ผู้นำ "ไพรเวทแบงกิ้ง" ในไทย - Forbes Thailand

ผู้นำ "ไพรเวทแบงกิ้ง" ในไทย

ธุรกิจ "ไพรเวทแบงกิ้ง" หรือธุรกิจที่ดูแลและให้คำปรึกษาลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูงในประเทศไทยนั้นไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของบริษัทใดมากที่สุด แต่ถ้านับจากการประกาศตัวชัดเจนอย่างต่อเนื่องมากที่สุดน่าจะเป็นธุรกิจไพรเวทแบงกิ้ง ของธนาคารกสิกรไทย ภายใต้การนำของ จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย ที่ ณ สิ้นปี 2561 ลูกค้ากว่า 11,000 ราย  AUM ทั้งหมดประมาณ 7.5 แสนล้านบาทโดยมีลูกค้าที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ 60%

ธนาคารกสิกรไทยเป็นธุรกิจไพรเวทแบงกิ้งรายแรกที่ดูแลทรัพย์สินลูกค้าอย่างครบวงจรโดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง ลอมบาร์ด โอเดียร์ ธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์โดยมีคู่แข่งสำคัญที่ส่วนแบ่งการตลาดเกือบจะเท่ากันคือธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีพันธมิตรอย่าง จูเลียส แบร์ ดูแลและให้คำปรึกษาการบริหารสินทรัพย์เพื่อนำเงินไปลงทุนต่างประเทศโดยเจาะกลุ่มเป้าหมายเดียวกันลูกค้าที่มีสินทรัพย์ตั้งแต ่50 ล้านบาทขึ้นไป ในขณะที่ไทยพาณิชย์มีลูกค้าน้อยกว่าเล็กน้อยคือ 1 หมื่นราย ใน AUM เท่ากัน 7.5แสนล้านบาท  นอกจากนั้นยังมี ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรี ธนาคารเครดิต สวิส  LGT  บริษัทหลักทรัพย์ภัทร เป็นต้น ค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาพอร์ตลูกค้าไพรเวทแบงกิ้งของธนาคารกสิกรไทยได้ผลตอบแทน 6-7% ต่อปี จนกระทั่งปี 2561 ที่ผ่านมาที่สภาวการณ์ลงทุนโดยรวมทั้งโลกติดลบเกือบทุกสินทรัพย์ ส่งผลให้พอร์ตของลูกค้าธนาคารขาดทุนเล็กน้อย แต่จำนวนลูกค้าไพรเวทแบงกิ้งของธนาคารยังเติบโตขึ้น  8% และ AUM เติบโต 0.2% เมื่อเทียบกับปี 2560 จิรวัฒน์กล่าวว่า มุมมองระยะยาวต่อสภาวการณ์ลงทุนยังดี แม้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ในหนึ่งวงจรของรอบเศรษฐกิจมีปีที่ดีมากกว่าปีที่แย่ ดังนั้นปีนี้ ธีมลงทุนจึงแนะนำลูกค้าลงทุนหุ้นน้อยกว่า 50% ของพอร์ตและตราสารหนี้มากกว่า 50% ส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้ลงทุนแบบผสมผสานในกองทุน เปิดเคพร็อพเพอร์ตี้ เซคเตอร์ (K-PROP) ที่ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5-6% ต่อปี  โดยกองทุนนี้ระดมเงินไปลงทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (รีท) ในไทยและสิงคโปร์ สำหรับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์โดยตรง การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ลอนดอน อังกฤษยังน่าสนใจเพราะสภาพคล่องสูงและยังมีโอกาสมีกำไรจากการที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต)  ปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอนชะลอตัวและค่าเงินปอนด์อ่อน จากปี 2559  อัตราแลกเปลี่ยน 55 บาทต่อปอนด์ ปีนี้ประมาณ 42 บาท แม้ราคาบ้านไม่ลดก็ยังมีโอกาสกำไร ทั้งนี้คาดว่าหากมีเบร็กซิต ปอนด์จะแข็งค่า ทำให้เงินลงทุนของลูกค้าแข็งค่าตามไปด้วย นอกดังนั้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ลูกหลานเรียนยังได้อัตราผลตอบแทน 2.5-3% ทั้งนี้ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) ในเครือของบริษัท ไนท์แฟรงค์ อังกฤษคาดว่าเบร็กซิตจะจบสวยโดยค่าเฉลี่ยอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษมีการเติบโตปีละ 5-6% ปีนี้คาดว่าจะโต 10% ราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มสองเท่าทุก10ปี ในช่วงดังกล่าวยังมีอัตราผลตอบแทนต่อค่าเช่า 7.2% ต่อปี “ถ้าจะซื้ออพาร์ตเมนท์(แฟลต)หรือคอนโดมิเนียม พื้นที่ยอดนิยม น่าลงทุนควรอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล ถ้าไม่ขายก็ได้ค่าเช่าดี สัปดาห์ละ450-600 ปอนด์” จิรวัฒน์กล่าว ลูกค้าที่ธนาคารดูแลนิยมซื้ออพาร์ตเมนท์ในลอนดอน นิวยอร์ค และโตเกียวที่มีสภาพคล่องสูงและลงทุนในกองรีทไทยที่ให้อัตราผลตอบแทนปีละ5-6% เทียบอพาร์ตเมนท์ในลอนดอน ที่ให้อัตราผลตอบแทน2-3% แต่คาดหวังกำไรในอนาคตเมื่อนำเงินลงทุนกลับมา เนื่องมาจากค่าเงินปอนด์มั่นคง ดอกเบี้ย0% นี่เป็นเพียงคำแนะนำการลงทุนนอกประเทศบางส่วนจากไพรเวทแบงกิ้ง ธนาคารกสิกรไทย ผู้ให้บริการดูแลเป็นที่ปรึกษาเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนตัวและทรัพย์สินครอบครัวของลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง ที่ให้คำปรึกษาเชิงรุกมากที่สุดในบรรดาไพรเวทแบงกิ้งในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เรื่อง เจียรนัย อุตะมะ อ่านให้ครบรสกับ รายงานชุดพิเศษ Special Report OVERSEAS INVESTMENT
คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูป e-Magazine