Digital Ecology ก้าวต่อไปของ Pantip.com - Forbes Thailand

Digital Ecology ก้าวต่อไปของ Pantip.com

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Dec 2014 | 10:56 AM
READ 5504

หลังสร้าง Pantip.com สู่เว็บบอร์ดอันดับ 1 ของประเทศ 2 นักบุกเบิกโลกอินเทอร์เน็ตในไทยเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน เดินหน้าสร้าง Digital Ecology ทำสังคมออนไลน์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

เริ่มต้นจากนิตยสารออนไลน์ด้าน IT เมื่อ 19 ปีก่อน ปัจจุบัน Pantip.com คือ webboard อันดับหนึ่งของประเทศ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีเนื้อหาหลากหลาย มีสมาชิกกว่า 1.7 ล้านราย ผู้เข้าชมวันละกว่า 4.5 ล้านราย และกว่า 16 ล้าน page view ต่อวัน โดยมีทีมงานราว 70 ชีวิตคอยขับเคลื่อน
วันฉัตร ผดุงรัตน์ วัย 52 ปี พา Forbes Thailand ย้อนไปช่วงลาออกจากงานประจำ มาเริ่มก่อตั้งบริษัทนำเข้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากไต้หวัน คู่ค้าชาวไต้หวันนั่นเองแนะนำให้รู้จักอินเทอร์เน็ต และเปลี่ยนวิธีสื่อสารเป็นการใช้อีเมล เพื่อประหยัดค่าโทรสารและโทรศัพท์ทางไกลรายเดือนที่สูงมาก จนเขาสนุกและตื่นเต้นกับการท่องโลกอินเทอร์เน็ต
ปี 2539 วันฉัตรกระโจนเข้าไปเต็มตัว นำเงินเก็บราว 200,000 บาท จดทะเบียนเว็บไซต์ Pantip.com ด้วยแรงบันดาลใจจาก "พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า" แหล่งรวบรวมสินค้าและอุปกรณ์เทคโนโลยีชื่อดัง
5 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ Pantip
  • 2540    First Members' Meeting ระหว่างสมาชิกห้องสยามสแควร์กับห้องรัชดา
  • 2544    หนังสือเล่มแรกจากกระทู้ของล็อกอิน “แก้วไดอารี่” ผู้ติดเชื้อ HIV
  • 2546 หรือ 2547 คู่แต่งงานคู่แรกจากเว็บไซต์ Pantip
  • 2548    สมาชิกร่วมก่อตั้ง “มูลนิธิบลูพลาเน็ตเพื่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาส”2552    “นักสืบพันทิป” ร่วมวิเคราะห์ประเด็น GT200 ตรวจสอบรัฐบาล กระทั่งกระทรวงกลาโหมต้องทบทวนงบประมาณและแผนการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

ปี 2540 วันฉัตรมีคู่หูร่วมทีม อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ใช้เวลาวันหยุดพัฒนาโปรแกรมที่เป็นประโยชน์ต่อเว็บไซต์ ปัจจุบัน อภิศิลป์ วัย 35 ปี ยังคงทำงานร่วมกับวันฉัตร ดูแล Pantip.com ในตำแหน่ง Co-founder & Chief Technology Officer
อภิศิลป์มีมุมมองต่อ Digital Economy ที่รัฐบาลปลุกกระแสว่า เป็นเรื่องที่ทั้งกว้างและใหญ่ มีหลายแง่มุมที่ให้พัฒนา เช่น digital content, digital advertising รวมทั้ง e-commerce ซึ่งได้รับการพูดถึงบ่อยครั้ง หากสนับสนุนให้เกิด Digital Economy ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับเอกชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
“มีวิธีไหนที่คนไทยจะลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเอง ทำอย่างไรที่จะกระตุ้นให้ startup พัฒนาศักยภาพตัวเอง อาจเป็นสถาบันการศึกษา หรือสังคมโดยรอบที่ช่วยสร้างบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ ให้เขาเกิดแรงบันดาลใจว่าจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นสุดยอดให้โลกนี้ใช้”
วันฉัตรพยักหน้าเห็นด้วยกับอภิศิลป์ แล้วเสริมว่าในมุมของเขา Digital Economy ต้องตอบโจทย์ทุกภาคส่วน หลายครั้งที่มีผู้ให้ทุน startup เพื่อผลิตซอฟท์แวร์ แต่หลังจากนั้นไม่มีแผนธุรกิจเพื่อผลักดันไปให้สุด Digital Economy จึงควรเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกระบวนการต่างๆ เข้าด้วยกัน
“เวลานึกถึง Digital Economy ก็จะนึกถึงการดึงเข้าตัว แต่นั่นไม่ใช่คาแรคเตอร์ของเรา ผมไม่ได้ทิ้งคำนั้น แต่ผมมองว่า Digital Ecology มันคือเราและจะยั่งยืนด้วย เราเป็นพื้นที่ให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญแต่ละเรื่องได้มาแลกเปลี่ยน เมื่อมี platform มากขึ้น เขาอาจออกไปใช้พื้นที่ตรงนั้นต่อยอดสิ่งที่เขารู้ เราต่างเอื้อกันและกัน”
ความมุ่งมั่นของ 2 ขุมพลังแห่ง Pantip.com ต่อจากนี้คือ สร้างการเติบโตให้สอดคล้องกับแนวคิด knowledge sharing platform ของเว็บไซต์ ให้การค้นหาข้อมูลผ่าน Google สามารถเจอคำตอบจากกระทู้ในเว็บไซต์ Pantip ได้ 99% จากปัจจุบันที่ 1%
“เราเป็นลูกครึ่งระหว่าง Facebook ที่มีความสนุกเป็นกันเอง กับ Wikipedia ที่เป็นวิชาการ Pantip เหมือนเพื่อนคุยกัน สโลแกนของเราคือ learn, share and fun ซึ่งสะท้อนตัวเองอยู่แล้วว่าให้คนมาเรียนรู้ แบ่งปัน และสนุกไปกับมัน” อภิศิลป์ปิดท้าย
อ่าน "สร้าง Digital Ecology ก้าวต่อไปของ Pantip.com" ฉบับเต็มได้ใน Forbes Thailand ฉบับ JANUARY 2015