5 อนาคตหลัง วิกฤตการณ์โควิด-19 "เศรษฐกิจ พฤติกรรม และโครงสร้างสังคม" ที่อาจเปลี่ยนแปลง - Forbes Thailand

5 อนาคตหลัง วิกฤตการณ์โควิด-19 "เศรษฐกิจ พฤติกรรม และโครงสร้างสังคม" ที่อาจเปลี่ยนแปลง

FORBES THAILAND / ADMIN
01 May 2020 | 01:09 PM
READ 5074

หลายคนคงเคยผ่านภาวะวิกฤตระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 1997 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 วิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส เมอร์ส ไข้หวัดหมู และอีโบล่า รวมถึงวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติอย่างสึนามิ ซึ่งล้วนเกิดในขอบเขตที่จำกัดทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงผู้รับผลกระทบ

แต่ในปัจจุบันที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 วิกฤตการณ์นี้ได้สร้างผลกระทบวงกว้างและรุนแรงเป็นอย่างมาก แม้ในเชิงตัวเลขของยอดผู้เสียชีวิตอาจดูไม่รุนแรงหากเทียบกับเมื่อครั้งการเกิดไข้หวัดหมู หรือสึนามิ แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วทุกมุมโลก

ทั้งนี้ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม หรือ IFI ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของภาวะวิกฤตดังกล่าวที่จะเป็นตัวแปรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยมีสิ่งที่น่าจับตามอง ได้แก่

-รูปแบบภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มีประเทศจีนเป็นศูนย์กลางจะเด่นชัดมากขึ้น วิกฤตการณ์ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น จีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบ ภาคการผลิตของจีนที่หยุดชะงักส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลกและทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงผู้บริโภค แต่จีนสามารถเข้าสู่ระยะฟื้นฟูได้รวดเร็วด้วยมาตรการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ

ประกอบกับจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เพียงพอที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจจากภายนอก และในขณะที่จีนกำลังจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลายประเทศกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาด จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจและเศรษฐกิจของจีนที่จะฟื้นกลับมาด้วยอัตราเร่งในขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจอื่นอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังบอบช้ำ

-สังคมที่เริ่มคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Familiarity) ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาการเข้าถึงและการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลแพร่หลายเฉพาะในบางกลุ่มวัย แต่วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนต้องดำรงชีวิตแบบเว้นระยะจากสังคม จึงเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้นแม้จะต้องมีการปรับตัวในการใช้งาน เช่น การเติบโตของการใช้งานระบบประชุมออนไลน์ การใช้เงินดิจิทัล การดูหนังออนไลน์

สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้บริโภคมีความคุ้นชินและเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดการณ์

-ทิศทางอุตสาหกรรมกับการพึ่งพาตัวเอง ในหลายประเทศสัดส่วนการพึ่งพิงอุตสาหกรรมบริการเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สร้างรายได้และการจ้างงาน

วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศปิดพรมแดน/ปิดประเทศ ผู้คนเริ่มใช้ชีวิตแบบเว้นระยะจากสังคม เกิดการดำรงชีวิตแบบไม่พึ่งพาระบบ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเดินทาง ท่องเที่ยว ค้าส่งและค้าปลีก บันเทิง ร้านอาหารและร้านค้า

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยจะเป็นกลุ่มบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและบริการที่มีมูลค่าสูง รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของความสามารถในการพึ่งพาตัวเองที่เชื่อมโยงกับทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ

-ธุรกิจสตาร์ทอัพจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ที่ผ่านมาธุรกิจสตาร์ทอัพล้วนเกิดขึ้นเกิดจากความต้องการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค และเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการลงทุนของนักลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่าความต้องการใหม่ๆ นักลงทุนจะชะลอการลงทุนเพราะต้องสำรองเงินไว้เพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ

แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพกลุ่มดิจิทัลและกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วน หรือตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

-การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องอาศัยภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ การดำรงชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคมรวมถึงการปิดประเทศ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน ธุรกิจบริการ ผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดเล็ก ซึ่งผลกระทบจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากกินเวลานาน แต่ผู้ที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินสำรองสูง มีธุรกิจรองรับหลากหลาย หรืออยู่ในภาคการผลิตที่พร้อมจะกลับมาได้รวดเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไป ภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดและเกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน และต้องทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรรม (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของโลกที่จะต้องมีแนวทางการรับมือในภาวะวิกฤต โดยแบ่งการรับมือออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่  การรับมือก่อนเกิดเหตุ ขั้นที่ 2 การรับมือระหว่างเกิดเหตุ และขั้นที่ 3 การฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำได้ในขั้นที่ 1 คือการใช้เทคนิคทางระบาดวิทยาและข้อมูลต่างๆ มาเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งประเทศไทยผ่านจุดนั้นมาแล้วและกำลังอยู่ในขั้นที่ 2 ที่เริ่มมีการกำหนดมาตรการมาตอบสนองและต่อสู้กับการแพร่ระบาด และทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบปกติกลับมาให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในหลายประเทศได้ออกมาตรการขั้นที่ 2 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การรักษา การกักตัว การปิดพรมแดน ควบคู่ไปกับการเตรียมการและสื่อสารมาตรการขั้นที่ 3 ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและคลายความกังวลให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการเงินการคลังเพื่อประคองเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือแรงงานและนายจ้าง

และนอกเหนือจากมาตรการดังกล่าวสำหรับการฟื้นฟูและการเยียวยาแล้ว ภาครัฐยังจำเป็นต้องกำหนดมาตรการที่มีความต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และสร้างความสามารถให้กับประเทศในการพัฒนาแบบพึ่งพาตัวเองในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมนวัตกรรมต้องที่มีพลานุภาพในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านอีกด้วย