“คิสออฟบิวตี้” ปรับทิศทางธุรกิจ หลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ กลุ่มสินค้าเพื่อความงามก็เช่นกัน ยอดขายหดหายกว่า 30% จากหลายปัจจัยทั้งเศรษฐกิจซบเซา รายได้หดหายแถมกังวลโรคระบาด แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสและแนวทางใหม่ๆ เสมอ
“คิสออฟบิวตี้” บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าความงามแบรนด์ไทย เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทต้องปรับลดเป้าการเติบโต และเลื่อนกำหนดการเปิดตัวสินค้าใหม่สู่ตลาด แต่ถึงกระนั้นบริษัทสินค้าความงามอายุ 7 ปีแห่งนี้ก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถสร้างยอดขายปีนี้เติบโตได้ถึงร้อยละ 14 ตัวเลขเป้าหมายอยู่ที่ 302 ล้านบาท ลดลงจากเป้าเติบโตที่เดิมตั้งไว้สูงถึงร้อยละ 60 พร้อมมั่นใจว่ายังสามารถขยายตลาดไปยังประเทศอาเซียนได้ กิตติพนธ์ นามพิชญ์ธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิสออฟบิวตี้ จำกัด นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม ที่มีอายุ 7 ปี (ก่อตั้งปี 2556) จัดกิจกรรมแถลงข่าวเป็นครั้งแรกของปีนี้หลังจากต้องเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จนทำให้ต้องปรับแผนธุรกิจและเลื่อนกำหนดการเปิดตัวสินค้าใหม่ที่เดิมตั้งเป้าจะเปิด 30 รายการ ปรับลดเหลือเพียง 10 รายการ และปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายเพิ่มสัดส่วนการขายออนไลน์จากร้อยละ 1 ขึ้นมาเป็นร้อยะล 10 ภายในเวลา 6 เดือน ช่วงที่ต้องล็อกดาวน์ ทำให้ช่องทางปรับสู่ออนไลน์มากขึ้น “ผมเชื่อว่าช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ยังสามารถทำตลาดได้ และปัจจุบันช่องทางตลาดออฟไลน์ผ่านหน้าร้านต่างๆ เริ่มกลับมามียอดขายใกล้เคียงปกติ” ซีอีโอหนุ่มอดีตเจ้าหน้าท่เทรดเดอร์ธุรกิจอาหารกล่าว พร้อมแสดงความมุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจสินค้าความงามที่เขาก่อตั้งขึ้นจนเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์โปรดักต์ความงามคนไทยที่ได้การยอมรับใกล้เคียงแบรนด์ต่างประเทศ โดยเขาบอกว่าเป้าหมายของ คิสออฟบิวตี้ ตั้งใจที่จะเป็น ASEAN BEAUTY แบรนด์ไทยที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มหญิงสาวที่มีแพชชั่นด้านความงาม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องสำอาง และกลุ่ม สกินแคร์ บุกเบิกโลชั่นน้ำหอมแบรนด์ไทย “เราเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรก ที่บุกเบิกตลาดโลชั่นน้ำหอม การันตีความสำเร็จด้วยรางวัล สุดยอดสินค้าขายดี Health Wellness and Beauty Awards โดยวัตสัน ประเทศไทย ในประเภท โลชั่นน้ำหอมยอดขายดีที่สุด ต่อเนื่องถึง 4 ปีซ้อน” กิตติพนธ์ กล่าวอย่างภาคภูมิในความสำเร็จฐานะเอสเอ็มอี ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเองสร้างการยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์ ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 ที่ผ่านมาทำยอดขายเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 82 เป็นมูลค่ากว่า 264.5 ล้านบาท แต่ด้วยสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยน กิตติพนธ์ จึงมองสินค้าที่จะมาตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป “ภาวะโควิด -19 ผู้คนจำเป็นต้องใส่แมสก์ ดังนั้นสาวๆ หลายคนจึงเลือกที่จะไม่แต่งหน้า หรือแต่งหน้าให้เบาบางลง” คิสออฟบิวตี้จึงเห็นโอกาสขยายแบรนด์สู่ไลน์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกลิ่นหอม เพื่อช่วยเสริมเสน่ห์ตามบุคลิกของสาวๆ พร้อมเร่งพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการในช่วงเวลานั้นๆ และกระจายออกสู่ตลาดอย่างเร็วที่สุด เช่น ผลิตภัณฑ์ยูมะ (Yuma) ได้เริ่มขึ้นในช่วงภาวะวิกฤตที่ผ่านมา ซีอีโอหนุ่มยังอธิบายต่อไปว่า บริษัทมีผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมขึ้นในทุกๆ ปีเพื่อให้ครอบคลุมชีวิตประจำวันของลูกค้ามากที่สุด ปัจจุบันมีสินค้า 9 แบรนด์ ใน 11 ประเภทสินค้า ประกอบด้วย 1.มาลิสสา คิส (Malissa Kiss) ผลิตภัณฑ์โลชั่นน้ำหอม, สเปรย์น้ำหอม, เจลว่านหางจระเข้ และเครื่องสำอาง 2.มุนอา เฮ้าส์ (MoonA House) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, 3.ทูซัมวัน (2Some1) โลชั่นน้ำหอม, 4.สกินออกซี่ (Skinoxy) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 5.แทงกีโมรี (Daeng Gi Meo Ri) ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมนำเข้าจากเกาหลี, 6.ยูมะ (Yuma) น้ำยาฆ่าเชื้อโรคผสมแอลกอฮอล์, เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ, ทิชชู่เปียกผสมแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติป้องกัน PM 2.5, 7.จูเลียต โคล (Juliet Cole) ผลิตภัณฑ์น้ำหอม, 8.คลารีน่า (Claryna) เครื่องทำความสะอาดผิวหน้า, และ 9.วิงค์เคิล (Winkel) ฟองน้ำนาโน เพื่อทำความสะอาดสิ่งของในชีวิตประจำวัน รุกตลาด FMCG จากรายการผลิตภัณฑ์จะเห็นว่ามีการเพิ่มสินค้าในกลุ่มของใช้ในชีวิตประจำวัน หรือสินค้าอุปโภค-บริโภค (FMCG) ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจบริษัทที่ต้องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติให้กับผู้บริโภค การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด (innovation) พร้อมแนวคิดการตั้งราคาที่เหมาะสม (affordability) และส่งมอบสินค้าคุณภาพดีเยี่ยม (quality) แก่ผู้บริโภคทุกคน และไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทย แต่มองไประดับอาเซียน ปัจจุบันสินค้าของคิสออฟบิวตี้ส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศ ทั้ง จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยมีแผนจะขยายครอบคลุมไปยังกลุ่ม CLMV ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเป็นร้อยละ 50 ของยอดขาย จากปัจจุบันทำได้ประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้ด้วยความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ที่ได้การยอมรับ “สินค้าแบรนด์ไทย เป็นสินค้าชั้นดีในประเทศเพื่อนบ้าน เราเชื่อว่ายังขยายตลาดได้อีกมาก” กิตติพนธ์ ย้ำและว่า แม้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทย แต่ทุกกลุ่มธุรกิจต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้มากที่สุด สำหรับ คิสออฟบิวตี้ นอกจากสินค้าด้านความงาม บริษัทยังขยายสินค้ากลุ่มใหม่ออกมารองรับความต้องการในช่วงโควิด-19 เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่ม Hygiene & Protection เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที “เราเร่งพัฒนาอี-คอมเมิร์ซให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นในช่องทางออนไลน์ และคาดว่าจะผลักดันให้ยอดขายปีนี้เติบโตกว่า 14%” กิตติพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: ณพ ณรงค์เดช เคลียร์ชัดความขัดแย้งชูศักยภาพ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้งไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine