อุตสาหกรรมโฆษณา ส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังสินค้าเมินโควิด เร่งอัดแคมเปญรับไฮซีซั่นกว่า 1,300 แคมเปญเดือนมีนาคม อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องดื่ม อาหารสุขภาพมาแรง นักการตลาดชี้ 3 สื่อหลักรับอานิสงส์ ทีวี ออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน คาดปีนี้เม็ดเงินสะพัด 79,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8
- 5 อุตสาหกรรมใช้เงิน: อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม สื่อสาร-โทรคมนาคม และอีมาร์เก็ตเพลส - 3 สื่อหลักที่นักการตลาดจะใช้เงิน ทีวี สื่อออนไลน์ และ สื่อนอกบ้าน - MI คาดการณ์ว่าวิกฤตโควิด-19 ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI) กล่าวว่า เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโฆษณาในเดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นไป จากการที่เจ้าของสินค้า นักการตลาดทยอยออกแคมเปญโฆษณามากถึง 1,300 แคมเปญในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม เพื่อเตรียมเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นในเดือนเมษายน แสดงให้เห็นว่าตลาดได้ผ่านจุดต่ำสุดของความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 แล้ว แม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีข่าวการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ที่ย่านบางแคก็ตาม สำหรับตัวเลขการใช้งบโฆษณาเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 5,703 ล้านบาท ลดลดร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ซึ่งการระบาดยังไม่รุนแรง แต่ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ปีนี้ เกิดการระบาดใหม่ตั้งแต่ต้นปี แต่ตัวเลขของอุตสาหกรรมโฆษณาลดลงน้อยกว่าที่คาด ทั้งนี้ในเดือนมีนาคมมีแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดมากขึ้นถึง 32 แบรนด์ รวม 1,300 แคมเปญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “MI คาดการณ์ว่าวิกฤตโควิด-19 ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงของการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน แม้อาจจะใช้เวลาเป็นปีก็ตาม แต่เริ่มเห็นสัญญาต่างๆ ที่ดีขึ้น จึงคาดการณ์ว่าการใช้เม็ดเงินโฆษณาในปีนี้ จะเติบโตร้อยละ 5-10 เป็นอย่างน้อย โดย MI มองว่าจะเติบโตร้อยละ 8 หรือมีมูลค่า 79,600 ล้านบาท” ภวัตกล่าว 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอัดงบหนัก ภวัต กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่คาดว่าจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมโฆษณาในปีนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม สื่อสาร-โทรคมนาคม และอีมาร์เก็ตเพลส เช่น Shopee Lazada ปัจจัยที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมจะมีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงมาก เกิดจากสถานการณ์การแข่งขันในตลาด อุตสาหกรรมรถยนต์จะแข่งขันในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นหลัก จากการเข้ามาของผู้เล่นอย่างเกรทวอลล์ ทำให้เจ้าตลาดอย่างค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นต้องออกแคมเปญมาแข่งขัน คาดว่าจะมีการใช้เม็ดเงิน 6,000 ล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีก่อน ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม สินค้าสุขภาพและความงาม ถือว่าอยู่ในกระแสความสนใจของผู้บริโภค และเป็นตลาดที่กำลังเติบโต เช่น เครื่องดื่มวิตามินต่างๆ อาหารเสริม อาหารสุขภาพ รวมถึงกระแสผลิตภัณฑ์กัญชง กัญาชา เชื่อว่าจะทำให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป สำหรับอีมาร์เก็ตเพลส และธุรกิจสื่อสาร โทรคมนาคม ถือว่าปีนี้จะมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์โควิด ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้บริโภค การจัดแคมเปญที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน อาทิ 3/3 11/11 12/12 มีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย รวมถึงระบบ 5จีจะเข้ามาตอบรับพฤติกรรมนิว นอร์มอลของผู้คนอย่างเต็มที่ในปีนี้ คาดว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีการใช้งบโฆษณาราว 4,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 3 สื่อหลักที่ยังเติบโต ภวัต กล่าวว่า สำหรับการใช้งบโฆษณาของนักการตลาดยังคงให้ความสำคัญกับ 3 สื่อหลัก ได้แก่ ทีวี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเม็ดเงินรวม ตามด้วยสื่อออนไลน์ ที่จะมีสัดส่วน 1 ใน 3 และสื่อนอกบ้าน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ในปีนี้ ที่คาดว่าจะมีการใช้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณา 79,600 ล้านบาท สื่อทีวี คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 4 หมื่นล้านบาท สื่อออนไลน์ 2.1 หมื่นล้านบาท และสื่อนอกบ้านอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สื่อทีวียังถือเป็นสื่อหลัก โดยส่วนที่เติบโตมาจากทีวีดิจิทัลช่องใหม่ๆ เช่น ช่องโมโน ช่องวัน และเวิร์คพ้อยท์ ขณะที่ช่องที่เข้าถึงกลุ่มคนทั่วประเทศมากที่สุดยังเป็นช่อง 7 และช่อง 3 ที่ยังครองตลาดกลุ่มคนเมือง ซึ่งการกลับมาของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา จะทำให้การแข่งขันในรายการข่าวมีความคึกคักมากขึ้น และส่งผลดีต่อช่อง 3 อย่างไรก็ตาม การใช้เม็ดเงินในสื่อทีวีส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ละครเป็นหลัก สำหรับสื่อที่คาดว่าจะมีสัดส่วนน้อยลงเรื่อยๆ คือสื่อสิ่งพิมพ์ ขณะที่สื่อวิทยุ และโรงภาพยนตร์ จะกลายเป็นสื่อเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยสื่อโรงภาพยนตร์ยังคงได้รับผลกระทบจากวิถีนิว นอร์มอลที่เกิดขึ้น ทำให้คนเริ่มเคยชินกับการดูภาพยนตร์ที่บ้าน รวมถึงการขยายตัวของผู้ให้บริการอย่าง Netflix แต่หากมีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่จริงๆ เชื่อว่าคนจะยังไปดูในโรงภาพยนตร์ “อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะใช้เวลาถึงปี 2566 ที่จะกลับมามีมูลค่า 90,000 ล้านบาทเหมือนปี 2562 เพราะแม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลง แต่บางอุตสาหกรรมยังไม่สามารถกลับมาได้ เช่น ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ทำให้ยังมีปัญหาว่างงาน และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งต้องดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป” ภวัตกล่าว อ่านเพิ่มเติม: Facebook เปิดตัว “Instagram Reels” ในประเทศไทยไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine