ฮาคูโฮโด อาเซียน เผยผลวิจัยล่าสุด วิกฤตโควิดสร้างผู้บริโภคพันธุ์ใหม่ มีไลฟ์สไตล์บริโภคอย่างใส่ใจสังคม-สิ่งแวดล้อม กลายเป็นพฤติกรรมปกติแบบใหม่ ยอมจ่ายเงินเพิ่มให้กับแบรนด์ที่ทำความดี ชี้คนไทยชอบทำความดีแบบสนุกสนาน ปลุกกระแสผ่านโซเชี่ยล แนะแบรนด์สร้างแคมเปญร่วมกับผู้มีส่วนได้-เสียในสังคม สร้างคุณค่าให้องค์กร
ศูนย์วิจัยความเป็นอยู่ ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ ฮิลล์ อาเซียน (Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN: HILL ASEAN) คลังสมองทางวิชาการ ซึ่งก่อตั้งโดยบริษัท ฮาคูโฮโด อิงค์ บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น แถลงผลวิจัยล่าสุดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ในหัวข้อ “The Rise of Conscious ASEANs: Why should you CARE?” (บริโภคอย่างใส่ใจ ไลฟ์สไตล์แนวใหม่ของคนอาเซียน) เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค หรือ sei-katsu-sha สายพันธ์ใหม่ในอาเซียนที่ให้ความสนใจกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการ นัฐกาญจน์ วัฒนมงคลศิลป์ ผู้อำนวยการสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สปา-ฮาคูโฮโด จำกัด กล่าวว่า การบริโภคอย่างใส่ใจ เป็นหนึ่งในเทรนด์ของโลก ที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า และแบรนด์ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในโลกนี้ ซึ่งจากผลวิจัยล่าสุดที่ทำขึ้นในเดือนมี.ค.2563 ภายใต้สถานการณ์โควิด เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความใส่ใจมากขึ้นไปอีก ผู้บริโภคในอาเซียนยอมรับว่าการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิต และร้อยละ 94 ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตทั้งพฤติกรรมการบริโภค และไลฟ์สไตล์ ที่หันมาให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ สุขอนามัย และการบริโภคผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น “สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความกังวล ความเครียด รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต แต่ในอีกด้านการได้ใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสุขอนามัย สุขภาพ กลายเป็นวิถีชีวิตปกติ รวมถึงการบริโภคอย่างใส่ใจกลายเป็น New Normal ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ” นัฐกาญจน์กล่าว ทั้งนี้ ผลการวิจัยผู้บริโภค 10 ประเทศในอาเซียน พบว่าร้อยละ 78 เป็นผู้บริโภคอย่างใส่ใจ มีเพียงร้อยละ 12 ที่รู้จัก แต่ยังคงมีพฤติกรรมการบริโภคแบบเดิม และร้อยละ 11 ไม่รู้จักการบริโภคอย่างใส่ใจเลย ประเทศไทยมีผู้บริโภคอย่างใส่ใจร้อยละ 73 ขณะที่เวียดนามมีสัดส่วนผู้บริโภคอย่างใส่ใจร้อยละ 91 รองลงมา คือ อินโดนีเซียร้อยละ 86 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 84 ประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริโภคอย่างใส่ใจน้อยที่สุด คือ สิงคโปร์ร้อยละ 58 โดยพฤติกรรมที่พบส่วนใหญ่ เช่น การใช้แก้วส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก การใช้ถุงผ้า เป็นต้น คนไทยชอบทำดีแบบสนุกผ่านโซเชียล กฤตเมธ วุฒิเมธีกุล นักวางแผนกลยุทธ์ระดับอาวุโส บริษัท เดลฟิส ฮาคูโฮโด (ประเทศไทย) กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างใส่ใจในอาเซียนจะแตกต่างจากผู้บริโภคในประเทศตะวันตก ทีมมองภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นภายนอกเป็นหลัก แต่การบริโภคอย่างใส่ใจของชาวอาเซียนมีแรงกระตุ้นที่เกิดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเรื่องใกล้ตัว และมีลักษณะที่โดดเด่น คือการทำอย่างมีความสุข โดยใช้วิธีการง่ายๆ และมีการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การใช้ # ผ่านอินสตราแกรม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม เป็นต้น ผลการศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคกลุ่มนี้ พบว่าร้อยละ 80 ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีมากกว่าร้อยละ 50 ที่ยอมจ่ายแพงขึ้นร้อยละ 20 เพื่อซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ ซึ่งการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัจจัยสำคัญอันดับ 3 รองจากเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งาน และราคา โดยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์และดีไซน์ของสินค้าเสียอีก ทั้งนี้ การวิจัยยังพบสิ่งที่น่าสนใจ เช่น ร้อยละ 78 ของผู้บริโภคในอาเซียนพร้อมจะสนับสนุนแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร้อยละ 82 ของผู้บริโภคพร้อมที่จะเปลี่ยนไปสนับสนุนแบรนด์ที่ดูแลสังคมร้อยละ 85 ของผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่สนับสนุนไลฟ์สไตล์การทำดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 86 ของผู้บริโภคพร้อมจะแนะนำบอกต่อหากแบรนด์นั้นมีวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์สังคม “ผลวิจัยที่เกิดขึ้น ทำให้แบรนด์ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะผู้บริโภคพร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์ หรือไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นได้ตลอดเวลา หากเห็นคุณค่าของแบรนด์ที่มีความใส่ใจสังคมมากกว่า” กฤตเมธระบุ แนะแบรนด์สร้างแคมเปญต่อเนื่อง พร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้จัดการแผนกวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮิลล์ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มผู้บริโภคที่ใส่ใจสังคมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสินค้าหรือแบรนด์จะต้องปรับตัวให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค และแบรนด์ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชน รวมถึงการเข้าไปแก้ปัญหาในสังคมและชุมชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมา แบรนด์ต่างๆ มักใช้การทำซีเอสอาร์ มองว่าไม่เหมาะกับสภาพในปัจจุบัน เพราะการทำซีเอสอาร์บางครั้งไม่ได้มีส่วนเกียวข้องกับการดำเนินธุรกิจ และการให้ความสำคัญกับภายนอกองค์กรเป็นหลัก ทั้งนี้ อยากเสนอให้แบรนด์ใช้กลยุทธ์ C.S.I. หรือ Corporate Sustainable Initiative ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลในการเปลี่ยนแปลง ต้องมีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ และดึงคนในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วม โดยธุรกิจควรเลือกและให้ความสำคัญกับหัวข้อใดเพียงหัวข้อเดียวในการทำแคมเปญ พร้อมนำเสนอผ่านกิจกรรมที่สนุกและสร้างสรรค์ และดึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียกับสังคมและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อองค์กรและแบรนด์ รวมถึงผลดีต่อสังคมและส่วนรวม อ่านเพิ่มเติม: จ๊อบส์ ดีบี เผยช่วงโควิดมนุษย์เงินเดือนถูกเลิกจ้าง 3.5 ล้านคน การทำงานไม่มีความสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่าไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine