Samsung รับศึกหนักทั้งบน-ล่าง กำไรทรุดในรอบ 3 ปี - Forbes Thailand

Samsung รับศึกหนักทั้งบน-ล่าง กำไรทรุดในรอบ 3 ปี

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Jan 2015 | 08:26 PM
READ 4682
30 มกราคม 2558 - หลังผ่านพ้นไตรมาสสุดท้ายปี 2014 ส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกของ Samsung ร่วงลงถึง 25% นับว่าเป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบ 3 ปี  ขณะที่หนทางสร้างกำไรในอนาคตก็ไม่สดใสนัก หากเทียบกับผลกำไรของ Apple ที่สร้างกำไรรายไตรมาส สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของธุรกิจ
กำไรในไตรมาส 4 ของ Samsung  ยังลดลง 27% เหลือ 4.9 พันล้านเหรียญ ทั้งที่ยอดจำหน่ายสมาร์ตโฟนช่วงเดียวกัน อยู่ระหว่าง 72.2 ถึง 75.1 ล้านเครื่อง แทบจะไม่ต่างไปจาก Apple ในไตรมาสเดียวกัน ที่ 74.8 ล้านเครื่องเลย  ทว่า Samsung ไม่สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้น (gross margin) ได้ 39% อย่างที่ Apple ทำได้
ขณะที่ผลกำไรจากการดำเนินงานลดลง 10% จากปีก่อน ขณะที่กำไรก่อนหักภาษีก็ร่วงลง 18% จากของปีก่อนที่ 21%  ส่วนกำไรจากการดำเนินงานเฉพาะแผนกโทรศัพท์มือถือ ลดลงจาก 5 พันล้านเหรียญ เหลือ1.8 พันล้านเหรียญในไตรมาสที่สี่
ทาง Samsung แจ้งอีกว่า จำต้องหั่นค่าใช้จ่ายในงานบ้างด้านเช่นงบการตลาด เพื่อชดเชยกับยอดขายที่ลดลง ซึ่งทางบริษัทคาดการณ์ว่าการแข่งขันในตลาดจะยังเข้มข้นต่อไปในปี 2015
ในวันนี้ Apple ท้าทาย Samsung ในเกมของตัวเอง หลังยุติข้อพิพาทที่ว่า Samsung ลอกเลียนงานออกแบบอุปกรณ์พกพาของตน  แต่ Apple กลับหันมาย้อนรอยจับคุณสมบัติบางอย่าง จนทำให้รุกตลาดในจีนได้สำเร็จ นั่นคือ โทรศัพท์หน้าจอใหญ่ กล่าวกันว่าทาง Samsung คือผู้จุดประกายสไตล์การออกแบบแนวนี้ให้แพร่หลาย ด้วยแนวคิด phablet ในชื่อ Galaxy Note และสมาร์ตโฟนหน้าจอยักษ์ตระกูล Galaxy ทั้งหลาย
Apple กลับมาเดินทางนี้ด้วย iPhone 6 และ iPhone 6 Plus จนลูกค้าในจีนเบือนหน้าจาก Samsung หันมามอง iPhone ด้วยความนิยมใน iPhone จอยักษ์ ทำให้เบอร์สี่ในตลาดสมา 7 ไตรมาสติดต่อกัน ก้าวขึ้นเป็นเจ้าตลาดสมาร์ตโฟนของจีน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2014 ตามข้อมูลการวิจัยตลาดของ Canalys
อาการถดถอยเช่นนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า Samsung อาจจะเดินตามรอยเท้าอันเจ็บปวดของ Nokia ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว บริษัทจากเกาหลีกำลังถูกขนาบจากคู่แข่งรายสำคัญ ทั้งตลาดไฮเอนด์ (Apple) และโลว์เอนด์ (Xiaomi)  เริ่มประจักษ์ชัดได้ในไตรมาส 2 ของปี 2014  Xiaomi ที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้แซงหน้า Samsung ขึ้นเป็นอันดับสองในตลาดสมาร์ตโฟนของจีนสำเร็จ
ความหวังของ Samsung ยามนี้อาจอยู่ที่ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเกิดมาก่อนจะเกิดตลาดสมาร์ตโฟน และยังเป็นหน่วยธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับ Samsung ด้วยยอดขายเติบโต 6% ขณะที่ยอดขายหน่วยความจำพุ่งถึง 24% ในไตรมาส 4 (ขณะที่หน่วยงานอื่นทำยอดขายตกลง)
“Samsung ได้รายงานอย่างมีเหตุผล” Richard Windsor แห่ง Edison Investment Research ระบุ
ทว่า Samsung ต้องถูกกดดันให้รักษากำไรพื้นฐานด้วยยอดขายโทรศัพท์ ที่กำไรร่วงลงอย่างรุนแรง “เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องตัดราคาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลอดเอาไว้ให้ได้” Windsor กล่าว
“ผู้บริหารระดับสูงยังคงคาดหวังไว้สูง ในระยะยาว พวกเขายังเชื่อว่าจะกลับมาในธุรกิจนี้อีกได้” แต่เขาอธิบายว่าไม่น่าจะใช่เรื่องง่ายนัก เพราะโทรศัพท์มือถือกำลังค่อยๆ กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) หมายความว่าหนทางการต่อสู้ของ Samsung คงเหลือไม่มากนัก นั่นคือ ฮาร์ดแวร์ ดีไซน์ และราคา
“คู่แข่งขันทุกรายเหมือนลงเรือลำเดียวกัน โดยทั้งหมดมีโอกาสที่จะสร้างมาร์จิ้นได้สัก 2-4%  เราประเมินว่าเก่งดีที่สุดก็ 10-11%” Windsor กล่าว 
เรียบเรียงจาก Samsung Struggles To Return To Its Glory Days As Smartphone King โดย Parmy Olson