Private Fund... ออกแบบลงทุนด้วยตัวเอง - Forbes Thailand

Private Fund... ออกแบบลงทุนด้วยตัวเอง

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศต่ำ ได้กระตุ้นให้นักลงทุนที่มีเงินในระดับที่มากพอ ต้องการบริการที่เฉพาะเจาะจงโดยการกระจายความเสี่ยงมาใช้บริการกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มากขึ้น เพื่อที่จะลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ทั้งตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุน ที่สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ของตนเอง คล่องตัวกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป สามารถปรับนโยบายและกลยุทธ์ในการลงทุนได้ตลอดเวลามากขึ้น ในขณะที่นักลงทุนทั่วไปมีทางเลือกเพียงซื้อกองทุนรวมที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ออกมาให้เลือกซื้อ

กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เหมาะสำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์และกำลังความรู้ด้านการลงทุนแต่ไม่มีเวลาติดตามการลงทุน โดยมอบหมายนโยบายให้กองทุนส่วนบุคคลตัดสินใจลงทุนแทน ต่างจาก Private Banking หรือ Private Wealth ที่รับบทบาทเป็นที่ปรึกษาการลงทุนแนะนำผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าตัดสินใจเลือก

นับตั้งแต่กระทรวงการคลังได้ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนส่วนบุคคลปี 2540 ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลก็มีการเติบโตขึ้นตามลำดับจาก 180 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4.03 หมื่นล้านบาทในปี 2541และ 9.89 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2561 นับตั้งแต่ปี 2541 จนถึงสิ้นปี 2561 การเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนบุคคลเติบโตค่าเฉลี่ยในระดับเลข 2 หลักพร้อมกับจำนวนรายที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การเติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของมูลค่าเงินฝากที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ในสิ้นปี 2561 มูลค่าเงินฝากที่เกินกว่า 10 ล้านบาท เท่ากับ 7.16 ล้านล้านบาท หรือ 133,069 ราย มูลค่าสินทรัพย์สุทธิกองทุนส่วนบุคคล 9.89 แสนล้านบาท หรือ 6,505 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าเงินฝากที่เกินกว่า 10 ล้านบาท จำนวน 6,837,217 6.84 ล้านล้านบาท หรือ126,842 ราย มูลค่าสินทรัพย์สุทธิกองทุนส่วนบุคคล 8.41 แสนล้านบาท หรือ4,707 ราย

สิ้นเดือนมกราคม 2561 บลจ.ที่ให้บริการธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลมีทั้งหมด 23 ราย โดยส่วนแบ่งการตลาดมูลค่าสินทรัพย์สุทธิกองทุนส่วนบุคคลสูงสุด 5 อันดับแรกยังคงเป็น บลจ. ในเครือธนาคารพาณิชย์

 

บลจ.ไทยพาณิชย์ เจ้าตลาดกองทุนส่วนบุคคล

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ ถือเป็นเจ้าตลาดธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา หรือภายใต้การบริหารของประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนก่อนต่อเนื่องมาถึงผู้นำคนปัจจุบัน โดยสิ้นเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) 4.24 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 42.7%

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลมีอัตราการเติบโตสูงสุดเทียบธุรกิจกองทุนอื่นของบริษัท โดยสิ้นเดือนมกราคม 2562 บลจ.ยังครองส่วนแบ่งการตลาด AUM กองทุนรวมอันดับหนึ่ง 20.63% หรือมูลค่า 1.50 พันล้านบาท

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

ผู้ที่จะใช้บริการกองทุนส่วนบุคคลของ บลจ. ต้องมีเงินขั้นต่ำ 10 ล้านบาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าสถาบัน อาทิ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย มูลนิธิ มหาวิทยาลัย องค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐวิสาหกิจ โดยได้รับอานิสงส์จาก 5 ปีที่ผ่านมา สถาบันและมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีความต้องการการจัดการบริหารการเงินเนื่องมาจากดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ โดยเฉพาะลูกค้ามูลนิธิ และมหาวิทยาลัยเติบโตแบบก้าวกระโดด และปีนี้คาดว่าธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลยังเติบโต 10% โดยเติบโตทั้งจากการหาลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมมูลค่าทรัพย์สินเติบโต

ทั้งนี้ ลูกค้าสถาบันส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเรื่องกรอบข้อบังคับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ลูกค้าบุคคลต้องการฝากเงินกับธนาคารต่างประเทศที่ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าในประเทศ และลงทุนกองทุนรวมไม่มีกองทุนให้เลือกซื้อจึงเข้ามาใช้บริการกองทุนส่วนบุคคลเพราะสินทรัพย์ที่เลือกซื้อไม่มีในประเทศไทย ในขณะที่กองทุนเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ

หากลูกค้าเราเป็นผู้เปิดบัญชีกองทุน มีพาร์ทเนอร์ทั่วโลกไว้รองรับ และแนวโน้มทั่วโลกองค์กรต้องการมีบัญชีสินทรัพย์ของตัวเอง กองทุนส่วนบุคคลจะคัดเลือกผลิตภัณฑ์เฉพาะเจาะจง

2-3 ปีที่ผ่านมาลูกค้าธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลลงทุนผสมผสานทั้งหุ้นและตราสารหนี้ไทย สำหรับลูกค้าที่ลงทุนซับซ้อนก็ลงทุนตราสารทุนและตราสารหนี้ต่างประเทศ จากก่อนหน้านั้นลูกค้าเหล่านี้ลงทุนแค่เงินกับตราสารหนี้ไทย

สำหรับธีมลงทุนรวมปีนี้ ให้เน้นกระแสเงินสดเพื่อรับกับความผันผวนของโลก ในตราสารหนี้ที่ได้ดอกเบี้ย 3-4% และหุ้นปันผล โดยลงทุนในตลาดหุ้นที่ราคาหุ้นยังถูกในเอเชีย กองทุนอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์โดยลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

บลจ.ภัทร ขวัญใจนักลงทุนบุคคล

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ภัทร แม้ว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดลูกค้าธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลอันดับ 7 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร 2.81 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.83% ของทั้งระบบ แต่ถ้านับจำนวนรายลูกค้าแล้วนับว่าสูงสุดถึง 807 ราย จากนักลงทุนที่ใช้บริการธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลทั้งหมด 3,790 ราย สิ้นเดือนมกราคม 2562 เรียกได้ว่าเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าที่เป็นบุคคลอย่างมาก

ยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ภัทร กล่าวว่า ลูกค้าถ้ามีสินทรัพย์ 10 ล้านบาท ถ้ามาใช้บริการธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลถ้าต้องการลงทุนต่างประเทศบริษัทจะแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวม แต่หากมีสินทรัพย์ในระดับ30 ล้านบาทขึ้นไปจะดูแลอย่างเป็นเฉพาะเจาะจง ทั้งโดยจุดเริ่มต้นธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทเริ่มจากก่อนควบรวมกิจการกับ บลจ.เกียรตินาคิน บริษัทมีทีม Private Wealth ที่ให้บริการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนลูกค้าที่มีสินทรัพย์ในระดับสูง และแนะนำให้ซื้อหุ้นและกองทุนรวม ต่อมาลูกค้าอยากใช้บริการกองทุนส่วนบุคคล เมื่อควบรวมกิจการกับ บลจ.เกียรตินาคินจึงเริ่มให้บริการกองทุนส่วนบุคคลเมื่อ 8 ปีก่อน ทำให้มีลูกค้าบุคคลมากกว่าสถาบัน

ยุทธพล ลาภละมูล
กรรมการผู้จัดการ บลจ.ภัทร

สำหรับลูกค้าใหม่สามารถเข้ามาเปิดบัญชีภัทรเวลธ์กับธนาคารเกียรตินาคินเพื่อใช้บริการธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล จะต้องมีการหารือว่ารับความเสี่ยงได้ระดับใด สไตล์การลงทุนแบบไหนถ้าเป็นการลงทุนต่างประเทศต้องสร้างพอร์ตกระจายความเสี่ยงผสมผสานทั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนต่างประเทศ (FIF) และตราสารหนี้

ทั้งนี้หากเป็นการลงทุนสินทรัพย์เดี่ยวอย่างหุ้นต้องมีพอร์ตขั้นต่ำ 30 ล้านบาท ตราสารหนี้ 100 ล้านบาท โดยให้ลูกค้าเลือกแผนตามความเสี่ยงที่รับได้ไม่ว่าจะเป็น ETF หรือกองทุนเปิดที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และ FIF ขึ้นอยู่กับว่าต้องการลงทุนต่างประเทศกี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้บริษัทจะเปิดบัญชีเงินฝากตรงบริหารจัดการกองทุน

กองทุนส่วนบุคคล เหมาะสำหรับลูกค้าที่ไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์การลงทุนที่ต้องการลงทุนแบบไม่จำกัดตามความเสี่ยงที่ตนเองรับได้โดยมอบหมายให้กองทุนเป็นผู้ดูแลและบริหารแทน ข้อดีคือหากลูกค้าต้องการซื้อตราสารในต่างประเทศกองทุนเป็นผู้ซื้อให้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการซื้อขายตราสารต่างประเทศนักลงทุนต้องคำนวณภาษีในการนำเงินเข้าออกด้วยตัวเอง

ยุทธพลแนะนำการลงทุนปีนี้ให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงด้วยความระมัดระวังกว่าการลงทุนปีก่อน โดยแนะนำหุ้นสหรัฐฯ ยุโรปและอังกฤษที่ฟื้นตัว และทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (รีท) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนในรีทไทยผสมรีทต่างประเทศที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทน 4-8% เนื่องจากดอกเบี้ยชะลอการขึ้น

 

บลจ.ทิสโก้ บริการครบวงจร

ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้เป็นธุรกิจที่แยกมาจากธุรกิจกองทุนรวมโดยลูกค้ากองทุนรวมของ บลจ.ทิสโก้ เป็นลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (High Net Worth) ที่ใช้บริการทั้งกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล ดังนั้น บลจ.ทิสโก้จึงมุ่งเน้นทำธุรกิจนี้เพื่อสนองความต้องการลูกค้าเป็นสำคัญ

ลูกค้าลงเงินมาให้เราบริหารตัดสินใจลงทุนแทนลูกค้าภายใต้สัญญาที่มีข้อกำหนด วัตถุประสงค์ จัดพอร์ตให้เหมาะสมกับลูกค้าตามความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวัง บางพอร์ตผสมผสานการลงทุนต่างประเทศสาห์รัช ชัชสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด บลจ.ทิสโก้กล่าว

ทั้งนี้ลูกค้าต้องมีวงเงินขั้นต่ำ 40 ล้านบาทขึ้นไป และส่วนใหญ่ลูกค้าของ บลจ.ทิสโก้เป็นลูกค้าสถาบันทั้งบริษัทจดทะเบียน สหกรณ์ออมทรัพย์ องค์กรไม่แสวงหากำไร มหาวิทยาลัยและมูลนิธิ

สาห์รัช ชัชสุวรรณ
ผู้อำนวยการสายการตลาด บลจ.ทิสโก้

กองทุนส่วนบุคคลเหมาะสำหรับลูกค้าที่ไม่มีเวลา เงินครอบครัวที่ไม่มีคนดูแลและตั้งกองทุนส่วนบุคคลเป็นมรดกให้ลูกหลาน ซึ่งจะมีการประเมินผลงานกองทุนทุก 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี และไม่จำเป็นต้องติดตามตลอดเวลา โดยเลือก บลจ.ที่มีประสบการณ์น่าเชื่อถือ มีทีมลงทุนที่ขนาดใหญ่พอ มีสถิติผลงานที่ดี มีการพูดคุยให้ชัดเจนถึงผลตอบแทนและความเสี่ยง รวมถึงระยะเวลาลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าสาห์รัชให้ความเห็น

สำหรับลูกค้าธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลที่ลงทุนต่างประเทศของ บลจ.ทิสโก้จะเป็นลักษณะการลงทุนผสมผสานทั้งซื้อกองทุนเปิดที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) ที่ตอบโจย์ลูกค้า มีความคล่องตัวและไม่ยุ่งยาก ทั้งนี้เพราะหากลงทุนตรงต่างประเทศโดยการแลกเงินไปลงทุนโดยตรง จะมีข้อจำกัดทั้งเรื่องความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และภาษี

สาห์รัชแนะธีมลงทุนหลักปีนี้ว่า ในสถานการณ์การลงทุนที่แม้ผลงานอาจจะไม่ดีเท่ากับปี 2560 แต่จะไม่ขาดทุนเหมือนปี 2561 ดังนั้นจึงแนะนำให้เน้นลงทุนตลาดเกิดใหม่ที่เงินลงทุนไหลกลับ และญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงจำกัดพื้นฐานมั่นคงปัจจัยลบน้อย และราคาหุ้นไม่แพง หุ้นจีนน่าสนใจมากจากนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นหุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง 8-10% การชะลอขึ้นดอกเบี้ยส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้กองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (รีท) น่าสนใจโดยเฉพาะรีทในสหรัฐฯ ที่มีรายได้จากค่าเช่าและมีสภาพคล่องสูง

ทั้งนี้น้ำหนักการลงทุนในปีนี้ควรเลือกลงทุนหุ้นต่างประเทศ 60% ไทย 40% เท่ากับปีก่อน เพราะตลาดต่างประเทศกว้างและมีทางเลือกมากกว่า

    เรื่อง เจียรนัย อุตะมะ
คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูป e-Magazine