มายด์แชร์ เผยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย ได้เปิดเผยงานวิจัย 'The New Norms' How Life Will Unfold After COVID-19’ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในสังคม ที่นักการตลาดต้องนำไปปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนธุรกิจ และ บงกช ชัยเมืองมา ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ ได้สรุปและวิเคราะห์ผลของการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในบริบทหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกเป็น 7 รูปแบบดังนี้ 1.Reverse Globalization ธุรกิจจะพึ่งพาการผลิตภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจากวิกฤตครั้งนี้ทำให้ทั้งแบรนด์และผู้บริโภคตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีความสามารถในการผลิตภายในประเทศและภายในครัวเรือนมากขึ้น เห็นได้จากช่วงที่จีนปิดประเทศจนทำให้ทั่วโลกเกิดภาวะสินค้าบางประเภทขาดตลาด เนื่องมาจากฐานการผลิตส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม คาดว่าแบรนด์ข้ามชาติจะยังผลิตเพื่อตลาดระดับโลก แต่จะเริ่มสร้างการผลิตภายในท้องถิ่นและกระจายหาแหล่งต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่ประเทศเดียวอีกต่อไป 2.Digital Takeover แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปิดใจต่อดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยมาตรการที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันเพื่อรณรงค์ ยับยั้งและป้องกันการแพร่เชื้อภายในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้การบริการต่างๆ ผ่านรูปแบบดิจิทัลอย่างจริงจัง ทั้งการซื้อของออนไลน์ การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ การทำธุรกรรมออนไลน์ หรือการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงที่เกิดขึ้นในบางธุรกิจ เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในระยะยาวมายด์แชร์คาดว่าดิจิทัลจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานการใช้ชีวิตของผู้บริโภค 3.Emergence of Big Data จากวิกฤตครั้งนี้ ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างใช้เทคโนโลยีเพื่อประมวลข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการจัดการเรื่องการติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการระบาด และการพยายามรวมถึงการเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นหากแบรนด์สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถขยายฐานผู้บริโภคได้แม้ในช่วงสถานการณ์วิกฤต 4.Elevated Health and Wellness ในช่วงระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคไทยค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและเตรียมตัวเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันไม่ให้ตนติดโรค เรื่องสุขอนามัยได้กลายมาเป็นกิจวัตรสำคัญของผู้บริโภคไปโดยปริยาย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดบรรทัดฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องของสุขลักษณะอีกด้วย และในอนาคตคาดการณ์ว่าระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศจะพัฒนาทั้งในเรื่องของคุณภาพและความง่ายต่อการเข้าถึง 5.Physical Distancing Continues สถานการณ์ปัจจุบันได้ทำให้ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการอยู่บ้าน หากิจกรรมสร้างความสนุกภายในบ้านของตนเอง การมีพื้นที่ส่วนตัว การรับบริการและซื้อสินค้าต่างๆ แบบส่งถึงบ้านในช่วงที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม สินค้าและบริการของแบรนด์ใดที่สามารถสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยสำหรับการบริโภคแบบรายบุคคลได้ จะกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจและตัดสินใจเลือกซื้ออย่างต่อเนื่อง “เทรนด์เรื่อง Physical Distancing Continues จะทำให้เกิดการปรับตัวใหม่ของธุรกิจอย่างอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องมากำหนดนิยามใหม่ของการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่ส่วนตัวสำหรับการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงธุรกิจร้านอาหารที่ยังต้องให้ความสำคัญกับ Physical Distancing” ณัฐากล่าว 6.Happiness is Redefined ความสุขของผู้บริโภคจะถูกนิยามใหม่ โดยอาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งเล็กน้อยและเรียบง่ายที่เกิดขึ้นได้ภายในบ้านและครอบครัว เช่น การมีเฟอร์นิเจอร์ใหม่ๆ เครื่องครัวทันสมัยมากขึ้น หรือสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้โดยไม่ต้องออกไปข้างนอก จึงนับเป็นความท้าทายใหม่นักการตลาดที่จะนำแบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความสุขนิยามใหม่นี้ 7.Prepare for the Next Disruption จากการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าวิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้ทั้งแบรนด์และผู้บริโภคต่างตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมหากเกิดวิกฤตครั้งใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพยายามพึ่งพาตนเองและเสริมทักษะพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิต หรือการทำงานจากบ้านที่เกิดขึ้นได้จริงๆ ในช่วงรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งในอนาคตแบรนด์จึงควรมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมหรือช่วยเหลือให้ผู้บริโภคสามารถพึ่งพาตนเองได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม “พฤติกรรมของผู้บริโภคในบริบทหลังวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่นักการตลาดและแบรนด์ควรรู้และทำความเข้าใจถึงความคุ้นเคยใหม่ของชีวิตของผู้บริโภคและสามารถปรับกลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจที่มีความท้าทายมากขึ้นในอนาคต” ณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้บริหารมายด์แชร์ระบุ- คลิกอ่านเพิ่มเติม: 5 อนาคตหลัง วิกฤตการณ์โควิด-19 “เศรษฐกิจ พฤติกรรม และโครงสร้างสังคม” ที่อาจเปลี่ยนแปลง
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine