ถอดรหัส "คิดและทำอย่างผู้นำที่แท้จริง ศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร" พิสูจน์ได้ด้วยการพามหาวิทยาลัยไทยทะยานสู่ระดับโลก สร้างคนด้วยการศึกษา ควบคู่จิตวิญญาณเพื่อสังคม - Forbes Thailand

ถอดรหัส "คิดและทำอย่างผู้นำที่แท้จริง ศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร" พิสูจน์ได้ด้วยการพามหาวิทยาลัยไทยทะยานสู่ระดับโลก สร้างคนด้วยการศึกษา ควบคู่จิตวิญญาณเพื่อสังคม

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Dec 2023 | 04:30 PM
READ 501

    ในวาระสมัยที่สองของการเข้ามาดำรงตำแหน่งคณบดีของ ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร เราได้เห็นการปรับตัวในระดับ Master Change ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ที่ได้มีผลงานชัดเจนในหลากหลายมิติ ซึ่งล้วนมาจากการขับเคลื่อนของผู้นำที่มากวิสัยทัศน์ กล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย ภายใต้การบริหารอย่างมีชั้นเชิง ด้วยมุมมองที่รอบทิศและกลยุทธ์การพัฒนาแบบองค์รวม

    ผลงานที่ออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนทำให้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn Business School (CBS) ยืนหยัดเป็นเสาหลักด้านการศึกษาธุรกิจที่อยู่เคียงคู่สังคมไทยมายาวนาน 85 ปี ท่ามกลางความท้าทายที่ทุกสถาบันอุดมศึกษาถูกตั้งคำถามถึงทิศทางการปรับตัว และบทบาทการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยในโลกที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม
    ศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร บอกว่า การบริหารการศึกษายุคใหม่ ไม่ได้มีแค่เรื่องของการเรียนการสอนที่เป็น Teaching อีกต่อไป แต่มีขอบเขตที่กว้างไปไกลกว่านั้น ทิศทางการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง สะท้อนผ่านวิสัยทัศน์ของ Chulalongkorn Business School ที่ว่า A Global Business School delivering life-changing experiences with innovative wisdom and a philanthropic spirit. นั่นคือการเป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจชั้นนำระดับโลกที่สามารถสรรค์สร้างประสบการณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้เรียน ด้วยการนำเสนอภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม(ไม่ใช่แค่องค์ความรู้) พร้อมจิตวิญญาณเพื่อสังคม

    ศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร เล่าว่า วิสัยทัศน์ คือ การพูดถึงอนาคต เป็นโจทย์ที่ผู้นำต้องกล้าฝัน วิสัยทัศน์ของเรา คือ การเป็น Global Business School ที่มีความเป็นสากลที่หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนทั่วโลก หรือมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Harvard หรือ Oxford ที่เป็นมหาวิทยาลัยของทุกคนบนโลก นั่นคือฝันที่เราอยากไปให้ถึง

    นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 คำสำคัญที่ฉายในวิสัยทัศน์ นั่นคือ คำว่า deliver life-changing experiences เราเชื่อว่าการศึกษาจะสร้างประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้ ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวจาก Knowledge Based มาเป็น Wisdom Based ผ่านการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาหรือความฉลาดเชิงนวัตกรรมที่เรียกว่า Innovative Wisdom เพราะความรู้อาจมีวันล้าสมัย แต่ความฉลาดไม่มีวันล้าสมัย

    ดังนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยให้แต่ความรู้ คุณจะถูก Disrupt แน่นอน แต่มนุษย์ยังมีความต้องการ Experience หรือประสบการณ์ แม้ต่อไปคุณอาจเป็นนักบัญชีได้ด้วยการเรียนผ่านออนไลน์ แต่ถ้าคุณเรียนที่มหาวิทยาลัย คุณจะได้เพื่อน ได้มิตรภาพ เป็นนักบัญชีที่ฉลาดและมีจริยธรรมด้วย ไม่ใช่แค่เก่งอย่างเดียว

    ความเก่งเรียนผ่านออนไลน์กันได้ แต่ความดี เรียนผ่านออนไลน์ไม่ได้ การปลูกฝังจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ หรือ Philanthropic Spirit จึงเป็นอีกเป้าหมายที่เราให้ความสำคัญ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณธรรม มีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ การช่วยเหลือสังคมจากใจ เป็นกำลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า 

ขับเคลื่อนพันธกิจ 4 I สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับ Master Change

    ภายใต้การนำของ ศ.ดร.วิเลิศ การนำพาคณะพาณิชย์ศาสตร์ฯ จุฬาฯ เพื่อก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าวที่วางไว้ ถูกชับเคลื่อนผ่านพันธกิจ 4I ที่มีกลยุทธ์การพัฒนาอย่างรอบทิศ จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระดับ Master Change ในหลายๆมิติ เพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกการศึกษาที่เปลี่ยนไป
    ศ.ดร.วิเลิศ อธิบายว่า I ตัวแรก คือ I - Internal เพราะหัวใจของธุรกิจการศึกษาต้องขับเคลื่อนด้วยคน ดังนั้น ในมหาวิทยาลัยจึงต้องสร้าง DNA ให้กับคนที่อยู่ภายในองค์กร ซึ่งมีทั้งบุคลากรเจ้าหน้าที่และคณาจารย์ เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน ผ่านกลยุทธ์การทำ Internal Branding / Internal Marketing หรือ ภาษา HR คือ Employer Branding กลยุทธ์การสร้างให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่คนที่มีคุณภาพอยากเข้ามาทำงานร่วมกับเรา
    นอกจากคณาจารย์แล้ว เจ้าหน้าที่ทุกระดับจะต้องมี Career Path ที่ชัดเจน ทุกคนสามารถมองเห็นอนาคตตัวเองว่า จะสามารถเติบโตในสายงานต่อไปได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับนี้ ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป ไม่ควรมีการใช้คำว่า ฝ่ายสนับสนุน เพราะไม่มีใครรับบทเป็นตัวรอง แต่ทุกคนล้วนมีบทบาทเป็นตัวเอกที่มีส่วนในการขับเคลื่อนความสำเร็จ จึงมีแต่ฝ่ายคณาจารย์และฝ่ายวิชาชีพหรือปฏิบัติการที่ร่วมพลังกันทำงาน

    นอกจากนี้ ยังต้องสร้างแรงจูงใจทำให้คนทำงานรู้สึกว่า ที่นี่เป็น Amazing place to work และเป็นสถานที่ที่ทำงานอย่างมีความสุข สร้างทัศนคติของคนทำงานให้มีความรู้สึกว่า คุณค่าของการทำงานด้านการศึกษา คือ การสร้างคน พัฒนาคน ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม สามารถให้ชีวิตของคนๆหนึ่งดีขึ้นได้ด้วยการศึกษา

    I ตัวที่สอง คือ I - International ก้าวเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนที่คณะฯ ได้ทำมามากมาย และก้าวมาไกลสู่การยืนหนึ่งในฐานะ The Top Business School with Triple Crown Accreditation ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาจาก 3 สถาบันโลก ทั้ง AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business)จากสหรัฐอเมริกา, EQUIS (EFMD Quality Improvement System) จากสหภาพยุโรป และ AMBA (Association of MBAs) จากสหราชอาณาจักร ซึ่งเปรียบเสมือนการได้ครอง 3 มงกุฎ จากสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจระดับโลก นอกจากนี้ ยังได้รับการจัดอันดับจาก QS Ranking ให้เป็นสถาบันด้านบริหารธุรกิจอันดับหนึ่งของประเทศไทย 18 ปีต่อเนื่องอีกด้วย

    "ในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่ามีการเคลื่อนย้ายของนักศึกษาต่างชาติมาเรียนกับเรามากขึ้น ก้าวต่อไปของเราจึงต้องขับเคลื่อนด้วยความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลให้มากขึ้น และก้าวไปกว่านั้น สู่การเป็น Global Business School และเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สามารถดึงดูดนักศึกษาทั่วโลกให้เข้ามาเรียนต่อ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเรียนต่างประเทศแต่ละปีใช้เงินเป็นหลักล้าน ถ้าสามารถดึงดูดเม็ดเงินเหล่านี้เข้ามาได้ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ในการก้าวสู่ความเป็นอินเตอร์ชั่นแนล ยังต้องมีการผลักดันผลงานการวิจัยของคณาจารย์ที่มีความทัดเทียมในระดับนานาชาติด้วย" คณบดี CBS กล่าว

    การขับเคลื่อนพันธกิจ I ตัวที่สาม คือ I - Innovation ศ.ดร.วิเลิศ ฉายภาพว่า ท่ามกลางการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI อย่าง Chat GPT มหาวิทยาลัยต้องปรับมุมมองใหม่ อย่าไปกลัวว่าเทคโนโลยี หรือ Innovation เหล่านี้ จะเข้ามา Disrupt ทำให้คนไม่เรียนในมหาวิทยาลัย แต่ต้องมองว่าเทคโนโลยีเป็นตัวที่เข้ามาซัพพอร์ตระบบการศึกษา ทำให้การเรียนในมหาวิทยาลัยน่าเรียนมากขึ้น

    ศ.ดร.วิเลิศ เล่าพร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพการเรียนการสอนในคลาสของอาจารย์ ที่ให้นิสิตส่งคำตอบที่หาได้จาก Chat GPT จากนั้นให้เอากลับไปแก้ไขใหม่ เขียนให้ออกมาให้ดีกว่า Chat GPT

    "นี่คือการเรียนการสอนที่เป็น Wisdom Based คือ สอนให้คนฉลาด ไม่ได้เป็นแค่ Knowledge Based ที่ให้แต่ความรู้ แต่ต้องสร้างให้นิสิตเป็น Creator ไม่ใช่ User สร้างสรรค์ภูมิปัญญาหรือความฉลาดเชิงนวัตกรรมที่เรียกว่า Innovative Wisdom ขณะเดียวกัน ในมิติของการขับเคลื่อนพันธกิจด้าน Innovation มหาวิทยาลัยยังควรต้องมีนวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง และสามารถแชร์สู่ภายนอกได้ด้วย"

    มิติสุดท้าย I ตัวที่สี่ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ I – Integrate ซึ่งมีความหมายในสองประเด็น
อย่างแรก คือการบูรณาการภายใน ทุกภาคส่วน ทุกคณะฯ ให้ทำงานได้ด้วยกัน รูปแบบการทำงานมหาวิทยาลัยคือ ต่างคนต่างทำ ไม่ค่อยได้มีการทำงานหรือกิจกรรมร่วมกันภายใน การสร้างหลักสูตรร่วมกัน การทำงานร่วมกันหรือมีกิจกรรมสนุกสนานร่วมกันจะเป็ฯการสร้างพลังที่แข็งแกร่งของจุฬาลงกณ์มหาวิทยาลัย

    ในการบูรณาการรูปแบบที่สองคือ การบูรณาการกับสังคมภายนอก ทั้งการเชื่อมโยงกับองค์กรต่างๆภายนอก สมาคมนิสิตเก่า เชื่อมโยงกับนิสิตและสังคม ที่สำคัญคือการหล่อหลอมบ่มเพาะจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ การช่วยเหลือสังคมจากใจให้กับบัณฑิตที่จบออกไป

    "เราได้มีการก่อตั้งบริษัท Chula Business Enterprise เพื่อให้นิสิตให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจจริง และได้ช่วยเหลือสังคมควบคู่กันไปด้วย ฝึกให้เด็กของเรามีความติดดิน Down to earth และให้มีจิตสำนึกของการช่วยเหลือชุมชน ด้วยการให้เขาได้ไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ไม่อยู่แค่ในห้องเรียน

    เราเชื่อว่าการสร้าง Philanthropic Spirit ต้องมาจากการช่วยเหลือคนด้วยใจ เราจึงพาเด็กเข้าไปทำงานในชุมชน เหมือนเป็นคนในหมู่บ้าน คุณไม่มีวันเข้าใจคนจน ถ้าคุณไม่จนเสียเอง คุณไม่มีวันเข้าใจเกษตรกร ถ้าคุณไม่ได้เข้าไปทำงานและสัมผัสปัญหาด้วยตัวเอง

    นอกจากนี้ บทบาทของมหาวิทยาลัยยังต้องนำความรู้สู่ประชาชน สังคม รวมไปถึงศิษย์เก่าด้วย ให้มี Life Long Learning สร้างพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนสามารถพัฒนาความฉลาด เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ" ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวและที่สำคัญที่สุดคือ จิตวิญญาณของความเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าและรัชกาลที่หก สืบมาถึงปัจจุบัน การหล่อหลอมให้นิสิตและทุกคนของมหาวิทยาลัยมีจิตวิญญาณในการพัฒนาการศึกษาเพื่อสังคมคือปณิธานที่สร้างพลังในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง

    "วันนี้ เรามุ่งหวังอยากให้ภารกิจต่างๆที่เราทำ ผลิดอกออกผล สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะนิสิต คณาจารย์และบุคลากรแต่ขยายออกไปสู่ในระดับประเทศและระดับโลก เราเชื่อว่า นี่คือการศึกษาที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น และยังรวมไปถึง GDP ของประเทศไทยที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย"

    และทั้งหมดนี้ คือ ทิศทางการปรับตัวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงโลกการศึกษา ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ด้วยวิสัยทัศน์ทีก้าวไกลอย่างแท้จริง ตอกย้ำคุณค่าของเกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชนไทยและสังคมโลก