 ตามกำหนดการเดิม โดยมีร้านค้า 70% จาก 150 ร้านค้าที่พร้อมให้บริการ และคาดว่าจะทยอยเปิดบริการได้ครบทั้งหมดภายใน 2-3 เดือน เชื่อว่าจะมีผู้ใช้บริการ 2 หมื่นคนต่อวัน
ด้านหน้าทางเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
"โครงการเราทำมานาน 5 ปีก่อนที่จะเกิดการประมูลดิวตี้ฟรี อีกอย่างเอาท์เล็ตเป็นการนำสินค้าตกรุ่นมาลดราคา จึงเป็นคนละเซ็กเมนต์กับดิวตี้ฟรี ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน" ปรีชากล่าวตอบประเด็นที่ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่เรื่องนี้อาจเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางการค้า ในระหว่างนี้ ซีพีเอ็นกำลังพยายามขอเจรจากับ ทอท. เพื่อให้ยกเต็นท์ที่ปิดหน้าถนนโครงการออกก่อนเป็นการชั่วคราวแม้คดีความยังไม่สิ้นสุด แต่ยังไม่มีการตอบรับจาก ทอท. ทั้งนี้ ซีพีเอ็นพร้อมเจรจาในข้อกังวลต่างๆ เช่น ข้อกังวลเหตุรบกวนการบินที่อาจเกิดขึ้น และพร้อมให้หน่วยงานทุกแห่งเข้าตรวจสอบความถูกต้อง ส่วนกรณีที่ถ้าหากว่าศาลปกครองไม่มีคำสั่งคุ้มครองโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ซีพีเอ็นจะมีมาตรการอื่นๆ รองรับต่อไปซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต นั้นมีมูลค่าการลงทุน 5 พันล้านบาท บนที่ดิน 100 ไร่ พื้นที่โครงการ 4 หมื่นตารางเมตร ร้านค้า 150 ร้านแบรนด์เนมที่ลดราคาทุกวัน 35-70% ตัวอย่างร้านค้า เช่น Chole, Club 21, Coach, Kate Spade, Kenzo, Michel Kors, Polo Ralph Lauren, Salvatore Ferragamo ฯลฯ
บรรยากาศในโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ
บรรยากาศในโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ช่วง 3 วันก่อนเปิดตัว
สำหรับความคืบหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจในช่วง 3 วันก่อนเปิดทำการ ผู้สื่อข่าวพบว่าพื้นที่ภายในมีการก่อสร้างโครงสร้างหลักและตกแต่งสถานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จุดที่ยังก่อสร้างไม่เรียบร้อยมีเพียงป้ายและถนนหน้าโครงการ การเก็บงานบางจุด และการตกแต่งภายในและลงสินค้าของร้านค้าต่างๆ ซึ่งการปิดทางเข้าออกโดย ทอท. ทำให้ร้านค้าและผู้รับเหมาต่างต้องจอดรถขนสินค้าจากริมถนนหน้าโครงการ ไม่สามารถเข้าไปจอดด้านในลานจอดรถได้ พื้นที่ในโครงการเป็นแบบ open-air โดยมีร้านค้าตึกเตี้ยเรียงรายสองข้างทาง ความสูงรวมหลังคาตกแต่งสูงประมาณ 3 ชั้น และอยู่ในเขตที่เครื่องบินที่ take-off จะแล่นผ่าน ทำให้มองเห็นเครื่องบินและได้ยินเสียงเครื่องบินได้อย่างชัดเจน  

ทอท.แจ้งเป็นผู้ดูแลพื้นที่จากกรมธนารักษ์

อ้างอิงการรายงานจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ระบุ นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ซึ่งให้สิทธิ ทอท. ดูแลที่ดินราชพัสดุบริเวณนี้ มีหนังสือมาถึง ทอท.ให้เข้าไปตรวจสอบโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลจากสายงานต่างๆ แล้วได้ข้อสรุปในเดือนเมษายนว่าให้เซ็นทรัลดำเนินการรื้อถอนถนนปูนเพราะเป็นการรุกล้ำพื้นที่ จากนั้นในเดือนพฤษภาคมเซ็นทรัลดำเนินการแล้วเสร็จ เลยคิดว่าจบกันแล้ว แต่พอผ่านไป 3 เดือน จนมาถึงเดือนสิงหาคม 2562 กลับพบว่ามีการเตรียมติดตั้งท่อและที่กั้นเหล็กเสร็จสรรพพร้อมเปิดใช้ ทอท.จึงเข้าควบคุมพื้นที่
โครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ
ภาพป้ายของ ทอท. เตือนผู้บุกรุกหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
"ตอนนี้กำลังระดมสมองว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ พอจะมีแนวทางเจรจากันได้มั้ย หรือต้องโอนความดูแลพื้นที่กลับไปเป็นของกรมทางหลวงเพื่อให้เข้าเงื่อนไขเดิมที่เคยขออนุญาต" นิตินัยกล่าว  

ซีพีเอ็นแจงยิบ ได้รับใบอนุญาตถูกต้องทั้งหมด

ข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อพิพาทฉบับเต็มจากซีพีเอ็น (ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2562) ดังรายละเอียดด้านล่างนี้ ประเด็นที่ 1: พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด
  • ที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล
  • โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว 
  • ทั้งนี้ พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด
ดังนั้น รายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิในที่ดินหน้าโครงการ ระหว่าง กรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้ ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน  โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุ และมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท.ดูแล อีกทั้ง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะ ที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้ 
  • โดยในปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน  
  • ปี 2544 ครม. มีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้าออกด้านใต้ของสนามบิน ซึ่งคือทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 370
  • ปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 370 ซึ่งประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะและให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว กรมทางหลวงจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์ ทางหลวงแผ่นดิน 370 ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทาง
  • ทำให้ชี้ได้ว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้าออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้วจำนวน 88 ราย โดยแบ่งเป็น
    • ผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย 
    • ทอท. เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใด เคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท. เลย
สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ. เวนคืน เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
  1. ในปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ. เวนคืนที่ดินจำนวน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 
  2. เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ ทอท. กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการ ไม่น่าจะเป็นกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก เพราะ 
    • เป็นทางหลวงที่เปิดใช้เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ปี 2548 และกรมทางหลวงได้รับมอบจาก ทย. แล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2550 โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน 
    • อีกทั้งล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก
ประเด็นที่ 2: บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด 
  • โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง 
  • และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด
และประเด็นที่ 3 คือ บริษัทฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างถูกต้อง
  • โครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฏใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง 
  • และเราจะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป
โดย 5 ปีที่ผ่านมา นับแต่เริ่มพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ บริษัทฯ ทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ และยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานถูกต้องทุกขั้นตอน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาโดยตลอด และขอยืนยันว่าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง ตามไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นดังนี้
  1. ปี 2558 บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบที่ดินว่า ที่ดินดังกล่าวนั้นสามารถพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจได้ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง และติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ไม่ใช่ที่ดินตาบอดแต่อย่างใด
  2. วันที่ 22 ธ.ค. 2559 บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินตาม พ.ร.บ. ผังเมือง ว่า พื้นที่สีเขียวบริเวณ ก1-10 ของผังเมืองสมุทรปราการ ยังมีพื้นที่เพียงพอให้บริษัทฯ สร้างโครงการนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  3. วันที่ 30 ม.ค. 2560 และ 25 ก.ค. 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและแบบปรับปรุงภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 
  4. วันที่ 24 เม.ย. 2561 ได้ใบอนุญาตการก่อสร้างอาคาร (อ1) จาก อบต. บางโฉลง 
  5. วันที่ 24 เม.ย. 2561 บริษัทฯ ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก
  6. วันที่ 10 เม.ย. 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้การประปา ใช้พื้นที่ไหล่ทางในการดำเนินการวางท่อเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
  7. วันที่ 24 ก.ค. 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้ทำทางเชื่อมเข้าออก ขยายผิวจราจร และปรับปรุงทางเท้า ซึ่งรวมไปถึงไหล่ทางด้วย เช่นเดียวกับที่เคยได้อนุมัติเชื่อมทางให้กับผู้ร้องขอรายอื่นบนถนนสายนี้ทั้งสิ้น 37 ราย รวมถึง ทอท. ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยขออนุญาตจากกรมทางหลวงมาโดยตลอด และล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก
  8. ในวันที่ 14 ส.ค.  2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร (อ6) จาก อบต. บางโฉลง
  9. ในวันที่ 22 ส.ค. 2562 ทอท. มาปิดกั้นทางเข้าออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
  10. ในวันที่ 31 ส.ค. 2562 มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ