ลอรีอัล ประเทศไทย เผยตลาดความงามปี 62 โต 6.7% สู่ 2.18 แสนล้านบาท ส่วนปีนี้แสนท้าทาย เหตุวิถีชีวิตใหม่ทำคนใส่หน้ากากตลอดเวลา-แต่งหน้าน้อยลง เร่งปรับกลยุทธ์รับมือ
อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยข้อมูลตัวเลขอุตสาหกรรมความงามของประเทศไทยในปี 2562 โดยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.18 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.7%
โดยสินค้าในกลุ่มสกินแคร์ยังครองอันดับ 1 ที่สัดส่วน 42% อันดับ 2 คือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม 15% ขณะที่เครื่องสำอางครองสัดส่วนอยู่ 12%
หากเจาะลึกลงไปในกลุ่มสกินแคร์ที่มีสัดส่วน 42% นั้นคิดเป็นมูลค่า 9.19 หมื่นล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าครองสัดส่วนมากที่สุดคือ 81% ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย 12%
ส่วนสินค้ากลุ่มเมคอัพมีมูลค่าราว 2.68 หมื่นล้านบาท โดยสินค้าเกี่ยวกับหน้ามีสัดส่วน 57% ตามมาด้วยสินค้าเกี่ยวกับปาก 25% และดวงตา 17%
ขณะที่สินค้ากลุ่มเส้นผมที่มีมูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท 82% มาจากผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 13% มาจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสีผม และอีก 4% มาจากผลิตภัณฑ์จัดทรง
“และเป็นที่น่ายินดีที่ลอรีอัล ประเทศไทย ยังสามารถครองอันดับ 1 ในผลิตภัณฑ์กลุ่มสกินแคร์ดูแลผิวหน้า ที่เราครองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2014 นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเรายังสามารถครองอันดับ 1 ในสินค้ากลุ่มเมคอัพและผลิตภัณฑ์ทำสีผมในร้านซาลอนได้อีกด้วย”
อินเนส ระบุว่า สำหรับในปีนี้ที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กระทบการดำเนินของแทบจะทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ลอรีอัล ประเทศไทย ยังทำงานภายใต้แนวคิดที่ว่าล็อกดาวน์ไม่ได้ทำให้เราช้าลง ทั้งยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงความสัมพันธ์กับลูกค้าและคู่ค้าด้วย
4 กลยุทธ์รับมือวิกฤตไวรัส
โดยลอรีอัล ประเทศไทย มีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเปิดตัวบริการ e-Beauty Advisor หรือการปรับ BA หน้าร้านให้มาเป็น e-BA แนะนำสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้สามารถหารายได้ในช่วงที่ต้องทำงานที่บ้านได้
“e-BA เป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน BA ของเราก็ไม่มีทักษะนี้มาก่อนเช่นกัน สิ่งที่เราเร่งมากที่สุดคือการจัดอบรมเป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้พวกเขามีทักษะที่สามารถดูแลลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
การปรับตัวส่วนที่ 2 คือ การมุ่งโฟกัสให้บริการ e-Service & Experience ด้วยเทคโนโลยี modiface ที่ให้ลูกค้าสามารถทดลองผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องสัมผัสสินค้า โดยลอรีอัลให้บริการนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อเกิดโควิด-19 ก็ได้ผลักดันให้แบรนด์ในเครือให้บริการ modiface ได้มากขึ้น
โดยปัจจุบันมีแบรนด์ในเครือ 11 แบรนด์สามารถให้บริการได้แล้ว จากแบรนด์ทั้งหมดในเครือลอรีอัลที่ดำเนินการในไทย 22 แบรนด์
สำหรับกลยุทธ์การปรับตัวที่ 3 ของลอรีอัล คือ การผลักดันการขายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซมากขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีแบรนด์ในเครือจำหน่ายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซแล้ว 17 แบรนด์บนแพลตฟอร์มทั้งหมด 17 แพลตฟอร์ม และจากการตอบรับที่ดีและการปรับตัวของผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายในช่องทางนี้เดือนเมษายน-พฤษภาคมเติบโตขึ้นในหลักเลข 3 หลัก (3 digits)
การเติบโตดังกล่าวส่งผลให้ลอรีอัล ประเทศไทย เตรียมส่งแบรนด์ Kerastase วางขายในแพลตฟอร์มลาซาด้า ซึ่งจะช่วยดันทราฟฟิกกลับไปที่ร้านซาลอนได้อีกด้วย
ขณะที่กลยุทธ์การปรับตัวที่ 4 ของลอรีอัล ประเทศไทย คือ e-Learning หรือการส่งเสริมการเรียนรู้และปลูกฝังแรวความคิดใหม่ๆ ให้กับพนักงานผ่านวิดีโอ โดยพบว่ามมีจำนวนชั่วโมงของวิดีโอที่เผยแพร่ในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 11 เท่า มีพนักงานสนใจเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมี Live Session ในหัวข้อที่เป็นประโยชน์กับพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 17 เซสชั่น
ครึ่งปีหลังคือก้าวที่ท้าทายกว่าเดิม
อินเนส กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดวิถีปกติใหม่หรือ new normal มากมาย ซึ่งรวมถึงการที่ผู้คนต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาขณะออกจากบ้าน ทำให้ผู้บริโภคอาจลดความสำคัญของการแต่งหน้าลง โดยเฉพาะลิปสติกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงนับเป็นความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมความงามต่อจากนี้เลยก็ว่าได้
ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง โดยอินเนสบอกว่าเธอยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจนนักว่าระดับการบริโภคจะกลับมาเท่าเดิมหรือไม่ จึงประมาณการว่าตลาดรวมปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน
“อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีโอกาสในผลิตภัณฑ์กลุ่มสกินแคร์อยู่ เนื่องจากผู้คนยังคงต้องดูแลผิวพรรณ นอกจากนี้ก็ยังมีโอกาสในสินค้าประเภท foundation รวมถึงสินค้าเกี่ยวกับดวงตาและการทำสีผมที่ยังมีแนวโน้มไปได้อยู่”
สำหรับลอรีอัล ประเทศไทย อินเนสชี้ว่าในครึ่งปีหลังนี้คงมุ่งโฟกัสไปที่กลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ เนื่องจากผู้คนอยู่ที่บ้านมาสักพัก เมื่อกลับไปข้างนอกอาจส่งผลเสียกับผิว ดังนั้นกลุ่มสกินแคร์จึงเป็นส่วนที่ลูกค้าจะยังใช้ต่อไป นอกจากนี้ก็จะโฟกัสในผลิตภัณฑ์กลุ่มเมคอัพ เพราะเมื่อคนเริ่มออกจากบ้านก็ต้องแต่งหน้ามากขึ้น
“ขณะที่บิวตี้ เทคโนโลยี ก็ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่เราผลักดันมาตลอด ดังนั้น หลังจากนี้เราก็อาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมารับกับโจทย์ที่ท้าทายกว่าเดิม โดยให้ความสำคัญกับการขายทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ให้เติบโตไปพร้อมกัน เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
มุ่งมั่นเติบโตพร้อมช่วยเหลือสังคม
อินเนส กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมพร้อมความมุ่งมั่นกับพันธสัญญาด้านความยั่งยืนและการช่วยเหลือสังคม ลอรีอัล ประเทศไทย จึงดำเนินโครงการ L’Oréal Thailand COVID-19 Solidarity ขึ้น เพื่อปันน้ำใจช่วยเหลือในหลากหลายภาคส่วน ทั้งเพื่อให้การสนับสนุนและแสดงความขอบคุณในการอุทิศตนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในสถานการณ์ที่ผ่านมา
โครงการ L’Oréal Thailand COVID-19 Solidarity มีเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือหลายภาคส่วนในประเทศไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น มอบชุดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและดูแลเส้นผมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าจำนวน 130,000 คน ในโรงพยาบาล 28 แห่งทั่วประเทศ รวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมอบทุนวิจัยจำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่นักวิจัยสตรีที่ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ หรือ สาขาเทคโนโลยี จำนวน 5 ทุน ทุนละ 200,000 บาท
พร้อมเปิดตัวโครงการสนับสนุนเคียงข้างร้านเสริมสวย L’Oréal Thailand Salon Solidarity เพื่อช่วยเหลือร้านตัดผม-เสริมสวย ทั้งร้านคู่ค้าและร้านเสริมสวยอื่นทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามเปิดกิจการ ด้วยการแนะแนวทางช่วยเหลือและให้ความรู้ด้านต่างๆ
รวมถึงมอบผลิตภัณฑ์ในเครือของลอรีอัล ประเทศไทย ให้แก่บุคคลที่ขาดโอกาสทางสังคมกว่า 100,000 คน ในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดและดูแลผิวและเส้นผมเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน
“เป้าหมายในปีนี้ของเรามีหลักๆ 3 เรื่อง คือ มุ่งเป็นอันดับ 1 ในด้านความงาม นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา และเมื่อต้องการจะเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจ ก็ต้องช่วยเหลือสังคมไทยเป็นอันดับ 1 ด้วยเช่นกัน” อินเนส กล่าวทิ้งท้าย
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine