จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดผลสำรวจผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คนทำงานและผู้ประกอบการ พบคนทำงาน 9% ถูกเลิกจ้าง 16% ถูกหยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้าง นอกจากนี้ช่วงโควิด-19 คนทำงานไม่มีความสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่า
พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เปิดผลสำรวจผู้ประกอบการและคนทำงานถึงผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ครอบคลุมคนทำงานกว่า 1,400 คน และผู้ประกอบการกว่า 400 บริษัท
ผลสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของคนทำงานในไทยที่มีงานทำก่อนช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบโดยตรงกับสถานะการจ้างงาน โดย 9% ถูกเลิกจ้าง ซึ่งคิดเป็นจำนวนราว 3.5 ล้านคน ขณะที่ 16% ถูกให้หยุดงานชั่วคราวแต่ยังคงสถานะลูกจ้างไว้
ทั้งนี้ กลุ่มพนักงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับสถานะการจ้างงานมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 16,000 บาท เป็นพนักงานสัญญาจ้าง ไม่ประจำ อยู่ในองค์กรขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน และมีอายุ 45 ปีขึ้นไป
ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือพนักงานกลุ่มที่มีเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท เป็นพนักงานประจำ อยู่ในองค์กรขนาดกลางที่มีพนักงานราว 51-500 คน อายุระหว่าง 25-34 ปี
โดยหากมองลงไปผลกระทบในการทำงานและรายได้ในกลุ่มพนักงานที่ยังทำงานอยู่ พบว่า 48% ถูกให้ทำงานที่บ้าน 45% ได้รับผลกระทบเชิงรายได้ ซึ่งในกลุ่มนี้ 27% ไม่ได้รับโบนัส 20% ไม่ได้รับการปรับเงินเดือน และ 14% ถูกลดเงินเดือน โดยส่วนใหญ่ถูกลดไป 11-30% ของรายได้
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบอีกว่า ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 นั้น ความสุขในการทำงานของคนทำงานลดลงจาก 85% เหลือ 59% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปลายปีก่อน
ส่วนในช่วงโควิด-19 คนทำงานไม่มีความสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่า เนื่องจาก 1 ใน 3 ต้องทำงานมากขึ้น และ 1 ใน 4 ได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากหัวหน้างาน รวมถึงเกือบ 1 ใน 2 ของคนทำงานมีชั่วโมงการทำงานยาวขึ้นในแต่ละวัน
สำหรับผู้ประกอบการ ได้มีการปรับตัวจากผลกระทบดังกล่าว ด้วยการออกนโยบายต่างๆ โดย 52% ของผู้ประกอบการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน Work From Home 47% ของผู้ประกอบการปรับนโยบายการจ้างงาน โดย 39% หยุดรับพนักงานใหม่ และ 12% ลดจำนวนพนักงานลง
นอกจากนี้ ฝั่งผู้ประกอบการยังใช้นโยบายลดสวัสดิการและเงินเดือนพนักงาน โดย 37% มีการปรับโครงสร้างการให้เงินเดือน ซึ่ง 21% งดการขึ้นเงินเดือนพนักงาน 20% ลดเงินเดือนพนักงาน และ 18% งดการจ่ายโบนัส
พรลัดดา ระบุอีกว่า ในช่วงโควิด-19 ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 52% กังวลเรื่องรายได้และเงินหมุนเวียนในธุรกิจ 41% กังวลเรื่องชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และ 38% กังวลเรื่องการสร้างสัมพันธภาพและความจงรักภักดีต่อองค์กรของพนักงาน
ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญๆ ที่ดึงดูดคนหางานให้เลือกสมัครงานกับองค์กร จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ได้ทำการสำรวจ “Laws of Attraction” (LOA) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2562 จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 จากคนทำงานทั่วประเทศไทยหลากหลายเจเนอเรชั่นกว่า 6,000 คน
ผลสำรวจพบว่า 3 ปัจจัยแรกที่คนทำงานให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ 1.เงินเดือน/ค่าตอบแทน 2.ความมั่นคงในการทำงาน และ 3.ความก้าวหน้าในสายอาชีพ
โดยความมั่นคงในการทำงานมีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากเงินเดือน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในการสำรวจจากคนทำงานทั้งหมด 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจากคำตอบ คนทำงานในไทยมองเรื่องความมั่นคงในการทำงานมีความสำคัญมากกว่าเรื่องสวัสดิการถึง 3 เท่า สำคัญกว่าตำแหน่งที่ตั้งของที่ทำงาน 2 เท่า และ 1.6 เท่าสำคัญกว่าเรื่องความสมดุลในชีวิต (Work-life balance)
ขณะเดียวกัน ความต้องการในการหางานกำลังอยู่ในช่วงเพิ่มขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม มีการค้นการหางานมากกว่า 77 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 26% เทียบกับ 3 เดือนก่อน
โดยการหางานที่ทำจากที่บ้านได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งการค้นหางานในสายงานดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเพิ่มขึ้น 36% สายงานกราฟิกดีไซเนอร์เพิ่มขึ้น 20% และสายงานที่ต้องใช้ TOEIC มีการค้นหาเพิ่มขึ้น 15% ขณะที่ในช่วงแรกของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ การค้นหางานในสายไอทีเพิ่มสูงขึ้นถึง 12%
ทั้งนี้ หากดูในแง่ของจำนวนใบสมัครงานที่เพิ่มขึ้น พบว่าใบสมัครที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ตำแหน่งงานระดับ entry level และนักศึกษาจบใหม่
“แม้ประกาศหางานในตลาดงานเมืองไทยในเดือนเมษายนจะลดลงไปราว 35% (เทียบกับเดือนมีนาคม) แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมแล้ว แม้อาจจะยังไม่เท่ากับเดือนมีนาคมก็ตาม”
แนวโน้มจ้างงานครึ่งปีหลัง
พรลัดดา กล่าวว่า จากผลสำรวจยังเห็นสัญญาณเชิงบวกในการจ้างงานจากผู้ประกอบการ โดยช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 88% มีแนวโน้มการจ้างงานอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการกว่า 33% ชี้ว่าอยากจะจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประเทศ และกว่า 53% มีแนวโน้มที่จะว่าจ้างเด็กจบใหม่เพื่อทำงานในตำแหน่งระดับพนักงานทั่วไป
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลข้างต้นพบว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มจ้างงานมากที่สุดใน 5 สายงานใน 6 เดือนข้างหน้า ได้แก่ 1.งานไอที 2.งานการตลาด/งานประชาสัมพันธ์ 3.งานขาย/งานบริการลูกค้า/งานพัฒนาธุรกิจ 4.งานต้อนรับ/งานในร้านอาหารและบริการเครื่องดื่ม และ 5.งานจัดซื้อ
“สำหรับสายงานที่อาจหายากที่สุดในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่าจะเป็นสายงานในธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจยานยนต์ เนื่องจากแม้สถานการณ์จะเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจ และคิดทบทวนและตัดสินใจมากขึ้นในเรื่องการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าชิ้นใหญ่ๆ เช่น รถยนต์ ซึ่งไม่ใช่สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน”
พรลัดดา เผยอีกว่า สำหรับอัตราค่าจ้างในช่วงหลังจากโควิดนั้น มองว่าการให้เงินเดือนจะยังไม่กลับมาเฟื่องฟูนัก โดยผู้ประกอบการจะยังคงใช้นโยบายเรื่องเงินเดือน เช่น งดการขึ้นเงินเดือน งดจ่ายโบนัส ฯลฯ ไปจนถึงสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาอีกครั้ง โดยดูจากปัจจัยต่างๆ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจ และวัคซีนป้องกันโควิด-19
“ขณะที่การรับพนักงานใหม่ขององค์กรขนาดใหญ่ ก็คงไม่มีนโยบายกดเงินเดือนหรือปรับฐานเงินเดือนให้ลดลง แต่จะทบทวนมากขึ้นว่าสายงานนี้จำเป็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพิจารณาในเรื่องจำนวนการจ้างงานมากขึ้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย”
“ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ ควรเร่งกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อลดความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความสมดุลของชีวิตและการทำงาน รวมถึงสวัสดิภาพของพนักงาน หลังจากเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะฟื้นฟูหลังจากวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งคนทำงานจะมองหาองค์กรในมุมที่แตกต่างออกไป โดยองค์กรที่สามารถสร้างจุดแข็งและสร้างความแตกต่างในเชิงผลตอบแทนจะได้เปรียบในการดึงคนที่มีความรู้ความสามารถไปร่วมงาน ทำให้ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนจากตลาดที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการ เป็นตลาดที่ขับเคลื่อนโดยคนทำงาน”
สำหรับจ๊อบส์ ดีบี ได้ขยายโครงการ “ทูเก็ตเทอร์อเฮด” (#TogetherAhead) จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือผู้หางานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นอีกช่องทางให้ผู้ประกอบการได้คนทำงานที่ตรงใจ รวมถึงผู้หางานได้พบงานที่ดีมีคุณภาพจากองค์กรชั้นนำที่น่าเชื่อถือ
- อ่านเพิ่มเติม 6 ขั้นตอนการวางแผนรับมือสถานการณ์หลัง “โควิด-19”
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine