บมจ. ทีวี ไดเร็ค เปิดตัวซีอีโอคนใหม่ “ธนะบุล มัทธุรนนท์” วางกลยุทธ์ 2563 เตรียมปรับโครงสร้างลดพนักงาน ลดต้นทุน ดันกำไรเพิ่ม
หลังขยับ “ทรงพล ชัญมาตรกิจ” ไปดำรงตำแหน่ง “กรุ๊ป ซีอีโอ” ซึ่งจะดูหลังบ้านและงานที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า B2B ของกรุ๊ป บอร์ดบริหารก็ได้มีมติแต่งตั้งลูกหม้อคนสำคัญ “ธนะบุล มัทธุรนนท์” ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD และยังรับผิดชอบบริหารบริษัท ทีวีดี ช้อปปิ้ง จำกัด โดยเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
ล่าสุด TVD ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวซีอีโอคนใหม่ป้ายแดง พร้อมแถลงถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2563
ธนะบุล ฉายภาพให้เห็นว่า ภารกิจของปี 2563 ที่บอร์ดบริหารมอบหมายคือการผลักดันการเติบโตทั้งในแง่ของรายได้และกำไรของบริษัทเติบโตขึ้นจากปีก่อน ซึ่งกลยุทธ์หลักที่เขาวางไว้คือการปรับโครงสร้างลดพนักงานส่วนโอเปอเรชั่น นอกจากนี้ ยังมุ่งเป้าเพิ่มรายได้และกำไรโดยอาศัยโมเดล Omni Channel คือเพิ่มช่องทีวี, เพิ่มพนักงานขายผ่านคอลเซ็นเตอร์ outbound (โทรหาลูกค้า), รุกช่องทางออนไลน์ และรักษายอดขายผ่านทางร้านค้าปลีก (TVD Shop) และสื่อแคตตาล็อก
“ผลประกอบการ 9 เดือนของปีที่ผ่านมา เราเติบโตทั้งในแง่ของรายได้และกำไร ซึ่งเป็นผลมาจากการหามีเดียใหม่ๆ เข้ามาเสริม ส่งให้ยอดขายและกำไรทั้งช่องทางทีวีและออนไลน์มีการเติบโต”
ธนะบุล ระบุว่า รายได้ 9 เดือนของ TVD ในปีที่ผ่านมาโตในระดับ single digit สอดรับกับภาพรวมของตลาดทีวีช็อปปิ้งที่ปีที่ผ่านมามีมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดช่องทีวีดิจิทัลที่กระทบต่อภาพรวมของตลาดทีวีช็อปปิ้ง
4 กลยุทธ์หลักของซีอีโอคนใหม่
ธนะบุล เปิดเผยถึงกลยุทธ์สำหรับการบริหารเพื่อสร้างการเติบโตให้กับ ทีวี ไดเร็ค ในปี 2563 โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ดังนี้
1.การปรับเพิ่มช่องทีวี จากปัจจุบันที่ทีวี ไดเร็ค มีการออกอากาศอยู่ใน 3 ช่อง คาดว่าจะเช่าช่องทีวีดาวเทียมอีก 3 ช่อง ซึ่งจะเป็นการออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในปีนี้จะเพิ่มจำนวนพนักงานคอลเซ็นเตอร์ Outbound (โทรหาลูกค้า) ซึ่งเพิ่มจำนวนไปแล้ว 150 คนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และยังมีแผนเพิ่มจำนวนอีก เพื่อสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าที่ TVD มีอยู่ 6 ล้านคน ต่อยอดไปสู่โอกาสในการขาย
2.การรุกช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางที่บอร์ดบริหารให้ความสำคัญ โดยปีที่ผ่านมาช่องทางนี้มีอัตราการเติบโต 30-40% ส่วนหนึ่งมาจากช่องทางออนไลน์ของ TVD ยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ทำให้การเติบโตมีอัตราสูงมาก อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้มองว่า TVD ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
3.ปรับปรุงร้านขายปลีกและแคตตาล็อก ปัจจุบัน TVD มีหน้าร้านอยู่ราว 30-40 สาขา ซึ่งปีนี้ยังไม่มีแผนขยายสาขาเพิ่ม แต่จะสร้างความแตกต่างด้วยการสร้างแอปพลิเคชั่นที่ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าที่ไม่ได้มีอยู่ที่หน้าร้านได้ เป็นการเพิ่มสินค้าโดยที่ไม่ต้องเพิ่มพื้นที่ ทั้งยังสร้างประสบการณ์ที่ให้กับลูกค้าด้วย
4.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการทำงาน โดยมุ่งลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้เกิดการลดพนักงานในส่วนโอเปอเรชั่น ทั้งนี้ ปัจจุบัน TVD มีพนักงานอยู่ 1,044 คน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น
ธนะบุล กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ TVD ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ที่ 5-7% แต่ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างเห็นได้ชัดคือกำไร เนื่องจากค่าใช้จ่ายมีเดียลดลง ส่วนช่องทางออนไลน์คาดว่าปีนี้เติบโตขึ้นจนสามารถครองสัดส่วน 15-20% ของรายได้รวม จากเดิมที่ในปีก่อนมีสัดส่วนราว 10%
“ขณะที่ภาพรวมตลาดธุรกิจทีวีช็อปปิ้ง คาดว่าในปีนี้จะมีการเติบโตราว 3-5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงปัจจัยลบอื่นๆ เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งเราเองก็ปรับตัวทั้งในแง่ของการจัดกรุ๊ปสินค้าให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้ราคาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และอีกส่วนคือการขยายเวลาผ่อนสินค้าให้มากขึ้น”
ธนะบุลทิ้งท้ายถึงเป้าหมายของเขานอกเหนือจากการสร้างการเติบโตทั้งรายได้และกำไรแล้ว เขายังอยากมีแพลตฟอร์มการขายตัวเอง และอยากให้ผู้บริโภคนึกถึงทีวี ไดเร็คเป็นอันดับแรกในการซื้อสินค้าหรือบริการ โดยในปีนี้ TVD เตรียมเปิดตัวสินค้ากลุ่มใหม่คือบริการแพคเกจโรงแรมที่พักด้วย
Forbes Facts:
- สัดส่วนรายได้ของ TVD นั้นมาจากทีวี 70%, คอลเซ็นเตอร์ 20% และออนไลน์ 10%
- ช่องทางออนไลน์แบ่งสัดส่วนรายได้ 60% มาจากเว็บไซต์ของ TVD ขณะที่อีก 40% มาจากมาร์เก็ตเพลซ เช่น ลาซาด้า
- ปัจจุบัน ทีวี ไดเร็คครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนกว่า 20%
- สินค้าขายดี 3 อันดับแรกของทีวี ไดเร็ค คือ เครื่องออกกำลังกาย, อาหารเสริม และสินค้าแฟชั่น
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine